svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

คืนนี้นอนคุก คุมตัว "อานนท์" เข้าเรือนจำ รอศาลอุทธรณ์สั่งให้ประกันคดี 112 หรือไม่

26 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คุมตัว "อานนท์" เข้าเรือนจำ หลังศาลส่งคำสั่งขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา หลังถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี คดีหมิ่นเบื้องสูง

26 กันยายน 2566 ภายหลังศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก นายอานนท์ นำภา จำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูงเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ต่อมา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายอานนท์ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นเงินสด 2 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ น่าจะใช้เวลาพิจารณา 2-3 วัน จึงจะมีคำสั่งลงมา ทำให้นายอานนท์ จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพไปพลางก่อน เพื่อรอคำสั่งขอศาลอุทธรณ์ ว่าจะพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีดูหมิ่นสถาบัน หมายเลขดำ อ. 2495/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายอานนท์ นำภา อายุ 39 ปี แกนนำกลุ่มราษฎร เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น สถาบันเบื้องสูง , ร่วมกันมั่วสุมชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง , พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 , พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ

ม็อบราษฎร 14 ต.ค. 63

กรณี ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง กลุ่มราษฎร 2563 ที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 เรียกร้องให้  1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก 2.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยบางช่วงบางตอนของการปราศรัย จำเลยได้กล่าว แสดงความอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นสถาบันฯ เหตุเกิดที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว

นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร
สำหรับวันนี้ (26 ก.ย.) นายอานนท์ จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมด้วยภรรยาและลูกชาย ขณะที่มีทีมทนายความ และตัวแทนสถานทูตเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหประชาชาติ พร้อมมวลชน มาให้กำลังใจประมาณ 100 คน

โดยศาลอาญา พิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย ที่นำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า ฝ่ายโจทก์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ , สน.ชนะสงคราม เบิกความสอดคล้องในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุจำเลยกับพวก ได้ร่วมกันจัดชุมนุมทางการเมือง โดยจำเลยแถลงข่าว และใช้สื่อโซเชียล ชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณ 1,000 คน มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.ปฏิรูประบบสถาบันกษัตริย์ 

บางช่วงบางตอน จำเลยปราศรัยว่า หากวันนี้มีการสลายการชุมนุม ก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะเป็นคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น ซึ่งเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย สถาบันกษัตริย์ให้ได้รับความเสื่อมเสีย  ประชาชนเข้าใจผิดถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งที่จำเลยเป็นนักกฎหมาย และทนายความย่อมทราบดี ถึงขอบเขตการชุมนุม ที่จะไม่กระทบสิทธิเสรีภาพ และสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อีกทั้งการชุมนุมของจำเลย เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฯ ที่จำเลยอ้างว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุม ได้รับความเดือดร้อนนั้น ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ หักล้างพยานโจทก์ได้ 

การกระทำของจำเลย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี และ ฐานกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฯ ปรับ 20,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

logoline