svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อย่าเอาอดีตเทียบปัจจุบันศึกชิงเก้าอี้"ประธานสภา"

28 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นักวิชาการ"ชี้ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาระหว่าง "เพื่อไทย" กับ "ก้าวไกล" ต้องเข้าใจบริบทใหม่ เหตุไม่มีเคยพรรคส.ส.จำนวนใกล้เคียงกัน มาจับมือร่วมฝั่งเดียวกัน

"ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น" ผอ.เนชั่นโพล และ​ ผู้ช่วยอธิการบดี​ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช​ และเลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ โดยเฉพาะการชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 2 พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่าง ก้าวไกล และ เพื่อไทย

โดยประเด็นแรก ที่มีการกำหนดโควตาต่อหน้าสื่อว่า ก้าวไกล ได้ 14+1 ตำแหน่งนายกฯ และเพื่อไทย ได้ 14+1 ตำแหน่งประธานสภา นั้น การมองแบบนี้ดูจะคลาดเคลื่อน เพราะการแบ่งโควตานั้น จะต้องดูเฉพาะการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่าพรรคก้าวไกลได้ 15 ตำแหน่ง รวมนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ 14 ตำแหน่ง

ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล มีคะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มากกว่าเพื่อไทย 10 เสียง จึงเหมาะสมที่จะมีจำนวนคณะรัฐมนตรีมากกว่าพรรคเพื่อไทย 1 คน รวมนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น การจัดสรรโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรี ถือว่าจบเมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส.

ประเด็นที่สอง ตำแหน่งประธานสภา ตามหลักต้องมองแยกกัน ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี โดยส่วนตัวมีข้อคิดเห็นที่แตกต่าง คือ เป็นครั้งแรกที่พรรคอันดับหนึ่งและสอง มีคะแนนไล่เลี่ยกัน คือ ห่างกันเพียง 10 เสียง โดยก้าวไกล มี 151 เสียง และ พรรคเพื่อไทย มี 141 เสียง ปกติพรรคใหญ่สองพรรค จะไม่จับมือร่วมกันเป็นรัฐบาล ตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2540 หรืออาจจะย้อนกลับไปถึงปี 2525 เป็นต้นมา ร่วมเวลา 30 ปี จะเห็นมาตลอดว่าพรรคอันดับหนึ่งและสอง จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกันเสมอ

อย่าเอาอดีตเทียบปัจจุบันชิงเก้าอี้"ประธานสภา"

รศ.ดร.เชษฐา ขยายความต่อว่า ถ้าพรรคใดเป็นแกนนำรัฐบาล อีกพรรคจะเป็นฝ่ายค้าน แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ทำให้พรรคฝั่งเสรีนิยม คือ ก้าวไกล และ เพื่อไทย ต้องจับมือกัน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้จะต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่สำหรับตำแหน่งประธานสภา

"ที่ผ่านมาหลายคนมักอ้างว่าโดยธรรมเนียมตำแหน่งประธานสภา จะอยู่กับพรรคอันดับหนึ่ง เป็นเพราะว่าที่ผ่านมาพรรคอันดับหนึ่งกับพรรคอันดับสอง คะแนนต่างกันเยอะมาก เช่น ต่างกันถึง 40-50-60-70 เสียง จึงทำให้ตำแหน่งประธานสภาจะอยู่กับพรรคอันดับหนึ่งไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับตำแหน่งนายกฯรัฐมนตรี ทำให้ครั้งนี้ไม่สามารถอ้างได้ว่าพรรคอันดับหนึ่งจะต้องได้ตำแหน่งประธานสภาเท่านั้นหรือไม่ เงื่อนไขเปลี่ยน บริบทก็เปลี่ยนตาม นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ฉะนั้นจะไปใช้มาตรวัดโดยธรรมเนียมเก่าก่อนนั้นไม่ได้แล้ว" รศ.ดร.เชษฐา ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างพรรคริพับลิกัน กับพรรคเดโมรแคต ถ้าพรรคเดโมแครตมีจำนวนวุฒิสมาชิกมากกว่าพรรคริพับลิกัน 5 คน ตำแหน่งประธานฯ จะอยู่กับพรรคเดโมแครต หรือถ้าพรรคริพับลิกันมีจำนวนวุฒิสมาชิกมากกว่าพรรคเดโมแครต 1 คน ตำแหน่งประธานฯ จะอยู่กับพรรคริพับลิกัน นั่นเพราะทั้งพรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันอยู่ตรงข้ามกันเสมอ ไม่ได้มาร่วมเป็นรัฐบาลฝั่งเดียวกันเหมือนกับกรณี "ก้าวไกล" กับ "เพื่อไทย" ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แต่ประเทศไทยในปัจจุบันพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย คะแนนต่างกันแค่ 10 เสียง เท่านั้น จึงไม่สามารถยกเหตุการณ์ในอดีตมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ จะต้องตั้งอยู่ในเงื่อนไขการเจรจาใหม่ เช่น ความเหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่ง อายุการทำงานของคนนั้นๆ ซึ่งแล้วแต่ทั้งสองฝ่ายจะไปตกลงกันเอาเอง

อย่าเอาอดีตเทียบปัจจุบันชิงเก้าอี้"ประธานสภา"

รศ.ดร.เชษฐา สรุปว่า การที่เพื่อไทยจะนำเสนอบุคคลชิงตำแหน่งประธานสภา กับก้าวไกล ซึ่งก็มีคนของตัวเองแล้วเช่นกัน แล้วจะบอกว่าเป็นความผิดของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ที่พรรคอันดับหนึ่งกับสอง มีคะแนนไล่เลี่ยเช่นนี้ สามารถเซ็ตกติกา กำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ขึ้นได้ ขอฝากถึง "ด้อมส้ม" "ด้อมแดง" ทั้งหลาย รวมถึงคนทั่วไปที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทั้งสองพรรค ไม่อยากให้เอาอดีตมาเทียบเคียงกับปัจจุบัน

logoline