svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ฮือฮา! เปิดโผ "คีย์แมนเจรจาดับไฟใต้" หัวหน้าคณะ "ธนาธร"

28 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกเรื่องที่วิจารณ์กันให้แซ่ดในช่วงนี้ คือ รายงานพิเศษของสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งที่เปิดชื่อ เปิดหน้า “คีย์แมนคณะพูคคุยเพื่อสันติภาพดับไฟใต้” ชุดใหม่

ก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายดับไฟใต้เป็นนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองหลายพรรคในรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล

"เนชั่นทีวี" เคยรายงานไปแล้วว่า พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายเรื่องนี้ นอกจากพรรคก้าวไกล ยังมีพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นแชมป์ ส.ส.ชายแดนใต้ และ "พรรคเป็นธรรม" ซึ่งแม้จะเป็น "พรรคจิ๋ว 1 เสียง" แต่ชูนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะ "กัณวีร์ สืบแสง" ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียงหนึ่งเดียวของพรรค และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม

นโยบายที่เสนอล้วนถูกมองว่า “ฮาร์ดคอร์” คือจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะการถอนทหาร ยกเลิกด่านตรวจ เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลิกกฎอัยการศึก และยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษดับไฟใต้ ทำหน้าที่มานานหลายปี

ฮือฮา! เปิดโผ "คีย์แมนเจรจาดับไฟใต้" หัวหน้าคณะ "ธนาธร"

จากนโยบายแนวฮาร์ดคอร์ ทำให้ความเคลื่อนไหวของว่าที่รัฐบาลใหม่ ที่เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาไฟใต้ถูกจับตาและซักถามจากหลายฝ่ายอย่างมาก โดย "ว่าที่นายกฯพิธา" ก็เคยตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้จะเป็น "วาระแห่งชาติ" และตนให้ความสนใจจะดูแลเอง

ส่วนคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินหน้ามาตลอดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และใช้บริการอดีตทหาร อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยมาทุกครั้งนั้น 

รัฐบาลใหม่ยืนยันว่า จะมีการเปลี่ยนตัวแน่นอน โดยใช้ "พลเรือน" เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแทน เลิกใช้บริการทหาร

พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ได้มีการพูดคุยๆ ครั้งที่ 2 กับคณะผู้แทนของ BRN นำโดย อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม 2563 โดยมี ตันสรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

ล่าสุดมีรายงานพิเศษของสื่อออนไลน์ เดอะรีพอร์ตเตอร์ ที่สร้างกระแสฮือฮา เพราะมีการเขียนเปิดตัว “ว่าที่คีย์แมนคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพดับไฟใต้” ประกอบด้วย

ธนาธร ว่าที่ผู้นำเจรจาดับไฟใต้

"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ผู้มีบทบาทสำคัญและว่าที่ผู้ร่วมคณะ ได้แก่

"รอมฎอน ปันจอร์" ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเป็นอดีตสื่อมวลชน ลูกชายของ คุณสุริยา ปันจอร์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และแกนนำองค์กรดีพเซาท์วอทช์

"กัณวีร์ สืบแสง" ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ผู้ที่ชูวาทกรรม “ปาตานี” หวังฟื้นความยิ่งใหญ่ของรัฐปาตานีในอดีต

"พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ในยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

"พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" อดีตแกนนำคณะพูดคุยฯ ในยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์  ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ

ข่าวที่ออกมาทำให้ฝ่ายความมั่นคงให้ความสนใจอย่างมาก เพราะหลายคนในกลุ่มที่ถูกระบุว่าเป็นคีย์แมน โดยเฉพาะคุณธนาธร กับ คุณรอมฎอน เคยแสดงความเห็นต่อสาธารณะ สนับสนุนแนวทาง “เขตปกครองตนเองแบบพิเศษ” เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งสวนทางกับแนวทางของฝ่ายความมั่นคงที่มองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐใหม่ได้สำเร็จ และมองว่าไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ที่ถูกต้อง

เปลี่ยนชื่อ “สันติสุข” เป็น “สันติภาพ”

สำหรับแนวทางการพูดคุยดับไฟใต้ นอกเหนือจากเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยเป็น "พลเรือน" ซึ่งมีข่าวว่า "ธนาธร" ให้ความสนใจทำหน้าที่นี้แล้ว ยังมีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อ “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ใช้ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็น “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในการพูดคุยยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ด้วย โดยกลุ่มคนเหล่านี้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และความหมายของ "สันติสุข" กับ "สันติภาพ" แตกต่างกัน

โดยโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" มี พล.ท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ และเปิดการพูดคุยกับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลงนามในเอ็มโอยู เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นการพูดคุยแบบ "เปิดเผย - บนโต๊ะ" เป็นครั้งแรก และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

ฝ่ายรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ มองว่าเป็นการพูดคุยที่โปร่งใส ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย โดยมองเห็นสันติภาพอยู่ปลายทาง แต่ฝ่ายความมั่นคงมองสวนทางว่า การพูดคุยแบบ “เปิดเผย - บนโต๊ะ” ทำให้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

กระบวนการพูดคุยหลังจากลงนามในเอ็มโอยู ปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ทำให้โต๊ะพูดคุยล่มไป กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เผชิญปัญหาทางการเมือง และถูกยึดอำนาจโดย คสช.เมื่อปี 57

เปลี่ยน 3 หัวหน้าคณะพูดคุยยุค "บิ๊กตู่"

ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรก ได้ริเริ่มกระบวนการพูดคุยขึ้นใหม่ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น "พูดคุยสันติสุข" และเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยจาก พล.ท.ภราดร เป็น พล.อ.อักษรา เกิดผล พูดคุยกับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม แต่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

จากนั้นมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยเป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ​อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ช่วงรอยต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 กับ 2 ราวปี 61-62 แต่ก็ไม่บรรลุข้อตกลงอีก

กระทั่งปลายปี 62 ต่อเนื่องถึงต้นปี 63 มีการตั้ง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และริเริ่มเปิดโต๊ะพูดคุยขึ้นใหม่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น การพูดคุยดำเนินไปด้วยดี แต่ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป และเพิ่งมาฟื้นกระบวนการพูดคุยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ชะงักไปอีกรอบช่วงก่อนเลือกตั้ง เนื่องจาก กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ยอมคุยต่อ เพราะมองว่าประเทศไทย จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

หากพรรคก้าวไกล ได้ตั้งรัฐบาล โต๊ะพูดคุยจะถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง พร้อมๆ กับหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ ส่วนจะเป็น "ธนาธร" ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!

logoline