svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ความหวังแก้รธน. ในกำมือทีมศึกษาประชามติ

01 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเศรษฐา กำลังอยู่ในช่วงกำลังฟอร์ฟทีมศึกษาแนวทางทำประชามติ และหากดูจากรายชื่อกว่า 20 คน ที่เริ่มหลุดออกมาบ้าง หลายคนชื่อชั้นไม่ธรรมดา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเศรษฐา ได้เวลานับหนึ่ง หลังประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ นายภูมิธรรม เวชยชัย ออกมาอัพเดทความคืบหน้า ว่าสามารถรวบรวมคนทำงานได้แล้วกว่า 20 คน จากหลายสาขาอาชีพ โดยเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของสังคม

สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการมศึกษาแนวทางทำประชามติ ที่ถูกเปิดเผยออกมาเบื้องต้น  อาทิ 

  • นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน
  • นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
  • นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา
  • นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย
  • นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
  • นายวิทยา แก้วภารดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ 
  • นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
  • นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม
  • นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
  • น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ความหวังแก้รธน. ในกำมือทีมศึกษาประชามติ

หากดูจากรายชื่อ บุคคลแวดวงการเมืองที่มีชื่อร่วมคณะ หลายคนชื่อชั้นไม่ธรรมดา อย่าง นายชูศักดิ์ ศิรินิล กับฉายามือกฎหมายเพื่อไทย มีประสบการณ์สายตรงแก้ไขรัฐธรรมนูญ อดีตยังเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านกฎหมาย รวมถึงยังเคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ด้วย

นายนิกร จำนง เคยมีประสบการณ์ร่วมคณะสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 และที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งพรรคชาติไทยในขณะนั้น ดำเนินการกันทุกขั้นตอน และมีรายละเอียดแนวทางการทำงาน รวมถึงที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ในหนังสือ “ชุมพล ฅน ประชาธิปไตย” 

หรือแม้กระทั่งนายศุภชัย ใจสมุทร ก็ถือว่าตรงสเปคตรงปก เรียกว่าคลุกคลีอยู่กับกฎหมายมาอย่างยาวนาน ทั้งเคยเป็นประธานฝ่ายกฎหมายพรรคภูมิใจไทย เคยเป็นกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคยเป็นเลขานุการชมรมนักกฎหมายมุสลิม และที่สำคัญคือทำหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

สำหรับภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ คือจะร่วมกันศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่าแต่ละฝ่ายจะเห็นควรอย่างไร ซึ่งคาดจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน ก่อนเข้าสู่กระบวนการต่อไป 

เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย

อ.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ในฐานะอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มองการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะหากไม่ทำการศึกษา ก็จะไม่ทราบว่าปัญหาคืออะไร รวมถึงยังเชื่อว่ารัฐบาลเศรษฐา อาจทำเรื่องนี้สำเร็จได้ภายใน 4 ปี แต่หากยังดึงดันทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็คงอยู่ไม่ครบเทอม

ยุทธพร อิสรชัย อ.ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

อ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจใช้ระยะเวลาพอสมควร รวมถึงเห็นสอดคล้องถึงความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทาง อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลเศรษฐาทำสำเร็จได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่การพูดคุยกันมากกว่า 

logoline