svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

การเมืองไทยกับ 3 ฉากทัศน์ "โอกาส หรือ วิกฤติ?"

01 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์การเมืองที่กำลังดูผันผวน โดยเฉพาะระหว่าง "เพื่อไทย" และ "ก้าวไกล" กับตำแหน่งประธานสภา ซึ่งอาจลามไปสู่การโหวตนายกรัฐมนตรี และอาจนำไปสู่จุดพลิกทางการเมือง

โดยนักวิเคราะห์จากต่างแดน "อ.กฤษฎา บุญเรือง" นักวิชาการอิสระ จากรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้ประเมิน "3 ฉากทัศน์" ก่อนรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา 3 ก.ค. และนัดเลือกประธานสภา ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งได้สะท้อนมุมมองซึ่งผ่านกลั่นกรองร่วมกับนักวิชาการ นักการศึกษา นักศึกษาไทย และชุมชนคนไทยในอเมริกา ที่แลกเปลี่ยนความเห็นผ่านการประชุมทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะ

การเมืองไทยกับ 3 ฉากทัศน์ "โอกาส หรือ วิกฤติ?"

ฉากทัศน์ที่หนึ่ง : "โอกาสทองของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นฮีโร่แม้ไม่เป็นนายกฯ"

ก่อนวันที่ 3 ก.ค. 2566 มีเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน นับว่าเป็นโอกาสสำคัญ และอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่เปิดให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรักษาการ แสดงความเป็นผู้นำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและความสงบสุขของประเทศชาติ และป้องกันความขัดแย้งก่อนที่จะเกิด

"หากท่านใช้เวลาในวัน พฤหัสฯ กำลังจะหมดวันแล้ว ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ คือ 29 มิ.ย- 2ก.ค.นี้ ส่งสัญญาณโดยชัดเจนว่า สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯคนใหม่"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพียงแค่นี้ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนบรรยากาศการเมืองทันที สื่อมวลชนจะขอสัมภาษณ์ ส.ว.บางท่าน และจะได้เสียงตอบสนองทางบวก ว่าจะเลือกผู้แทนของพรรคที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มร่วมจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" 

ซึ่งมุมมองของ อ.กฤษฎา ชัดเจนว่า อุปสรรคการเป็นนายกฯของ "พิธา" ที่สำคัญที่สุด คือ ส.ว. ส่วนคดีความ และคำร้อง หรือหลักฐานขุดคุ้ยอื่นใด เป็นเพียง "องค์ประกอบ" หรือเรียกว่า "กระผีก" ไม่ใช่ "แก่น"  ฉะนั้น หากฝ่าด่าน ส.ว.ได้ การเป็นนายกฯ คนที่ 30 ก็จะไม่มีอะไรต้องลุ้นให้ลำบากอีกต่อไป


 

อ.กฤษฎา วิเคราะห์ต่อว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณ จะทำให้อำนาจการต่อรองของพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นทันที การต่อรองของเพื่อไทยในปัจจุบันเรื่องเก้าอี้ประธานสภาก็จะลดลงและจางหายไป จะปิดประตูของพรรคพลังประชารัฐและความหวังของพรรคภูมิใจไทย และจะไม่เกิดการแย่งชิงเชิงการเมืองในเลือกประธานสภา

"การแสดงสปิริตของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวันที่ 3 ก.ค. จะเป็นการป้องกั นการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้วว่า จะเกิดขึ้น และกำลังเตรียมรับมือเรื่องนี้อยู่"

การตัดสินใจออกมาส่งสัญญาณของพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ เพราะเห็นต่อความสงบของบ้านเมือง จะสร้างศรัทธาและรับการให้อภัยจากคนหลายฝ่าย ทำให้การเปลี่ยนบทบาทของพล.อ.ประยุทธ์ จากนักการเมืองไปเป็นข้าราชการทหารเกษียณ หรือบทบาทอื่นเพื่อบ้านเมือง รวมทั้งภาพลักษณ์ ออกมาทางบวกทันที รวมถึงสร้างประเพณีทางการเมืองที่ดีให้กับประเทศไทยด้วย 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ พลาดโอกาสในการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น จะถูกตำหนิว่ามีส่วนรู้เห็น รอชิงจังหวะทางการเมือง 

หลายฝ่ายสันนิษฐานสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยกำลังสับสนตอนนี้ เนื่องจากคิดว่า "พิธา" ยังไม่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกเพียงพอที่จะเป็นนายกฯ และเพื่อไทยอาจต้องเข้ามาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเอง 

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวันที่ 3 ก.ค. เรื่องสัญญาณส่งให้ ส.ว. จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

ฉากทัศน์ที่สอง : "ได้ก็เสีย ไม่ได้ก็เสีย สำหรับเพื่อไทย"

ก้าวไกลเรียกประชุมวันที่ 2 ก.ค. เวลา 10.00 น. หาก 8 พรรคที่ก่อตั้งรัฐบาลร่วมประชุม แต่ตกลงกันไม่ได้เรื่องประธานสภา และก้าวไกลยืนยันว่าจะเดินงานการเมืองแบบเปิดเผย โดยให้ประชาชนตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมืองทุกคนทุกพรรค จากนั้นเข้าประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภา โดยที่ไม่มีข้อตกลงกันก่อน และไปวัดผลกันในสภา ก็เปรียบเสมือนก้าวไกลเล่นโป๊กเกอร์ ถือว่าตนมีไพ่ดีอยู่ในมือ คือเสียงประชาชน 14.44 ล้านคน และรู้ว่าเพื่อไทยซึ่งมี 10.96 ล้านคนนั้น จะต้องยอมแพ้ในที่สุด ไม่ระยะสั้นก็ระยะยาว

หรือแม้หากตกลงกันได้ว่าก้าวไกลเป็นประธานสภา และเพื่อไทยได้รองประธานสภา 2 ตำแหน่ง หรือเพื่อไทยได้รัฐมนตรีเพิ่ม แต่ภาพลักษณ์ออกมาจากการต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อเคลียร์ปัญหา ก็จะกลายเป็นภาพลักษณ์ของการต่อรองโดยเพื่อไทย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด 

ชลน่าน ศรีแก้ว

และการเรียกร้องตำแหน่งประธานสภาโดยอ้างว่าสมาชิกพรรคลงมติให้ทำอย่างนั้น เพื่อไทยก็จะถูกตำหนิจากประชาชน ว่าเล่นการเมืองแบบเดิม ขาดความชัดเจน ไม่เปิดเผย ตุกติก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาแล้วก่อนการเลือกตั้ง 

ฉากทัศน์ที่สาม : "เพื่อไทยข้ามขั้ว ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ยุบสภาก่อนครบเทอม"

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ออกมาชี้นำ ส.ว. โดยอ้างว่าปล่อยไปตามกติกาการเมือง เพื่อไทยและก้าวไกลตกลงกันไม่ได้เรื่องประธานสภา ก้าวไกลยืนยันที่จะทำการเมืองแบบเปิดเผยให้ประชาชนเห็นทุกขั้นตอนว่าใครทำอะไร ทุกพรรคเข้าประชุมเลือกประธานสภาด้วยความตึงเครียด ประชาชนเตรียมการประท้วง ฝ่ายความมั่นคงออกมารักษาความสงบ ตลาดหุ้นตก สื่อต่างประเทศกระพือข่าวเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของไทย 

มีการเสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งประธานสภา บุคคลคนนั้นไม่ถอนตัว การลงคะแนนผลออกมาเพื่อไทยได้เป็นประธานสภา 

ก้าวไกลประกาศพร้อมเป็นฝ่ายค้าน 

มีการจับขั้วใหม่ อาจไปไกลถึงขั้นชู "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" เป็นนายกฯ ส.ว.หลายคนออกมาสนับสนุน ประชาชนกลุ่มเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะฝ่ายสีส้มจะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนเพื่อไทยจะสูญเสียความนิยมไป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

"หากอดีตนายกฯทักษิณเดินทางกลับมาไทยในเดือน ก.ค. หรือระหว่างที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยขั้วการเมืองใหม่ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เพื่อไทยเข้าไปร่วม ก็จะโดนลงโทษทางสังคมอย่างรุนแรง และจะไม่คุ้มต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อหาความสุขสงบในวัยอาวุโสอย่างที่เคยกล่าว"

ทุกพรรคการเมืองขั้วใหม่ที่มีเพื่อไทยอยู่ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้น จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และการเลือกตั้งครั้งหน้าความนิยมนั้นอาจจะลดลงอีก 

รัฐบาลจะถูกตรวจสอบในสภา โดยพรรคก้าวไกลที่มีประสบการณ์ในการเป็นฝ่ายค้านมาอย่างช่ำชอง แล้วแถมชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้นเกินความคาดหมาย และมีการสะสมความนิยมเพิ่มขึ้นในแต่ละวันหลังจากการเลือกตั้งผ่านมา และโดยประชาชนซึ่งตื่นตัวกับหน้าที่พลเมือง และรู้ว่ามีความสามารถในการผลักดันนักการเมืองหรือพรรคการเมืองได้ โดยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก คือ "โซเชียลมีเดีย" รัฐบาลจะแทบทำงานไม่ได้ หรือไม่คุ้มกับการลงทุนการเมือง 

การเมืองไทยกับ 3 ฉากทัศน์ "โอกาส หรือ วิกฤติ?"

ความกดดันในสภาและในสังคมจะนำมาสู่การยุบสภาก่อนครบวาระ 4 ปี

อายุของรัฐบาลที่คาดว่าจะอยู่ไม่ถึง 4 ปี ตามที่ อ.กฤษฎา วิเคราะห์ไว้นั้น ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ด้วย และยิ่งส่งผลให้มีการช่วงชิงตำแหน่งประธานสภา และนายกฯ อย่างหนักหน่วงจาก 2 พรรคแกนนำ 

เพราะทั้งสองพรรค และอีกหลายๆ พรรคหาเสียงไว้ว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการทำประชามติ และตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่าง ใช้เวลาราวๆ 2 ปี เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จ ประกาศใช้ ก็ต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่อยู่ดี เนื่องจากกติกาประเทศเปลี่ยนใหม่หมด เพราะหลักสากลเป็นแบบนี้ ประเพณีการเมืองไทยก็เป็นแบบนี้ ยกเว้นยุค พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะมีแก้กติกาเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ยุบสภา 

ยิ่งเวลารัฐบาลเหลือไม่ครบ 4 ปี ยิ่งทำให้ทุกฝ่ายต้องการมีอำนาจ เพื่อคุมเกมการเมืองในระยะต่อไป และเป็นต้นเหตุของการแย่งชิงกันทุกเม็ดอย่างที่เป็นอยู่

logoline