svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บทบาทไทยต่อ"สันติธรรมประชาธิปไตย"ในเมียนมาและอาเซียน  

17 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดมุมมองและข้อเสนอแนะ : บทบาทของไทยต่อ"สันติธรรมประชาธิปไตย"ในเมียนมาและอาเซียน ในโอกาสครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

17 สิงหาคม 2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา  หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ  มีการจัดงานเสวนาทางวิชาการ PridiTalk ครั้งที่ 22 “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” เนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย ที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวนำในงานเสวนาในหัวข้อ "บทบาทของไทยต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียน" ว่า วันนี้ เมื่อ 78 ปีที่แล้ว (16 สิงหาคม 2488) ท่าน ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก "ประกาศสันติภาพ" อันมีใจความสำคัญว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น "เป็นโมฆะ" ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง

แฟ้มภาพ  สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา

ย้อนกลับไปก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น อาจารย์ปรีดีในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เล็งเห็นว่า "ลัทธิเผด็จการทหาร" กำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ขึ้น เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพ และคัดค้านการทำสงคราม ผ่านไปยังนานาประเทศ ด้วยพุทธสุภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” (ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี) และคำกล่าวที่ว่า "ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด" นอกจากนี้ ปรีดียังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้ เพื่อต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี

 

ในหนังสือ "ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และการลี้ภัย 21 ปีในประเทศจีน" ของท่านอาจารย์ปรีดี นั้น มีเนื้อหาส่วนหนึ่งแสดงจุดยืนชัด ถึง บทบาทของไทยในยุคสงครามเย็นช่วงไฟสงครามในอินโดจีนยังคุกกรุ่น ให้ยกเลิกสถานะสงครามโดยไม่ประกาศสงครามของไทย ต่อ ประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน อาจารย์ปรีดี เขียนไว้ในหนังสือโมฆะสงคราม ว่า "เราต้องระลึกถึงสุภาษิตของไทยที่สอนให้ “นึกถึงอกเขาอกเรา" และได้เล่าให้ฟังว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เกิดที่กรุงศรีอยุธยาภายหลังที่กษัตริย์พม่าได้ทําลายกรุงนั้นแล้ว 133 ปี แต่ชาวกรุงก็ยังไม่ลืมถึงการที่กรุงนั้นถูกทําลายย่อยยับ ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กพอจําความได้ ก็ได้ยินผู้ใหญ่และชาวบ้านเล่าให้ฟังด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจนานาประการที่บ้านเมืองและผู้คนถูกศัตรูทําลาย

แฟ้มภาพ  "มิน อ่อง หลาย" ผู้นำกองทัพพม่า

ความรู้สึกต่อพม่าเริ่มจางลงไปภายหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะราษฎรพยายามชี้แจงว่าที่กรุงศรีอยุธยาถูกทําลายนั้น ไม่ใช่ความผิดของราษฎรพม่า แต่เป็นความผิดของกษัตริย์ที่มักใหญ่ใฝ่สูงแสวงการแผ่อํานาจ ก็เมื่อฝ่ายไทยเรามีความรู้สึกต่อพม่าเช่นที่กล่าวนั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษ ราษฎรชาติอื่นที่บ้านเมืองถูกทําลายโดยเครื่องบินที่ไปจากฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย จะมีความรู้สึกสักเพียงใด

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อว่า "ขบวนการเสรีไทย" ได้ใช้ความพยายามทําให้อังกฤษและ สหรัฐอเมริการับรองว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยทําต่อสองประเทศนั้นเป็นโมฆะ ส่วนจีน ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตที่เป็นสัมพันธมิตรครั้งกระนั้น ก็ไม่ยอมเลิกสถานะสงครามหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ง่ายๆ ขบวนการเสรีไทยและรัฐบาลบางชุดภายหลังสงครามได้ใช้ความพยายามให้ประเทศเหล่านั้นยอมเลิกสถานะสงคราม ซึ่งเป็นทางให้ประเทศไทยได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

การที่ ไทย และ ประชาคมอาเซียนที่เคยมีจุดยืนทางการเมืองต่อหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ทำให้การสร้างเงื่อนไขของการเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย และ อาเซียน กับ เมียนมา 

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในสมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้นำเสนอแนวทางการทูตแบบ “พัวพันอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Engagement) แต่รัฐบาลสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย จึงปรับมาใช้แนวทางหรือนโยบาย “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” (Flexible Engagement) แทนและกรอบแนวทางนี้อาเซียนก็ใช้มาจนปัจจุบันนี้

แฟ้มภาพ ดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ พบปะ มิน อ่อง หลาย ผู้นำกองทัพเมียนมา

แต่ดูเหมือนการฑูตของไทยในยุค รัฐบาล คสช. จะไม่ค่อยยึดแนวทางนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องเรียกร้องหรือกดดันให้ รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และ หยุดใช้กองกำลังปราบปรามประชาชนชาวเมียนมาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะที่ประเทศไทยสงวนท่าทีต่อการคว่ำบาตรและโดดเดี่ยว รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา เพื่อกดดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชน มีการจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม

นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทเชิงรุกในการทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพในเมียนมา แต่รัฐบาล คสช ก็ไม่ได้สนใจต่อบทบาทดังกล่าว ที่จะช่วยรักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาผู้บริสุทธิ์ รักษาความสงบสันติภาพ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝั่งตามแนวชายแดน 

การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาจะเป็นผลโดยตรงจากความมุ่งมั่นและจริงจังของกลุ่มพลังต่างๆภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงให้เกิด สันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมา นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากอาเซียน ไทยและนานาชาติ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ  

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กล่าวอีกว่า  การที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศที่ปกครองแบบอำนาจนิยมเผด็จการทหารให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เป็น ประเทศที่มีสันติธรรม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน 

การมีแนวทางพัวพันอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ต่อเมียนมาของไทยและอาเซียนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ และ อาจต้องเริ่มต้นให้มีการหยุดยิงและเจรจากันก่อน บทบาทของไทยมีความสำคัญ และ ไทยเคยทำสำเร็จมาแล้ว กรณีการเจรจาสันติภาพและยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากสนามรบเป็นสนามการค้า

การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสมรรถนะของการเมืองการปกครองเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้เงื่อนไขต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศด้วย การส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพของระบอบการปกครองต้องมาพร้อมกับการเมืองที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กล่าวข้อเสนอในช่วงท้ายของการกล่าว นำว่า ไทยแสดงบทบาทต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียนได้ ไทยต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความก้าวหน้าบางอย่างที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ดังต่อไปนี้  

หนึ่ง ต้องมีการแก้ไขกติกาสูงสุดรัฐธรรมนูญของไทยให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตยเสียก่อน เนื้อหาส่วนไหนที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย และ เป็นเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมต้องตัดออก ต้องปลดปล่อยนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองออกจากการจองจำ ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น 

สอง ไทยควรมีบทบาทนำในการเรียกร้องให้ รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และ คณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อยุติสงครามกลางเมืองและฟื้นฟูประชาธิปไตยและสันติภาพในเมียนมา  

สาม ไทยควรสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา และ ประเทศอื่นๆในอาเซียนที่ยังมีปัญหาความเป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ 

สี่ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ตกอยู่ในอันตราย หรือ หลบหนีจากเมียนมา และ ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรง ร่วมกับอาเซียนในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมด 

ห้า เพิ่มแรงกดดันทางการทูต ผ่าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและที่ประชุมสมัชชาเพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา 

หลังการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดย "มิน อ่อง หลาย" ผู้นำกองทัพพม่า มีผู้ถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว 123 คนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ถูกจับกุม 23,894 คน ทรัพย์สินของพลเรือนในพื้นที่ขัดแย้งเสียหายอย่างหนัก บ้านเรือนถูกเผาทำลายมากกว่า 70,000 หลัง ความทุกข์ยากแร้นแค้นปกคลุมไปทั่ว เกิดสงครามรุนแรงขึ้นระหว่างกองกำลังต่อต้านรัฐประหาร กองกำลังชนกลุ่มน้อย กับ กองทัพพม่า คลื่นผู้อพยพหนีภัยความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและสงครามหลายแสนคน

หก เรียกร้องกดดันให้กองทัพพม่ายุติปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน 

เจ็ด รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการกวดขันตามแนวชายแดนเพื่อยุติการส่งมอบอาวุธและทรัพยากรอื่นๆที่ถูกใช้เพื่อปรามปรามประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมา รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามขบวนการค้าอาวุธค้ายาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง

แปด ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือของขบวนการประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน และ รักษาเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยภายในแต่ละประเทศ และ สร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิด "สันติธรรมประชาธิปไตย" ภายในประเทศและสร้างพลังเครือข่ายร่วมกันเพื่อให้ภูมิภาคนี้ เป็นภูมิภาคที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ยึดถือมนุษยธรรม เป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและความมั่นคง สงบสันติ สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน เป็นภูมิภาคอาเซียนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

ปัญหาความเป็นเผด็จการและอำนาจนิยมในแต่ละประเทศในภูมิอาเซียนนั้นไม่เหมือนกัน ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอำนาจนิยม ใน ไทย อาจดูโหดร้าย ใช้ความรุนแรงน้อยกว่า เผด็จการทหารเมียนมา เป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉลาดกว่า เนียนกว่า และ หลอกล่อให้ ขบวนการประชาธิปไตยแตกแยกลง และ อ่อนแอลง

กรณีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 อันบิดเบี้ยวเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นปรากฎการณ์ที่เราเห็นอย่างชัดเจน และ ขอให้ท่านติดตามความพยายามในการตัดสิทธินักการเมือง และ ยุบพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ให้ดี การกระทำดังกล่าวจะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองและการเผชิญหน้าขัดแย้งรอบใหม่ได้ ผู้ปรารถนาในสันติธรรม ย่อม ต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายยึดถือการปกครองด้วยความถูกต้องเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย   

logoline