svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมรสเท่าเทียม"กฎหมายชี้วัดฝ่ายการเมืองทำเพื่อประโยชน์ประชาชนแค่ไหน?

19 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ฉบับพิสูจน์ว่าประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนหรือจะเป็นเกมทางการเมือง ขณะที่นายกฯประกาศพร้อมสนับสนุน ส่วน "ชัยธวัช" หวังจะไม่เกิดการแบ่งแยกฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ด้าน "อุ๊งอิ๊งค์" มั่นใจผ่านสภาแน่นอน

19 ธันวาคม 2566 "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายฝ่ายต่างพยายามผลักดัน เพื่อความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพของคนในสังคม แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่ทางความคิด

โดยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง และคณะผู้จัดงาน "สานฝันสมรสเท่าเทียม: รวมพลังสู่การเปลี่ยนแปลงในสภา" เข้าพบ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดเข็มกลัดสีรุ้งและประชาสัมพันธ์งานเสวนาดังกล่าว พร้อมแสดงวิสัยทัศน์และให้ความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความขอบคุณ และให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะผลักดัน สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพสำหรับทุกคนในสังคมไทย

 

ขณะที่ "นายชัยธวัช ตุลาธน" หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่นายกฯ ลงนามในร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งจะถูกบรรจุลงวาระเร่งด่วนในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ พรรคมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว เพราะร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ได้เสนอผ่านสภาฯ เป็นร่างกฎหมายที่จ่อเข้าพิจารณาในสภาฯ อยู่แล้ว และเป็นเรื่องดีที่มีร่างของรัฐบาลบรรจุเข้ามาตามที่ได้พูดไว้ น่าจะเป็นร่างกฎหมายที่สภาฯ ร่วมกันในการผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งคงไม่ใช่ฉบับนี้ฉบับเดียว

 

"เราเองแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็หวังว่าสภาชุดนี้ จะมีการทำงานโดยยึดหลักผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน" นายชัยธวัช กล่าว

 

ส่วนจะเกิดเหตุการณ์สภาล่ม เนื่องจาก สส.ฝ่ายค้านบางส่วนไม่ร่วมลงมติหลังนับองค์ประชุมเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า บรรยากาศแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะ สส.ฝั่งรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมาก ควรมีวินัยมากกว่านี้ในการมาประชุมสภาฯ และได้ยกตัวอย่างกรณีเสนอร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า ซึ่งฝ่ายค้านได้พยายามประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาลแล้ว โดยเสนอให้นำร่างข้อบังคับเข้าศึกษาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ก่อน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันโดยเบื้องต้น แต่เมื่อใกล้เวลาลงมติ กลับมีกระแสข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลจะโหวตคว่ำเลย การทำงานร่วมกันจึงไม่เป็นไปตามที่คาด และไม่อยากจะให้เกิดบรรยากาศแบบนี้บ่อยมากนักในสภาฯ

 

 

"เราเห็นว่าการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติควรจะยึดหลักการที่ถูกต้อง และผลประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านเสนออะไรมาต้องคว่ำหมด ถ้ารัฐบาลเสนออะไรมาฝ่ายค้านก็ค้านหมด พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นตัวอย่างที่ดี และเราหวังว่าปีหน้า น่าจะเกิดบรรยากาศที่ดีขึ้น" นายชัยธวัช กล่าว

 

ส่วนแนวทางของ สส.ที่อาจจะนับถือศาสนาอื่นๆ จะลงมติในร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อย่างไรนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่าก็คงต้องพูดคุยกัน พยายามจะแยกว่าการออกกฎหมายของประชาชน ไม่ได้เป็นการบังคับให้ประชาชนต้องคิด ต้องเชื่อ ในสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาของตัวเอง แต่เป็นการรองรับสิทธิ์ โดยไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำแบบนั้น และการแต่งงานทางศาสนา และการแต่งงานตามกฎหมาย ก็สามารถแยกออกจากกันได้

ด้าน "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติส่งร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระแรก ในวันที่ 21 ธ.ค.นั้น ส่วนตัวมั่นใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะได้รับการผลักดันจนผ่านการพิจารณา ได้รับความเห็นชอบจากสภาได้สำเร็จ และย้ำว่าพรรคเพื่อไทย สนับสนุนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และถือเป็นเรื่องที่ดี และถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง 

สำหรับการแก้ปัญหาสภาล่มในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีข้อถกเถียงถึงหน้าที่การรักษาองค์ประชุมของรัฐบาล ว่า ได้กำชับ สส. ให้เข้าร่วมประชุมสภาแล้ว และได้รับทราบถึงความจำเป็นของ สส.หลายคน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน และได้เน้นย้ำไปแล้วว่า อยากให้การทำงานในสภาแข็งแรงขึ้น ซึ่งตนเองมั่นใจว่า การพูดคุยในวันนี้ เป็นไปในทิศทางที่บวก ทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ
 

logoline