รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้นน่าจะใกล้ยุติแล้ว คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในวันที่ 26 ก.ค. นี้ และ ธนาคารกลางยุโรปน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 27 ก.ค.
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ไม่น่าจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลกมากนัก โดยคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า
หากแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องพร้อมกับตลาดแรงงานที่คลายความตึงตัว
ส่วนการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 2 สิงหาคมน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% จะทำให้อัตราดอกเบียนโยบายของไทยมาอยู่ที่ระดับ 2% อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 2% นั้นเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง
ทั้งภาคการบริโภค การลงทุน ภาคการท่องเที่ยวและตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและอยู่ในกรอบเป้าหมาย การส่งผ่านของต้นทุนของผู้ประกอบการทำได้ไม่เต็มที่เพราะเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปีจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี และอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะหลุดระดับ 34, 33 และ 32 บาทต่อดอลลาร์ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าตามลำดับ
"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเปิดเสรีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เพิ่มขึ้น การตั้งเป้าให้ใบอนุญาตเพียง 3 แห่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ และ ก่อให้เกิดอำนาจกึ่งผูกขาดได้ในการให้บริการทางการเงินผ่านธนาคารไร้สาขาได้
จึงควรเปิดกว้างเปิดเสรีให้มีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขามากขึ้น เพราะประเทศไทยมีธนาคารรูปแบบปกติเพียง 17 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้ การกำหนดให้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทย่อมทำให้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้ ทำให้การแข่งขันไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ การมี "ธนาคารเสมือนจริง" (Virtual Bank) เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ระดับหนึ่ง ขยายโอกาสธนาคารและบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (NeoBanks) จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคการลงทุนลดลง
นอกจากนี้ การธนาคารและการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ในระบบธนาคารดิจิทัลที่ไร้สาขานี้ จะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดกิจกรรมหรือกระบวนการทำงานที่ปล่อยของเสีย เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วนของต้นทุนอาคารสถานที่และอุปกรณ์ในเครือข่ายสาขาต่อต้นทุนการดำเนินการทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 13-20%
การสามารถลดต้นทุนการดำเนินการเครือข่ายสาขาได้ลงอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารและลูกค้าลดลงได้ สามารถนำต้นทุนที่ลดลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการเงินได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน การจัดตั้งธนาคารไร้สาขาอาจจะก่อให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานในธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกระลอกหนึ่ง แต่เป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานสำหรับแรงงานที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล นอกจากนี้ต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ของธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ทำให้สามารถนำเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ได้ต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม
อย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีเปิดให้บริการธนาคารแบบไร้สาขาจำนวนมาก ปรากฏว่า ธนาคาร Digital Virtual Bank สามารถให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รูปแบบดั้งเดิม (Large Traditional Bank) สูงถึง 3-4% และ มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูก ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า หลายประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องระบบไอทีและระบบการเงินได้อนุญาตให้มีการจัดตั้ง ธนาคารดิจิทัลไร้สาขา มาระยะหนึ่งแล้ว
สิงคโปร์มี Virtual Bank ท้องถิ่น 4 แห่ง มาเลเซียมี 5 แห่ง ธนาคารพวกนี้สามารถให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเดียวโดยไม่ต้องมีเครือข่ายสาขา การขยายตัวของธุรกิจธนาคารไร้สาขา ธนาคารดิจิทัล ธนาคารออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ส่
วน กรณีของไทยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธนาคารเสมือนจริง ธนาคารดิจิทัลไร้สาขานั้นต้องมีการประเมินความพร้อมให้ดีทั้งโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการกำกับดูแล และระบบการชำระเงินและระบบบริการการเงินแบบใหม่ว่ามีความพร้อมแค่ไหน
ธนาคารเสมือนจริงแบบเต็มรูปแบบจะไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ และให้บริการทางการเงินผ่านทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ ธนาคารเสมือนจริงแบบไร้สาขานี้ต้องมี Core Banking System บนเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้ มีต้นทุนการทำธุรกรรมและการทำธุรกิจต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมมากทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนลดลง
การเข้าถึงเงินทุนและการบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ทั่วถึง เท่าเทียมขึ้น ด้วยคุณภาพและความรวดเร็วจะทำให้ปัญหาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงทยอยปรับตัวลงได้ในระยะยาว การมี ปัญญาประดิษฐ์ ในการช่วยประมวลข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดี ส่งผลให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อ และ การลงทุนให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ผู้ฝากเงินสามารถแบ่งบัญชีเงินฝากออกเป็นบัญชีย่อยๆเพื่อแยกเงินไว้สำหรับวัตถุประสงค์ต่างๆได้
นอกจากนี้ เมื่อการเข้าถึงการบริการทางการเงินดีขึ้น จะทำให้ครัวเรือนที่ไม่เคยใช้บริการเงินฝากในระบบธนาคารประมาณ 15-16% สามารถฝากเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำลง การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารดิจิทัล จะทำให้ได้ฐานข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) ที่ทำให้ ระบบสถาบันการเงิน และ Virtual Bank สามารถนำมาเป็นข้อมูลพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในอนาคต
หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับ Virtual Bank ต้องเป็นเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ สามารถปฏิบัติได้เหมือนกันหมด และการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 5,000 ล้านบาท ก็จะไม่มี Virtual Bank ขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศไทย จะมีแต่รายใหญ่เท่านั้นที่สามารถจัดตั้งกิจการและให้บริการได้
"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในระยะแรก หลักเกณฑ์ยังควรมีการจำกัดปริมาณเงินฝากในบัญชีของธนาคารเสมือนจริง หรือ Virtual Bank จำกัดขอบเขตการทำธุรกิจบางประเภทเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เนื่องจากรูปแบบการให้บริการแบบ Virtual Bank เป็นของใหม่
คงต้องดูว่า ไทยมีความพร้อมหรือยังและต้องประเมินผลไปอีกระยะหนึ่งหลังจากอนุญาตให้เปิดบริการของธนาคาเสมือนจริงไร้สาขาได้ ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลนั้น ไทยมีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง
เรามีระบบ QR Code standard ระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ระบบ Mobile Banking ระบบ พร้อมเพย์ เป็นต้น แต่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายส่วนยังต้องพัฒนาต่อเนื่องซึ่งหมายถึง ระบบกำกับดูแล และ ระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
ผู้ฝากเงินของธนาคารเสมือนจริงไร้สาขาควรได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับผู้ฝากเงินในระบบธนาคารแบบเดิม และ ผู้ฝากเงินกับธนาคารเสมือนจริงต้องได้รับการประกันเงินฝากเช่นธนาคารรูปแบบปรกติ
คาดว่า ธนาคารขนาดใหญ่รูปแบบดั้งเดิมน่าจะมีการตั้งบริษัทลูกหรือตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อสมัครของใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการการเงินแบบไร้สาขา
เสนอให้พิจารณาให้ใช้นโยบาย Open Banking เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาหรือสมาชิกอียูบางประเทศ การทำนโยบาย Open Banking จะทำให้เกิดการแข่งขันการให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย นโยบาย Open Banking บวกเข้ากับ หลักเกณฑ์เปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารเสมือนจริงไร้สาขา อย่างเหมาะสมชัดเจน จะเปิดให้ กลุ่ม Non-Bank และบริษัทที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เช่น บริษัท FinTech บริษัท E-Commerce บริษัทโทรคมนาคม สามารถจัดตั้งธุรกิจการให้บริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอาจตั้งบริษัทลูก หรือ ร่วมทุนกับพวก Non-Bank ในการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เราอาจเรียกได้ว่า เป็น Neo-Banks ได้ การเกิด ธนาคารเสมือนจริง เกิด Neo-Banks ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ต้องเพิ่มการลงทุนทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และ หันมาใช้ กลยุทธ์ Digital First หรือ ดิจิทัลต้องมาก่อน เป็นกลยุทธ์สำคัญ มีการลงทุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคน
นอกจากนี้ การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลจะเข้ามาลดบทบาทสถาบันการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ