svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศึกชิงประธานสภาฯ เกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี หรือหวังพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ?

29 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชำแหละศึกชิงประธานสภาฯ ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” เกมนี้แค่ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี โดยเฉพาะ “กระทรวงพลังงาน” หรือซับซ้อนซ่อนเงื่อน วางหมากหวังเปลี่ยนขั้ว บีบ "ก้าวไกล" ไปเป็นฝ่ายค้าน ?

สถานการณ์ในวันนี้ ยังไม่แน่นอนว่า “รัฐบาลก้าวไกล” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ? เพราะยังมีอีกหลายด่านโหดที่ “พรรคก้าวไกล” และ “พิธา” ต้องฟันฝ่า ซึ่ง “พรรคเพื่อไทย” แม้จะได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 2 แต่ก็ถือว่าสูสีกับอันดับที่ 1 ทำให้กลายเป็นพรรคที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะพลิกไปทางขั้วใด ขั้วนั้นก็มีโอกาสได้เป็นรัฐบาล

แต่เส้นทางที่สง่างามที่สุด ก็คือการร่วมจัดตั้ง “รัฐบาลเสรีนิยม” ที่ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนให้ ซึ่งแม้การจัดตั้งรัฐบาลในเวลานี้ “พรรคเพื่อไทย” จะต้องรับบท “พระรอง” แต่ถ้าแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ พยายามตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ให้สำเร็จ ก็จะกลายเป็น “พระเอก” ในหัวใจใครๆ หลายคนได้เลยทีเดียว

แต่แทนที่ “พรรคเพื่อไทย” จะใช้จังหวะที่ “พรรคก้าวไกล” มีความสุ่มเสี่ยงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ถูกสกัดกั้นรอบทิศทาง แสดงบทบาท “พี่ชายที่แสนดี” ออกแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้ “รัฐบาลก้าวไกล” เกิดขึ้นให้ได้ กลับเลือกที่จะเป็น “คู่ขัดแย้ง” ประกาศศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” กับ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ตำแหน่งดังกล่าวมีการห่ำหั่นกันอย่างดุเดือด

ศึกชิงประธานสภาฯ เกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี หรือหวังพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ?

เหตุผลที่ “ก้าวไกล” ต้องยึดเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ไว้ให้ได้

ฉากทัศน์ที่ 1 หลักประกันการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในกรณีที่เกมการเมืองไม่ซับซ้อนนัก  

เหตุผลหลักๆ ที่ “ก้าวไกล” ในฐานะพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ต้องยึดเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ไว้ให้มั่น นั่นก็คือ ความไม่แน่นอนที่ว่า สุดท้ายแล้ว “พิธา” จะผ่านด่านปมหุ้นสื่อ หรือได้เสียงโหวต (ส.ส. + ส.ว.) ถึง 376 เสียงหรือไม่

หากสมมติว่า “พิธา” ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ แต่เก้าอี้ “ประธานสภาฯ” นี่แหละ จะช่วยการันตีโอกาสที่ “พรรคก้าวไกล” ยังคงได้เป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” อยู่  

โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง หลังจาก “พิธา” ไม่สามารถไปต่อได้ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ก็มีความชอมธรรมที่จะเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง

ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องดึง “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” เข้ามาเพิ่มเติม โดยสมการที่ลงตัวที่สุดก็คือ “พรรคภูมิใจไทย” ก็จะทำให้เสียงในสภาเกิน 376 เสียง ปิดสวิตช์ ส.ว. ได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 9 พรรค

และเมื่อ “ก้าวไกล” ไม่ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ “พรรคภูมิใจไทย” มีข้ออ้างในการเข้าร่วมรัฐบาลดังกล่าว ส่วน “พรรคก้าวไกล” จากการไม่ได้เป็น “พรรคแกนนำฯ” แล้ว ก็มีเหตุผลที่สามารถนำไปอธิบายกับประชาชนได้เช่นกัน

เพราะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีเพียง “พรรค 2 ลุง” เท่านั้น นั่นก็ “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ “พรรคก้าวไกล” ได้ประกาศว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลด้วยเด็ดขาด

ศึกชิงประธานสภาฯ เกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี หรือหวังพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ?

ฉากทัศน์ที่ 2

ในกรณีที่เกมการเมืองซับซ้อนซ่อนเงื่อน (เพื่อนทรยศ)

ฉากทัศน์ที่แล้ว ก็คือในกรณีที่เกมการจัดตั้งรัฐบาลไม่ซับซ้อนนัก แต่ในกรณีที่มีการวางหมากหลายชั้น โดยต้องการบีบให้ “พรรคก้าวไกล” ไปเป็นฝ่ายค้าน ฉากทัศน์ที่ 2 ก็จะเป็นดังต่อไปนี้

สมมติว่า “พรรคเพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำฯ แทน “พรรคก้าวไกล” แล้ว “พรรคภูมิใจไทย” เล่นแง่ ไม่ยอมเข้าร่วมด้วย ทำให้บทบาทพรรคตัวแปรสำคัญตกไปอยู่ที่ “พลังประชารัฐ” ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบทั้งพรรค หรือยุบพรรคตามข่าวสะพัด (ย้ำนะว่า ข่าวสะพัด) แล้ว ส.ส. โยกเข้า “พรรคเพื่อไทย” เพื่ออาศัยคอนเนคชั่นของ “บิ๊กป้อม” กับกลุ่ม ส.ว. จำนวนหนึ่ง โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้เป็นนายกฯ  

ถ้ามารูปแบบนี้ คาดว่า “พรรคก้าวไกล” ต้องจำยอมไปเป็นฝ่ายค้าน หลังจากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนสูตรจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ ซึ่งหน้าตาก็คลับคล้ายคลับคลากับ “รัฐบาลเดิม” เพียงแต่มี “พรรคเพื่อไทย” เพิ่มเติมและเป็นแกนนำรัฐบาล

โดยถ้ามาทางเวย์นี้ สิ่งที่ “เพื่อไทย” ต้องแลกก็คือ “ศรัทธาประชาชน” ถ้าเปรียบเป็นชีวิตคน ก็อยู่ในระดับยอมเสียผู้เสียคนเลยทีเดียว

ส่วนอีกโมเดลหนึ่ง อาจจะเป็นการเดินเกมผ่าน ส.ว. ที่ยืนกรานต้องไม่มีการเสนอแก้ ม.112 เข้าสภาอย่างเด็ดขาด เพื่อบีบให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องจำยอมออกจากสมการพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ถ้าสมมติว่า “พรรคก้าวไกล” ได้เก้าอี้ “ประธานรัฐสภา” ไว้แล้ว โอกาสที่ฉากทัศน์ที่ 2 จะเกิดขึ้น ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก

ศึกชิงประธานสภาฯ เกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี หรือหวังพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ?

“เพื่อไทย” จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หรือจะเปลี่ยนโอกาส เป็นวิกฤต

จากฉากทัศน์ที่นำเสนอข้างต้น ทำให้ “พรรคก้าวไกล” จำเป็นต้องได้ “เก้าอี้ประธานสภา” ไว้เป็นแต้มต่อ เพื่อมั่นใจว่าจะไม่ถูกบดขยี้กลางสภาหากเกมพลิก แต่สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ที่ไม่ยอมลดราวาศอก จริงๆ แล้วก็อาจแค่ต้องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มเท่านั้น โดยเฉพาะ “เก้าอี้กระทรวงพลังงาน” ไม่ได้หวังหักหลงหักหลังอะไรเลย

แต่ด้วยความที่เล่นใหญ่เกินเบอร์ไปเยอะ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า แค่ต้องการต่อรองเก้าอี้เพิ่มเท่านั้น จริงๆ หรือ ?

เพราะอย่าลืมว่า ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย” ถูกจับจ้องด้วยความระแวงสงสัยว่า พร้อมร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเดิม ขอแค่ให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาล และใครบางคนได้กลับบ้าน ซึ่งตรงนี้อาจเป็นความเข้าใจที่ผิดก็ได้

โดย “พรรคเพื่อไทย” มีโอกาสที่จะชำระล้างตัวเอง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการลดการเล่นเกมระหว่าง “ว่าที่พรรคร่วม” ให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่ยังไม่แน่ว่า “รัฐบาลก้าวไกล” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่ ไม่ได้ต้องการ “เก้าอี้ประธานสภา” เพื่อมาพลิกเกมหักหลัง “ก้าวไกล” ในภายหลัง

และสมมติว่า เมื่อถึงวันที่ “รัฐบาลก้าวไกล” ไปต่อไม่ได้จริงๆ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนพรรคแกนนำฯ เป็น “พรรคเพื่อไทย” โดยยึดหลัก “ต้องไม่ทำลายศรัทธาประชาชน” ภาพที่ออกมาของ “พรรคเพื่อไทย” ก็จะสง่างาม และทำให้ข้อสงสัยต่างๆ พลันมลายหายสิ้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า “พรรคเพื่อไทย” จะเลือกหนทางใด จะเลือกเปลี่ยนวิกฤตระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ให้เป็นโอกาสในการแก้ข้อครหาต่างๆ สร้างความสง่างามให้กับพรรค หรือจะเลือกทำให้โอกาสที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นวิกฤตศรัทธา ตอกย้ำข้อกังขาต่างๆ นานา ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

ศึกชิงประธานสภาฯ เกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี หรือหวังพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ?

logoline