svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ล้วงลึก"วันนอร์" ผู้ได้รับเสนอให้เป็น"ประธานสภา" คนกลางยุติขัดแย้ง

03 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับเป็นการผ่าทางตันทางการเมือง ตามแนวทาง"เพื่อไทย" ด้วยการเสนอชื่อ "วันนอร์" หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง"ประธานสภาฯ" ที่ว่ากันว่า จะเป็นคนกลางในการยุติความขัดแย้ง เพื่อไทย -ก้าวไกล

3 กรกฎาคม 2566  มติส.ส.และกรรมการบริหาร"พรรคเพื่อไทย" เสนอทางออกปมการแย่งเก้าอี้"ประธานสภา" ระหว่าง"พรรคก้าวไกล" และ"พรรคเพื่อไทย" ที่เป็นปัญหาเรื้อรังกันตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 66 จนได้ข้อสรุป เมื่อช่วงสายของวันที่ 3 กรกฎาคม ว่า "เพื่อไทย"จะเสนอชื่อ "นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา" หัวหน้าพรรคประชาชาติ  เป็นประธานสภา  โดยนำความเรื่องนี้เสนอ"คณะเจรจาก้าวไกล" และจะมีการแถลงข่าวร่วมกันในเวลา 19 .00  น. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ 

เดิมชื่อของ"อาจารย์วันนอร์"  ปรากฎขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงความขัดแย้งใหม่ๆ เมื่อครั้งที่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาคณะก้าวหน้าโพสต์ข้อความ กระตุ้นพรรคก้าวไกลว่า "ตำแหน่งประธานสภา"ต้องเป็นของ"ก้าวไกล"  โดย"ก้าวไกล"จะยอมอีกไม่ได้แล้ว หลังจากมีการปรับเนื้อหาในเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายแก้ม.112  และการนิรโทษกรรมการเมือง 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฝ่ายตรงข้าม"พรรคก้าวไกล"โจมตีไปมาว่า "ก้าวไกล"ไม่มีบุคคลที่เหมาะสม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ทางการเมือง พร้อมกับมองว่า พรรคเพื่อไทย มีบุคคลากรที่เหมาะสมหลายคน

การยืนกรานตำแหน่งประธานสภา ต้องเป็นของฝ่ายตน จึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเริ่มปรากฎข่าวเพื่อหาข้อยุติ ควรเสนอ "อาจารย์วันนอร์" เป็นประธานสภา แต่ครั้งนั้นก็มีการปฏิเสธจากพรรคประชาชาติ พร้อมกับบอกว่า เป็นเพียงข่าวโคมลอย  

วันมูหะหมัดนอร์ มะทา  หัวหน้าพรรคประชาชาติ  ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ให้เป็นประธานสภา

ช่วงระยะเวลาที่หาข้อสรุป ตำแหน่ง"ประธานสภา" จึงถูกทอดยาวมาถึง วันที่ การประชุมสภา กำลังจะเปิดและมีวาระเลือกประธานสภาในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ จึงทำให้ เงื่อนไขของเวลาบีบรัด ทั้งสองพรรคต้องได้ข้อสรุปสักที  
 

ในที่สุด พรรคเพื่อไทย มีมติหาทางออกด้วยการเสนอคนกลาง อย่างอาจารย์ "วันขมูหะหมัดนอร์ มะทา"  

กล่าวสำหรับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้จะได้รับการเสนอชื่อให้สภาได้เลือกเป็นประธานรัฐสภาคนที่ 32 ของประเทศนั้น  ปัจจุบัน อายุ 79 ปี ดำรงตำแหน่ง "หัวหน้าพรรคประชาชาติ" แต่เส้นทางการเมืองนั้น  เรียกได้ว่ามีประสบการณ์อย่างโชกโชน เพราะเป็นอดีต สส. 9 สมัยเท่ากับ "สุชาติ ตันเจริญ" สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และเคยสังกัดมาแล้วหลายพรรคการเมือง ได้แก่

แฟ้มภาพ นายวันมูหะหมัดนอร์  มะทา เมื่อครั้งทำหน้าที่ ส.ส. ในสภา

พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และ พรรคไทยรักไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นสส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ที่สำคัญเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานสภา มาแล้ว ระหว่าง วันที่24 พฤศจิกายน 2539 ถึง วันที่ 27 มิถุนายน 2543 ช่วงรัฐบาลพรรคความวังใหม่

นอกจาก"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" จะเป็นนักการเมืองมุสลิม แกนนำกลุ่มวาดะห์ ยังเป็นอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นชาวไทยมุสลิม มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วันนอร์"

นอกจากดำรงตำแหน่งประธานสภา ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ล้วงลึก\"วันนอร์\" ผู้ได้รับเสนอให้เป็น\"ประธานสภา\" คนกลางยุติขัดแย้ง

"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านสะเตง จังหวัดยะลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้เข้าศึกษาปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนกระทรวงมหาดไทย

และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบันทิต(บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ ที่มากระทบต่อ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา"  เมื่อถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ สส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง "นายวันมูหะหมัดนอร์" ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ปัจจุบัน วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็น สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1

การประชุมสภาในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ มีวาระ การเลือกประธานสภา และรองประธานสภา  หากไม่มีอะไรผิดพลาดไปจากข้อตกลงร่วมของ 8 พรรคร่วม  โดยเสนอชื่อ "นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา"  รายชื่อเดียว ต่อที่ประชุมสภา "นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา" จะได้รับเลือกให้เป็นประธานรัฐสภาคนที่ 32 ของประเทศต่อไป  

logoline