svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุรชาติ" จับสัญญาณช่วงเปลี่ยนผ่านสู่"ภูมิทัศน์การเมืองใหม่"

19 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จับสัญญาณการเมืองไทยหลังเลือกตั้งคืบคลานใกล้สู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน"ภูมิทัศน์การเมืองใหม่" ถือเป็นจุดเปราะบางและอันตรายที่สุด

การเมืองไทยหลังผ่านการ"เลือกตั้ง 66" เป็นที่ประจักษ์ "พรรคก้าวไกล"ภายใต้การนำของ"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรค ได้รับชัยชนะเป็นพรรคอันดับ 1 โดยร่วมกับ 8 พรรคทำการจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้ "นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์"ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566  คณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ประกาศรับรองรายชื่อส.ส. จำนวน 500 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตามรธน.เมื่อกกต.ประกาศรับรองส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซนต์ สามารถเปิดประชุมสภา เลือก"ประธานสภาฯ"และโหวต"เลือกนายกฯ" ในขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ดี ในแง่ของประชาชนที่เทคะแนนให้ผู้แทนของเขากลับมีความรู้สึกว่า เหตุใดการได้มาซึ่ง"นายกรัฐมนตรี"ประเทศไทยถึงล่าช้าขนาดนี้  อีกทั้งยังต้องเผชิญด่านตรวจสอบทั้งคุณสมบัติการเป็นส.ส. หรือแม้แต่การหาจำนวนเสียงวุฒิสภารับรองให้ได้เสียงในรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งอีก

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข"  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย "เนชั่นทีวี" ว่า การเมืองไทยไม่ปกติมานาน เพราะฉะนั้นเราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยทำให้การเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

"คำอธิบายชุดนี้เป็นคำอธิบายแบบรัฐศาสตร์มากๆ แต่ใช้กับประเทศที่การเมืองนิ่งหรือทรงตัว แต่สำหรับประเทศที่การเมืองไม่นิ่ง ผมไม่ได้บอกว่าการเมืองต้องนิ่ง จนกระทั่งบางคนเคยบอกอาจารย์ ถ้าการเมืองนิ่งมาก เดี๋ยวเป็นน้ำเน่า เพราะน้ำนิ่งแล้วจะเป็นน้ำเน่า"

"คำอธิบายของผม คือ ถ้าการเมืองนิ่ง กระบวนการทางการเมืองเดินไปตามขั้นตอน แต่ในบริบทไทยเราจะเห็นชัดว่าการเมืองเดินไปตามขั้นตอนจริงแต่เป็นอะไรที่ตอบไม่ได้ " 

\"สุรชาติ\" จับสัญญาณช่วงเปลี่ยนผ่านสู่\"ภูมิทัศน์การเมืองใหม่\"

 

"ทางวิชาการ สิ่งที่เราเห็นคือการเมืองไทยเข้าสู่ระยะการเปลี่ยนผ่านก็จริง สมมุติอธิบายแบบคนเรียนรัฐศาสตร์จะมีคำพูดหนึ่งบอกว่าการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นการเมืองที่เปราะบางและอันตรายที่สุด"

"ศ.ดร.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข"  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

"ศ.กิตติคุณดร.สุรชาติ" กล่าวว่า  ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นการพลิกผันของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม เหมือนกับที่หลายคนบอกหักปากกาเซียน ถ้าลองกลับไปที่โพลนิด้าอาจรวมโพลเนชั่นด้วย ผมว่าสัดส่วน 70:30 ที่เราเห็นในโพลเห็นชัดพอสมควร เป็นแต่เพียงตัวเลข 70 ในปีกของฝั่งฝ่ายค้านไม่ได้ออกมา อย่างที่โพลตอบเรา แต่ไม่ได้พลิกคะแนนเสียง 

กลับไปดูสัดส่วนของเสียง ผมว่าน่าสนใจมาก เเต่ไส้ในเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นใน 70:30 มาถึงจุดที่ถ้าเอา 70:30 เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลเก่าแพ้เลือกตั้ง ผมว่าใหญ่กว่านั้น ผมว่าระบอบการเมืองเก่าเกิดปัญหาแล้วก็แพ้เลือกตั้ง ถ้าเป็นรอบที่แล้วยังง่ายเพราะเพิ่งผ่านรัฐประหารยังไงไม่มีทางแพ้และบวกคะแนนบัตรเขย่งด้วยใช่มั้ย

แต่รอบนี้เสียงขาดอย่างนี้ยุ่งเหมือนกันว่าแล้วจะยังไงต่อ ผมใช้คำว่าระบอบเก่าแพ้เลือกตั้งเดิม สังคมไทยมีแรงปะทะระหว่างสองชุดความคิด หรือสองปรัชญาคือ"เสรีนิยม"กับ"อนุรักษ์นิยม"

"วันนี้ผมขอให้ความเห็นผ่านเนชั่นเป็นเวทีแรกนะ ผมว่า สถานการณ์วันนี้เกิดทับซ้อนอีกชุดหนึ่ง นอกจาก"เสรีนิยม" "อนุรักษ์นิยม"ซับซ้อนด้วยการปะทะระหว่าง"พลังใหม่"กับ"พลังเก่า"ของสังคมไทย คำว่าพลังใหม่ไม่วัดโดยอายุต้องบอกคนรุ่นใหม่นะ อย่าติดกับดักตัวเองไม่ได้เป็นเงื่อนไขอายุ แต่เป็นเงื่อนไขของทุกความคิดแปลว่า แรงปะทะสองส่วนนี้ซ้อนระหว่าง"เสรีนิยม, อนุรักษ์นิยม ,พลังใหม่ ,พลังเก่า" กระทั่งวันนี้ ถ้าใช้ภาษายุคผม สะท้อนความเป็นซ้ายเป็นขวาอีกแบบหนึ่งในทางการเมือง"

 "ผมคิดว่าการเมืองไทยรอบนี้เข้าสู่สถานการณ์ชุดใหม่ถ้าจะให้ใช้คำเท่ๆ เข้าสู่"ภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่"เป็น"แลนด์สเคป"ทางการเมืองใหม่ของไทยที่เรากำลังจะเห็น แต่ไปต่ออย่างไร ต้องรอดูกันต่อไป ภายหลังกกต.ประกาศรับรอง "

ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ" ย้อนกลับมามองกรณี กกต.รับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ายาวนานทั้งที่กรอบรธน.กำหนดไว้ภายใน 60 วัน ซึ่งยังไม่ถึงตามกรอบด้วยซ้ำ  โดย"นักวิชาการท่านนี้" มองว่า  การทิ้งช่วงในเงื่อนไขของการรับรองผลในหลายประเทศรับรองผลช้าเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่โจทย์ใหญ่ของเราที่ทิ้งช่วงแล้วเป็นปัญหาเพราะกลายเป็นความไม่มั่นใจ กกต. 

ประเด็นที่ 2 นอกจากความไม่มั่นใจต่อ "กกต." สะท้อนความกังวลต่อบทบาทของรัฐบาลเดิม  คำถามแรก"พิธา" เป็นนายกมั้ย คำถามในทางกลับกัน รัฐบาลเก่ายอมถอยออกหรือไม่ เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น "ทรัมป์" อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ไม่ยอมวันที่ "ไบเด้น" ชนะ มีอาการมวลชน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า 6 มกรา 2021 ผมไม่ได้บอกว่าการเมืองในต่างประเทศสมบูรณ์หมด ไม่ใช่ ต้องคิดเหมือนกันว่าประชาธิปไตยมีปัญหาในแต่ละที่แต่ละทาง "ทรัมป์" ตอนแพ้เลือกตั้ง วันที่ "ไบเด้น" จะสาบานตน เห็นอาการ วันที่"ทรัมป์"พาคนบุกสภาก่อน" ไบเด้น"สาบานตน ที่เกือบจะล้อกันเล่น ๆ ว่าเป็นรัฐประหารในอเมริกาคือ 6 มกรา ปี 2021 หรือในบราซิล "โบซานาโร่ "แพ้ แต่กองเชียร์บอกไม่แพ้ เห็นปรากฏการณ์อย่างนี้

แฟ้มภาพ ม็อบสนับสนุนทรัมป์ บุกสภา ที่วอชิงตัน สหรัฐ เมื่อ 6 มกราคม 2021

"วันนี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือกองเชียร์ ประเภทการเมืองแพ้เเต่กองเชียร์ไม่แพ้ อันนี้ยุ่งเหมือนกันเพราะฉะนั้นทำอย่างไรในอนาคตที่สมมุติถ้าการเมืองเข้าที่เข้าทาง แพ้คือแพ้ จบคือจบ กกต.เคลียร์ด้วยระบบว่าเอาหล่ะใครที่มีใบแดง ใบส้ม ว่าด้วยกติกา ไม่ใช่ว่าวันนี้ ใบแดง ใบส้มเราไม่รู้เลยว่าใครจะได้เเล้วมีผลกระทบต่อโครงสร้างของการจัดตั้งรัฐบาลมากน้อยเพียงไร"

ความไม่ปกติการเมืองไทยเปรียบการเมืองโลกที่ 3

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ" ยังยกตัวอย่างการนับคะแนนในตปท.ว่า สมมุติถ้าการเมืองเดินอย่างที่เราพูด วันนี้การเมืองอาจจะนับเสียงช้าก็ได้ ฟิลิปปินส์ไม่ได้นับเร็วนะ คนเปรียบเทียบว่าให้ดู"ตุรกี" ตุรกีนับเร็ว คนก็ล้อบอก"ตุรกี"นับเร็วเพราะ"ประธานาธิบดีเอร์โดอาน"ชนะ เป็นต้น ก็มีมุกอะไรบางอย่าง

แต่สมมุติถ้าปีก"อนุรักษนิยม"หรือปีกขวาที่แพ้ ยอมไม่ให้การเมืองรอบนี้เดิน แล้วปีกขวาลองจัดที่จัดทางของตัวเองใหม่วันนี้ ถามตรงๆว่ามวลชนฝ่ายขวามีและยังเข้มแข็งบางส่วนด้วยเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้

วันนี้ถ้าเราออกแบบพื้นที่ทางการเมืองใหม่ของประเทศไทย จัดที่จัดทางโดยผ่านนโยบายของการหาเสียงผ่านข้อเสนอเชิงนโยบาย ผมเชื่อว่าวันนี้ ข้อเสนอของ"ปีกขวา" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ปีกขวาสุด"ก็ดูแคลนไม่ได้เพราะยังมีน้ำหนักในสังคมไทยถ้าเราจัดที่จัดทางอย่างเราจะออกแบบพื้นที่การเมืองใหม่ในอนาคตได้ แปลว่าวันนี้ถ้าทุกฝ่ายเชื่อว่าให้การเมืองในระบบเดิน  อย่าพาการเมืองกลับสู่เงื่อนไขรัฐประหารเพราะการเมืองกลับสู่เงื่อนไขการรัฐประหารคือการนับถอยหลัง ไม่ใช่ติดลบ มันคือการถอยหลังประเทศกลับไปไกลมากอย่างที่เราเห็น

"แต่เมื่อการเมืองทรงตัวอยู่ คุณไม่ต้องทำข่าว ถามผมจะตั้งรัฐบาลได้มั้ย ใครจะเป็นนายกฯ ประเด็นนี้จะตกไปทันที เราะรู้โดยเงื่อนไขของระบบการเมืองว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่วันนี้พอการเมืองตอบอะไรไม่ได้ คือภาพสะท้อนถ้าเป็นสมัยก่อน เป็นการเรียกที่โหดร้ายมาก เขาจะบอกว่าการเมืองไทยเป็น"การเมืองประเทศโลกที่สาม" คือการเมืองที่มันอยู่ในความผันผวนติดกับดักตัวเองอยู่จนตอบตัวเองไม่ได้"

ถาม-กำลังสื่่อความหมายถึง"พล.อ.ประยุทธ์" ทำไมไม่ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้เลือกตั้งและเเสดงความยินดีกับพรรคที่ชนะเลือกตั้ง จะได้เกิดความผ่อนคลายและชัดเจนขึ้น

"ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ"  กล่าวว่า  ในความหมายจัดที่จัดทางตรงนั้น คือ ยอมรับผลการเลือกตั้งเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเกิดขึ้นเหมือนที่เราเห็นหลายๆประเทศทั่วโลก แต่ถามว่าประเทศตะวันตกที่พัฒนามานานแล้ว "ทรัมป์"คือตัวอย่างในการนำมวลชนซึ่งวันนี้ยังเป็นคดีอยู่ แต่ถ้าเราจัดอย่างนั้นได้

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

"ผมเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ น่าตั้งพรรคและเป็นผู้นำพรรคให้จริงจัง เล่นบทบาททางการเมืองในรูปแบบของการเมืองเปิด ผู้นำทหารในการเลือกตั้งรอบนี้ผมว่าน่าสนใจ ผมใช้สำนวน กระโดดลงจากรถถังแล้ววิ่งขึ้นรถหาเสียง ผมว่าการเลือกตั้งรอบนี้เราเห็นทั้งพล.อ. ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร สองคนนี้เดินหาเสียง แล้วถอดเสื้อแบบเดิม ไม่ต้องใช้เครื่องแบบเดินหาเสียง ผมว่าเป็นเรื่องดี"

วันนี้ข้อเสนอผมในการเปิดพื้นที่การเมือง ถ้าคิดให้ไกลตั้งพรรคปีกขวาให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วผลักดันนโยบายเพื่อให้ปีกขวามีสิทธิ์มีเสียงในสภา แล้วการเมืองไทยต้องเลิกคิด ต้องไม่ทำการเมืองไทยเป็น 2 ขั้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดสร้างการเมืองไทยเป็น 2 ขั้ว คือฝ่ายค้านกับรัฐบาลคิดเเบบสุดโต่งการเมืองไทยจะมีปัญหาทันที

แต่ถ้าเราคิดว่าการเมืองไทยมีซ้ายสุด ขวาสุด ซ้ายกลาง ขวากลาง แปลว่าเราเปิด 4 พื้นที่ได้โดยไม่ใช่ 2 แล้วเอาพรรค การเมือง ใส่ลงไปพื้นที่เหล่านี้ผ่านการโฆษณาขายเชิงนโยบาย ผมว่าจะทำให้เเรงเสียดทานลดลง พอเป็นอย่างนี้สิ่งที่ผมเสนอพรรคในปีกอนุรักษนิยมอย่าหวังพึ่งรถถังเข้าสภาแต่เพึ่งรถหาเสียงแล้วทำการเมืองตรงนี้ด้วยการเปิดการยอมรับเพราะถ้าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจะเห็น

1.ฝ่ายที่ชนะจะไม่ยอม การที่ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ยอม จะตามมาด้วยมวลชนของฝั่งที่ชนะลงถนนประท้วง

2. การประท้วงจะมีความรุนแรงหรือไม่ ถ้าการประท้วงตามมาด้วยเงื่อนไขความรุนแรงก็มีลักษณะที่เป็นจลาจล อย่าคิดมากเราเห็นตัวแบบในยุโรปเยอะ ต้องใช้คำว่าจลาจลทางการเมือง

3.เข้าสูตรไทยแบบเดิมๆ ม็อบชนม็อบซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดี ถามว่าวันนี้เป็นเงื่อนไขที่ดีหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ดี 

4.จะกลายเป็นเงื่อนไขรัฐประหารอีกหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทหารหลายส่วนไม่ได้มีความสุขกับการอยากทำรัฐประหาร ใครที่เชื่อว่าอยากทำ ผมว่าคนในกองทัพหลายส่วนไม่ได้อยากยุ่งการเมืองขนาดนั้นเพราะผลกระทบกับสถาบันทหารมันใหญ่

แปลว่า ถ้าเราคิดอย่างนี้เราจะสร้างการเมืองไทยที่มีเสถียรภาพได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่มีข้อถกเถียง ข้อโต้แย้ง ไม่มีความขัดแย้งในการเมืองไทยนะ แต่เราจะเปิดพื้นที่ชุดใหม่ๆให้ เอาหล่ะ คุณจะอยู่ในปีกซ้ายสุด ขวาสุดหรือซ้ายกลาง ขวากลาง คุณเปิดเวทีถกเถียงได้ทั้งนั้น แล้วจะตั้งรัฐบาลผสมก็เป็นเงื่อนไขปกติเหมือนการเมืองในยุโรป

"คิดแบบนี้เราเห็นอนาคตการเมืองบ้านเรา จะพาประเทศไทยหลุดจากกับดักความขัดแย้ง ซึ่งวันนี้ผมว่าไม่มีใครรู้ดีเท่าสื่อเพราะสื่ออยู่ในเวทีความขัดแย้งชัดเจนที่สุดนะ" ศ.กิตติคุณดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย

\"สุรชาติ\" จับสัญญาณช่วงเปลี่ยนผ่านสู่\"ภูมิทัศน์การเมืองใหม่\"  

logoline