svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐกิจท้องถิ่น" ชุมชนเข้มแข็งเชื่อมการแข่งขัน กรณีศึกษาที่"ดอยสะเก็ด"

16 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรณีศึกษาเศรษฐกิจอำเภอ "ดอยสะเก็ด" นับเป็นตัวอย่างระบบ"เศรษฐกิจท้องถิ่น"ที่มีทั้งเศรษฐกิจชุมชนอันเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการครองชีพของชาวบ้าน ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดยุทธศาสตร์ชาติความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับฟังสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและแผนฟื้นฟูภายหลังโควิด ในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจและการเมืองการปกครองสำคัญของภาคเหนือ 

ด้านหนึ่งรู้สึกได้ว่าในแวดวงนักวางแผนของเรายังขาดความเชื่อมโยงและกระบวนการถ่ายระดับของเป้าหมายตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน จากระดับชาติ(ส่วนกลาง)สู่พื้นที่ระดับพื้นที่(ภูมิภาค) จึงทำให้ผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายทำงานกันไปแบบไม่รู้ตำแหน่งและสถานะของจังหวัดตนในภาพใหญ่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  

ส่วนอีกด้านหนึ่งยังมองเห็นไม่ชัดว่า ราชการส่วนภูมิภาคในฐานะที่ต้องดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชนนั้น บทบาทของเศรษฐกิจฐานราก อันหมายรวมถึง เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่น และเศรษฐกิจครัวเรือนที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยตรง จะยืนอยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์และแผนของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะวัดผลสัมฤทธิ์หรือประเมินความก้าวหน้ากันด้วยวิธีใด 

ยิ่งเมื่อได้ฟังการนำเสนอของกลุ่มกิจการ"เชียงใหม่ศิลาดล" ศูนย์หัตถอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าป้อง และกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ จากอำเภอดอยสะเก็ด ยิ่งทำให้คณะของเราเริ่มหันไปสนใจความหมายและความสำคัญของเศรษฐกิจท้องถิ่นระดับอำเภอ ในฐานะเศรษฐกิจระดับเมืองเล็กและเมืองรอง

ขอบคุณภาพ จากเพจ เชียงใหม่ศิลาดล ด้วยเล็งเห็นว่าอันนี้น่าจะมีบทบาทเป็น "ข้อต่อ"สำคัญในการกระจายรายได้ ความมั่งคั่ง ความเจริญและการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ 

ในเบื้องต้นเราอาจแบ่งองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจจังหวัดเพื่อความเข้าใจ เป็น 3 ระดับ ส่วนระยะยาวอยากเห็นสถาบันทางวิชาการเข้ามาทำการศึกษาและพัฒนากรอบแนวคิดในเรื่องเหล่านี้ให้มีความชัดเจนจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์กันต่อไป ได้แก่ 

1) เศรษฐกิจทั่วไปของจังหวัด ในภาพรวมคือระบบเศรษฐกิจการแข่งขันเสรี มุ่งในด้านการเพิ่มตัวเลข GPP/GDP  เป็นเรื่องเกี่ยวกับเม็ดเงินการลงทุนจากภายนอกที่เข้ามาในจังหวัด รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ผลิตผลการเกษตรภาพรวม โรงงานแปรรูปการเกษตร ฐานบริการภาคเอกชน ศูนย์หรือสำนักงานสาขาของบรรษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวในระดับกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่

2) เศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ย่อยของจังหวัด มีขนาดที่ย่อมลงมาอยู่ในระดับเมืองรอง เมืองขนาดเล็ก หรือคิดง่ายๆก็ระดับอำเภอ เศรษฐกิจท้องถิ่นมีบทบาทต่อการกระจายรายได้ ความเจริญ ความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ ลักษณะส่วนใหญ่จะเป็นรายได้ผลผลิตการเกษตร การแปรรูปอาหาร หัตถอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว การกระจายสินค้าและบริการ  จำนวนและศักยภาพของหน่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)ในพื้นที่อาจถูกใช้เป็นตัวชี้วัดได้

3) เศรษฐกิจชุมชน เป็นระบบเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิต  มุ่งการอยู่ดีกินดี แก้ความยากจน มีสวัสดิการชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภาคภูมิใจ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมๆแล้วก็คือการมุ่งเป้าการพัฒนาไปที่ความสุขมวลรวมของชุมชนท้องถิ่น หรือ GDH (Gross Domestic Happiness)เป็นสำคัญ  ตัวชี้วัดได้แก่ จำนวนวิสาหกิจชุมชน ผลผลิต บริการและรายได้ของกลุ่ม รวมทั้งความรักสามัคคี คุณภาพชีวิต สุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี 

ดังกรณีศึกษาเศรษฐกิจอำเภอดอยสะเก็ดจึงนับเป็นตัวอย่างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีทั้งเศรษฐกิจชุมชนอันเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการครองชีพของชาวบ้าน ทั้งยังมีลักษณะของเศรษฐกิจมหภาค การท่องเที่ยวระดับกลุ่มก้อนที่สามารถแข็งขันได้อีกด้วย

ภาพจากเทศบาลดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

"ดอยสะเก็ด" เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด เป็นอำเภอที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจในลำดับต้นของจังหวัด เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญที่ผ่านจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดเชียงราย และเป็นที่ตั้งของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีพื้นที่ 671 ตร.กม. ประชากร 75,600 คน แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 14 ตำบล 112 หมู่บ้าน มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ในพื้นที่ 1 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 

"อำเภอดอยสะเก็ด" มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย ทั้งหมดล้วนเป็นฐานรองรับเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี อาทิ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, เขื่อนแม่กวงอุดมธารา สะพานแขวน สะพานข้ามช่องแคบเขื่อนแม่กวงอุดมธารากับบ้านป่าสักงาม,  วัดสันปูเลยสะหลีเวียงแก้ว 

ขอบคุณภาพ จากเพจ หนองบัวพระเจ้าหลวง

นอกจากนั้นยังมี หนองบัวพระเจ้าหลวง หนองน้ำธรรมชาติที่มีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเคยเป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศเดนมาร์ค  

อีกทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตดอยสะเก็ด,วัดพระธาตุดอยกู่ (ครูบาศรีวิชัย),โป่งน้ำร้อน,บ้านปางแดง ,น้ำตกห้วยหม้อ,น้ำตกป่าสัก,วัดพระบาทปางแฟน,สวนรุกขชาติดงเย็น, น้ำตกห้วยผาตีน และสวนพฤกษศาสตร์ทวีชลของภาคเอกชน
 

logoline