svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถูกรุมกินโต๊ะ! โจทย์ยาก "เพื่อไทย" ตั้งรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

06 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โอฬาร ถิ่นบางเตียว" ชี้โจทย์ยาก "เพื่อไทย" ตั้งรัฐบาล ถูกรุมกินโต๊ะ-กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หวังเก้าอี้นายกฯ ต้องพึ่งขั้วอำนาจเก่า และจ่ายด้วยต้นทุนสูง

6 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการเมืองไทย กับ "เนชั่นออนไลน์" โดยเฉพาะการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ว่าทิศทางการเมืองตอนนี้หลังพรรคเพื่อไทย ฉีก MOU แล้ว  ต้องบอกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมาก อำนาจการต่อรองไม่เหมือนเดิม มีเสียงข้างมากสูงสุด แต่โอกาสจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยากมาก ถ้าไม่ร่วมมือกับขั้วอำนาจเก่าของทุกพรรค ซึ่งรวมถึงพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติด้วย  เพราะทั้ง 2 พรรคนี้มีบทบาทสำคัญกับ สว.ที่จะยกมือโหวตให้แคนดิเดตของเพื่อไทย จึงอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

“แม้เพื่อไทยจะยืนยันว่านายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรค มีคุณสมบัติครบที่จะเป็นนายกฯได้ แต่เงื่อนไขทางการเมืองที่ สว. วางเอาไว้ทั้งเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่นายเศรษฐาย้ำหลายรอบ ว่าไม่แก้ พรรคเพื่อไทยก็ย้ำหลายรอบมากว่าไม่แก้ แต่ สว.บอกว่ามีหลักฐานมีร่องรอยคำพูดจะทำให้ สว.เชื่อใจได้อย่างไร ยังไม่รวมที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉเรื่องของนายเศรษฐาอีก ทำให้บรรทัดฐานจริยธรรมความสง่างามของคนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ถูกตั้งข้อสงสัยตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น”

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ถูกรุมกินโต๊ะ! โจทย์ยาก \"เพื่อไทย\" ตั้งรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

โจทย์ยาก "เพื่อไทย" ถูกรุมกินโต๊ะ!

ส่วนหากเป็น อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร เป็นแคนดิเดต แม้จะมีความเหมาะสม เพราะเป็นลูกของอดีตนายกฯ ที่เป็นจิตวิญญาณของพรรค มีความรู้ความสามารถ แต่จะยอมรับเป็นนายกฯได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลต้องมีพรรคของ 2 ลุง ซึ่ง"อุ๊งอิ๊งค์"เองก็เคยพูดว่าไม่ร่วมกับพรรค 2 พรรคนี้ ส่วน "นายชัยเกษม นิติสิริ" มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้ดุลอำนาจของเพื่อไทยอยู่ในภาวะที่ถูกรุมกินโต๊ะจากพรรคการเมืองขั้วเก่าและ สว. นอกจากเพื่อไทยจะยอมแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นกระทรวงสำคัญให้กับซีกนี้จนเป็นที่พอใจ

“ถ้าต้องรวมกับพลังประชารัฐ แต่ไม่อยากให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ต้องให้ตำแหน่งรองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือถ้าต้องรวมกับพรรคภูมิใจไทย ต้องให้ตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญที่เขาอยากจะได้ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบกับกลุ่มทุนพรรคเพื่อไทย แต่ถามว่าหากไม่ให้ โอกาสที่จะได้นายกฯของเพื่อไทยก็ยาก เพราะอย่างไรเสียก็ต้องพึ่งพา สว. เรียกว่ากว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่เพื่อไทยจะมีต้นทุนราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก”

ถูกรุมกินโต๊ะ! โจทย์ยาก \"เพื่อไทย\" ตั้งรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก  

นายกฯ ส้มหล่น ?

หากมองข้ามจากเพื่อไทยไป แคนดิเดตของพรรคอันดับ 3 อย่างภูมิใจไทย ก็ยังต้องรอดูท่าที ว่าจะยอมรับนายกฯส้มหล่น หรือไม่ หากจำเป็นต้องรับ ก็อาจจะต้องสร้างสัญญาประชาคมสำคัญ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีประชาชนเป็นเจ้าภาพ และยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าคุณอนุทินไม่สนใจ  สุดท้ายแล้วอาจไปจบที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งหมดขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละพรรค ที่จะต่อรองกันจนเกิดการสมดุล และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

“ จากการประเมินการวิเคราะห์ของหลายคน เห็นตรงกันว่ากลไกอำนาจในเชิงระบบอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พล.อ.ประวิตรหมดแล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือ พล.อ.ประวิตร คุมกลไกทางการเมืองได้ แต่คุมหัวใจประชาชนไม่ได้ หากท่านรับตำแหน่งนายกฯ มวลชนอาจลงถนน”

ส่วนประเด็นที่กำลังมีการมองไปถึงนายกฯคนนอก "รศ.ดร.โอฬาร" มองว่า สามารถเกิดขึ้นได้ หากนายกฯที่มีในตะกร้า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีความตึงเครียดทางการเมือง จนเกิดความขัดแย้งกัน แต่หากไปถึงจุดนั้น นายกฯคนนอกที่จะเข้ามา จะต้องเป็นคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคนที่สังคมไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อถือได้

“ตอนนี้ถามว่าเราจะหาคนลักษณะนี้ได้หรือเปล่าสังคมไทย ณ เวลานี้  แต่ผมคิดว่าเมื่อประชาชนเลือกตั้งมาแล้ว 500 คนมีพรรคการเมืองแล้ว น่าจะใช้กระบวนการกลไกที่มีอยู่เลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากแคนดิเดตตามบัญชีรายชื่อที่มีสิทธิ์ตอนนี้ให้ได้ก่อน”

ผลกระทบที่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นตอนนี้ จากการที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้ว นอกจากความเครียดของประชาชนที่รอคอยรัฐบาล ผลกระทบสำคัญคือด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้นักลงทุน ไม่มั่นใจในการตัดสินใจ และอีกอย่างที่สำคัญ คือปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสถาบันทางการเมืองของประเทศ

“ทั้งรัฐธรรมนูญ สถาบันนิติบัญญัติ รัฐบาล ตอนนี้เริ่มมีอาการเสียหลัก เสียจุดยืน เสียกลไก จากระบบรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ แต่กลับปรากฏว่าเอาระเบียบข้อบังคับประชุมให้มามีกฎเหนือรัฐธรรมนูญ รัฐบาลตั้งไม่ได้ ประชุมสภาไปไม่รอด นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้น เพียงแค่ 2 เดือน เป็นความเสียหายหนักในเชิงโครงสร้างสถาบันทางการเมือง”

ส่วนทิศทางที่น่าจับตาหลังจากนี้ "รศ.ดร.โอฬาร"มองว่า คือ นายกรัฐมนตรีหน้าตาจะเป็นอย่างไร , นายกรัฐมนตรีจะมีพรรคร่วมรัฐบาลหน้าตาเป็นอย่างไร และความรู้สึกของประชาชนต่อรัฐบาล มีความรู้สึกอย่างไร 3 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตา และจะส่งผลต่อการเมืองหลังจากนี้

เลื่อนวินิจฉัยปม "พิธา" ไม่ได้มีผลโหวตนายกฯ 

ขณะเดียวกัน ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลเลื่อนการวินิจฉัยปมการเสนอชื่อซ้ำ ของ"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล โดยเชื่อว่าแม้จะเลื่อนไปก็ไม่ได้มีผลต่อ "นายพิธา"และ"พรรคก้าวไกล" ในการโหวตนายกฯ หรือจัดตั้งรัฐบาล เพราะถึงแม้หากศาลวินิจฉัยว่าการลงมติเมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถที่จะเอาระเบียบข้อบังคับการประชุมมาขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญได้ แม้จะเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้  แต่สถานการณ์แบบนี้เพื่อไทยอาจจะกลับมา แต่ สว.ก็ไม่ยกมือโหวตให้อยู่ดี

“จะโหวตซ้ำๆไปอย่างนั้น หรืออาจจะต้องรอกันถึง 10 เดือน แต่เชื่อว่านักการเมือง พรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งจะกดดัน และในวันใดวันหนึ่งก็มีการเสนอชื่อสวนขึ้นมา เพื่อที่จะให้ สว.ปิดเกมให้จบ การเลื่อนจึงไม่มีผล เพราะธงทางการเมืองของคนชนชั้นนำทางการเมือง มองพรรคก้าวไกลเป็นภัยคุกคาม  จึงจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดพรรคก้าวไกลออกจากหน้ากระดานการเมือง”

ถูกรุมกินโต๊ะ! โจทย์ยาก \"เพื่อไทย\" ตั้งรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ทักษิณ เลื่อนกลับไทย เพราะดีลไม่จบ หากเพื่อไทยชวดเก้าอี้นายก “ทักษิณ” ไม่กลับแน่!

ส่วนกระแสโรคเลื่อนที่ล่าสุดลามไปถึงอดีตนายกฯคนไกล นายทักษิณ ชินวัตร ที่ล่าสุด ออกมาโพสต์ทวิตเตอร์ ประกาศเลื่อนกลับไทย วันที่ 10 ส.ค.ออกไปก่อน

"รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  แสดงความคิดเห็นว่า การกลับไทยของอดีตนายกฯ "ทักษิณ" จริงๆแล้ว ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ว่าดีลจบหรือไม่จบ ทุกอย่างลงตัวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทุกอย่างมันไม่ลงตัว ดีลไม่ลงตัว จึงมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ปลายสายตลอด ขึ้นอยู่กับว่าหลังจากนี้คุณ"ทักษิณ"อยากจะกลับจริงๆหรือไม่ ไม่ต้องรอวันที่ 10 พรุ่งนี้ก็กลับได้  ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการต่อรองทั้งนั้น เพราะการเมืองตอนนี้ มันหลุดอำนาจจากประชาชนไปแล้ว และอำนาจถูกส่งต่อให้นักการเมือง นักการเมืองส่งต่อให้หัวหน้าพรรค แต่หัวหน้าพรรคส่วนใหญ่ในการเมืองไทย คือ หัวหน้าพรรคอุปโลกน์ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยหัวหน้าพรรคก็ส่งต่อให้เจ้าของพรรคตัวจริง แล้วเจ้าของพรรคตัวจริงก็ต่อรองกัน

ที่สำคัญเมื่อมองที่สถานการณ์การเมืองตอนนี้  หากพรรค"เพื่อไทย" ไม่ได้เป็นนายกฯ โอกาสที่"ทักษิณ"จะกลับมาไทย จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

“หากเพื่อไทยไม่ได้เก้าอี้นายกฯ ผมเชื่อว่าปิดประตูการกลับมาของคุณ"ทักษิณ"ได้เลย เพราะหากมองจากรูปแบบการทำงานทางการเมืองของคุณทักษิณ ถ้าเขามองว่าเขาเป็นคนๆหนึ่ง กลับวันพรุ่งนี้ก็ได้ กลับมาก็ติดคุกตามเงื่อนไขปกติ ติดแล้วทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษก็ทำได้ แต่คุณทักษิณไม่ได้คิดแบบประชาชนอย่างพวกเรา เขาคิดแบบชนชั้นนำทางการเมือง ว่าเขาต้องต่อรอง หากต่อรองก็ต้องมีเงื่อนไข ถ้าดีลไม่ได้ ต่อรองไม่ได้ รัฐบาลเกิดไม่ได้ คุณทักษิณก็กลับไม่ได้ นั่นคือเพื่อไทยต้องเป็นนายกฯ ตอนนี้เขาได้แค่ประธานสภาฯ เขายังไม่ได้นายกฯ พรรคอยู่ในภาวะตกต่ำมาก และมวลชนเสื้อแดงที่เคยเป็นแนวร่วมของพรรคไม่เหมือนเดิม คุณทักษิณต้องมีแก้ว 3 ดวงก่อน ถึงจะกลับได้ ตอนนี้มีดวงเดียว คือดวงของประธานสภาฯ แรงไฟมันไม่สว่างพอที่คุณทักษิณจะกลับ

ถูกรุมกินโต๊ะ! โจทย์ยาก \"เพื่อไทย\" ตั้งรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ทั้งนี้ ตอนนี้พรรค"เพื่อไทย"ต้องเทหมดหน้าตักแล้ว  ไม่ว่าราคาที่ต้องจ่ายมากแค่ไหนก็ต้องยอม หากกลุ่มชนชั้นนำการเมืองจะรักษาสถานะของตัวเองเอาไว้ ก็ต้องรักษาเพื่อไทยเอาไว้ก่อน เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเพื่อไทยจะเป็นพรรคสำคัญในการต่อสู้กับก้าวไกลในอนาคต  สิ่งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยต้องเร่งดำเนินนโยบายอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะนโยบายที่หาเสียงเอาไว้กับประชาชน เพื่อให้เห็นว่าเหตุผลที่ตัวเองแยกออกมาและต้องเปลี่ยนขั้ว  นอกจากเหตุผลทางการเมืองแล้ว ยังมีเหตุผลในการบริหารราชการแผ่นดินที่ตัวเองต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนจำนวนมาก ที่ไม่พอใจเพื่อไทย รู้สึกกลับมาเห็นใจเพื่อไทย เพื่อจะสร้างฐานมวลชนต่อ แล้วยกระดับปฏิรูปพรรคเพื่อเตรียมสู้กับพรรคก้าวไกลในอนาคต.

 

logoline