svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เสรีนิยมแลนด์สไลด์?" วิเคราะห์ผลโพลชี้ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ใครคว้าพุงปลา

04 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเปิดผลโพลช่วงโค้งสุดท้าย ของสำนักโพลต่างๆ ก่อนเข้าสู่เส้นตาย 7 วัน ก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน ที่ กกต. ห้ามเผยแพร่ผลสำรวจ เพราะเกรงจะเป็นการชี้นำนั้น ทิศทางของตัวเลขกำลังบ่งบอกปรากฏการณ์ "เสรีนิยมแลนด์สไลด์" 

ภายหลัง"นิด้าโพล" โดย "อ.สุวิชา เป้าอารีย์" ได้แถลงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ศึกเลือกตั้ง 2566" ครั้งที่ 3 ผลปรากฏว่า คะแนนนิยมของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือที่ด้อม สีส้ม เรียกกันติดปากว่า "ทิม พิธา" มาแรงแซง "อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร" ไปเรียบร้อยแล้ว

โดยตรงกับผลสำรวจของ "เนชั่นโพล"ครั้งที่ 2 ที่จะแถลงอย่างเป็นทางการวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ เวลา 10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ "เนชั่นทีวี" และสื่อในเครือข่ายทุกแพลทฟอร์ม 

มาเริ่มจาก "นิด้าโพล" เป็นโพลของ "สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์" หรือ "นิด้า" 

เสรีนิยมแลนด์สไลด์? "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ใครคว้าพุงปลา

ข้อมูลเบื้องต้น 

- สำรวจรอบ 3 ระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 

- กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ 

- จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง

วิธีการ 

- สุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" 

- สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 

- กำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

ผลสำรวจ 

"เนชั่นทีวี" ยกมาเพียงเฉพาะที่มีนัยสำคัญต่อการวิเคราะห์ 

ประเด็นแรก บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

อันดับ 1 ร้อยละ 35.44 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) 

อันดับ 2 ร้อยละ 29.20 แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)  

อันดับ 3 ร้อยละ 14.84 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) 

อันดับ 4 ร้อยละ 6.76 เศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) 

อันดับ 5 ร้อยละ 3.00 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 

ข้อสังเกตในประเด็นแรก 

1. "ทิม พิธา" มาแรงจริงๆ แซง "อุ๊งอิ๊งค์" ตรงกับที่ "เนชั่นโพล" สำรวจ 

2. "อุ๊งอิ๊งค์" คะแนนนิยมลด ตัวโพลไม่ได้บอกเหตุผลชัดเจน แต่คาดว่าอาจเป็นเพราะระยะหลัง ลงพื้นที่น้อยลง ส่งไม้ต่อให้ "เศรษฐา" มากขึ้น เนื่องจากตัวเองต้องคลอด "น้องธาษิณ" อาจทำให้สปอตไลต์ฉายจับน้อยลง ทั้งที่เป็นช่วงไฮไลต์ของการหาเสียง 

ทำให้ประเด็นนี้น่าพิจารณาว่า กลยุทธ์เรียกคะแนนสงสารจากการตั้งครรภ์หรือท้องแก่ ประสบผลสำเร็จหรือไม่

3. "เศรษฐา" เหมือนยางแตก คะแนนนิยมไม่วิ่งขึ้นตามที่คาด ทั้งๆ ที่ได้แสดงบทบาทลงพื้นที่เยอะมาก พร้อมให้สัมภาษณ์ถี่ยิบ ตอบสื่อทุกคำถาม เสมือนเป็น "นายกฯตัวจริง" แล้ว 

มีเสียงบ่นที่ไม่ได้อยู่ในนิด้าโพล แต่เป็นเสียงบ่นที่ได้ยินกันทั่วไปว่า เนื่องจาก "เศรษฐา" ค่อนข้างหาเสียงในสไตล์กระแทกกระทบพรรคอื่น ตัวอย่างเช่นเรื่อง "กัญชาเสรี" ที่มีปัญหากับ"ภูมิใจไทย"จุดนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คะแนนนิยมนิ่งๆ 

4. ความนิยมของตัวแคนดิเดตนายกฯ ในภาพรวมของประเทศ แม้รวมคะแนนแคนดิเดตฯของเพื่อไทยทั้ง 2 คนก็ยังไม่ถึงร้อยละ 50 

5. การเปิดตัว "ชัยเกษม นิติสิริ" เป็นแคนดิเดตฯ คนที่ 3 เหมือนจังหวะไม่ดี ไม่ช่วยกระตุ้นคะแนนนิยมเลย 

6. "ลุงป้อม" ไม่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของโพลนี้ ร่วงไปอยู่กลุ่มเดียวกับ "หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม" พรรคไทยภักดี "กัญจนา ศิลปอาชา" ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาแล้ว 

7. "หมอชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อยู่กลุ่มเดียวกับ "ลุงป้อม"

8. "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เจ้าของวลี "ชังชาติไม่ต้องอยู่ในชาติไทย" คะแนนหลุด 10 อันดับด้วยเช่นกัน 

9.แคนดิเดตนายกฯที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น เทียบกับการสำรวจครั้งที่ 2 แถลงผล 16 เม.ย. มีเพียง 3 คน คือ "ทิม พิธา" "พล.อ.ประยุทธ์" และ "เศรษฐา" (แต่ขยับขึ้นน้อย) 

ประเด็นที่ 2 พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 

อันดับ 1 ร้อยละ 38.32 พรรคเพื่อไทย 

อันดับ 2 ร้อยละ 33.96 พรรคก้าวไกล 

อันดับ 3 ร้อยละ 12.08 พรรครวมไทยสร้างชาติ 

อันดับ 4 ร้อยละ 4.28 พรรคประชาธิปัตย์ 

อันดับ 5 ร้อยละ 2.92 พรรคภูมิใจไทย 

ข้อสังเกตในประเด็นที่ 2 

1.ความนิยม ส.ส.เขตของ "พรรคก้าวไกล" พุ่งสูงขึ้น แม้จะยังไม่แซงเพื่อไทย แต่ก็หายใจรดต้นคอ

โดยผลสำรวจข้อนี้ แตกต่างจาก "เนชั่นโพล" ส่วนจะต่างอย่างไร รอฟังรายละเอียดวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งความแตกต่าง ทำให้แนววิเคราะห์เชิงลึกแตกต่างตามไปด้วย โดยเฉพาะชัยชนะในสนามเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของก้าวไกล 

2.เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 2 มีเพียง พรรคก้าวไกล และ"พรรครวมไทยสร้างชาติ" ที่ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในหัวข้อนี้ 

ประเด็นที่ 3 พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 

อันดับ 1 ร้อยละ 37.92 พรรคเพื่อไทย   

อันดับ 2 ร้อยละ 35.36 พรรคก้าวไกล 

อันดับ 3 ร้อยละ 12.84 พรรครวมไทยสร้างชาติ 

อันดับ 4 ร้อยละ 3.32 พรรคประชาธิปัตย์ 

อันดับ 5 ร้อยละ 2.36 พรรคภูมิใจไทย 

ข้อสังเกตในประเด็นที่ 3 คล้ายกับประเด็นที่ 2 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจครั้ง 2 พรรคที่คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นก็เป็น 2 พรรคเดียวกัน คือ ก้าวไกลกับรวมไทยสร้างชาติ 

ข้อสังเกตรวมของนิด้าโพล "ศึกเลือกตั้ง 2566" ครั้งที่ 3 

1.หากพิจารณาจากผลโพล จึงไม่แปลกที่ "อ.สุวิชา" จะวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล จะตัดคะแนนกันในสนามเลือกตั้ง ส.ส.เขต และอาจทำให้เกิด "พรรคที่สาม" หรือ "พรรคตาอยู่" คว้าพุงปลาไปกินในบางเขต เพราะก้าวไกลมาแรง แต่ไม่แรงพอที่จะแซงเพื่อไทย ทว่า ไปตัดคะแนนเพื่อไทยลง จนเพื่อไทยแพ้พรรคตาอยู่ที่ตามมาอันดับ 2 

2.ดูจากเปอร์เซ็นความนิยมทั้ง 3 หัวข้อ ที่สองพรรคหัวขบวนเสรีนิยมได้รับ จะพบว่าถ้าคิดตามสัดส่วน 100% สองพรรคนี้ ได้ ส.ส.รวมกันน่าจะเกินครึ่งสภา หรือเกิน 250 ที่นั่งอย่างแน่นอน

logoline