svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประธานกกต."ต้องตอบ "ชาญชัย" ทวงถามมาตรฐานตรวจสอบคุณสมบัติ"เลือกตั้ง"

27 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชาญชัย อิสระเสนารักษ์" ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก ปชป. ยื่นหนังสือ"ประธานกกต."ตรวจสอบกรณีที่กกต.ไม่ได้ประกาศให้เป็นผู้สมัครส.ส. ทั้งที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันผ่านการตรวจสอบตั้งแต่ปี62 แต่ปีนี้ทำไมไม่ผ่าน

27 เมษายน 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) "นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์" ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อประธานกกต.ตรวจสอบกรณีที่กกต.ไม่ได้ประกาศให้เป็นผู้สมัครส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กรณีถือหุ้นสื่อ

"นายชาญชัย" กล่าวว่า ขอให้กกต.ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2562  ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยผ่านการรับรองคุณสมบัติจากนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต จึงเป็นอำนาจของกกต.จังหวัดนครนายก ซึ่งไม่ได้รับรองตนเป็นผู้สมัคร 

ชาญชัย  อิสรเสนารักษ์   ผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  นครนายก

เนื่องจากมีคุณสมบัติต้องห้ามจากการถือหุ้นสื่อในบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็นผู้สมัครส.ส. ตามมาตรา 42(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

จึงเกิดความสงสัยในการทำงานของกกต.ว่า ถือหุ้นมาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่ปี 2562 ประธานกกต.จะรับรองคุณสมบัติของตนและไม่พบปัญหา แต่ในการเลือกตั้ง 2566 กกต.นครนายก กลับไม่รับรองตนเนื่องจากตนมีคุณสมบัติต้องห้ามจากการถือหุ้นดังกล่าว และหลังจากนั้นประธานกกต.ได้ตัดสิทธิตนลงรับสมัคร

โดยกกต.ใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติเพียง 1 คืน และตัดสิทธิทันที ซึ่งไม่ได้เรียกตนมาสอบถาม อย่างไรก็ตามการที่กกต.จะบอกว่าต้องเร่งรีบตัดสิทธิทันทีนั้นไม่จริง เพราะกกต.ยังมีอำนาจในการส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิหลังวันที่ 14 พ.ค. ได้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา "นายชาญชัย" เปิดเผยภายหลังการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่า ได้ยืนยันต่อศาลว่า ถือหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จากัด (มหาชน) หรือ (AIS) จำนวน 200 หุ้น นั้น ไม่มีอำนาจในการจัดการบริษัทดังกล่าว เป็นเพียงผู้ซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัททั้ง 2 คือ บ.อินโฟเทเลมีเดีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทาง กกต. กล่าวหาว่าเป็นสื่ออื่นใดทางอ้อม จนทำให้ถูกตัดสิทธิเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นสื่อสารมวลชนแต่อย่างใด

โดยบริษัทอินโฟฯ นั้น เป็นผู้ให้บริการด้านคอลเซ็นเตอร์ และโฆษณาออนไลน์ ส่วนบริษัทเยลโล เพจเจส ให้บริการสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และโฆษณาออนไลน์เป็นหลัก 

นายชาญชัยยังแจ้งว่า AIS เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น จะทำสื่ออื่น เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ก็ต้องมีการขอใบอนุญาตจากกฏหมายที่เกี่ยวข้องก่อน อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานว่า บริษัท AIS ไม่ได้ขออนุญาตทำสื่ออื่นใด อีกทั้งบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัทก็ไม่มีชื่ออยู่ในสารบบของการขออนุญาตทำสื่อจาก กสทช. แม้แต่บริษัทเดียว 

ทั้งนี้ศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30 น. 

 

logoline