svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดอยสวรรค์แม่กำปอง" เศรษฐกิจฐานชุมชน โดยส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

01 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาพจำที่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์มุดป่าข้ามห้วยมาตรงบริเวณ"วัดแม่กำปอง" พระบรมฉายาลักษณ์กลายเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน ติดตั้งอยู่ที่ศาลาวัดหลังเดิม เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านมีสำนึกรักบ้าน รักป่า ณ ที่แห่งนี้ ชุมชน"บ้านแม่กำปอง"

เมื่อต้นปี คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขัน วุฒิสภา ได้ไปเยี่ยมชมกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่  

นอกจากสัมผัสภูมิประเทศที่งดงามของชุมชน น้ำตก ธารน้ำใสไหลริน ธรรมชาติร่มเย็น รวมทั้งทัศนียภาพที่น่าดื่มด่ำแล้ว ยังได้รับฟังเรื่องราวจากปากของผู้นำชุมชน ผู้เป็นต้นคิดและผู้ร่วมบุกเบิกสวรรค์บนดอยแห่งนี้

จังหวัดเชียงใหม่ มี 25 อำเภอ เป็นพื้นที่ป่าเขาร้อยละ 80  ประชากรที่อาศัยอยู่บนดอยจำนวนมากเป็นกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ แต่ที่ชุมชนแม่กำปองกลับเป็นชาวเวียง(ล้านนา)ที่อพยพขึ้นไปตั้งรกราก อยู่มานานกว่า 100 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำธาร ใกล้น้ำตก มีดอกกำปองสีเหลืองสดใสขึ้นอยู่เต็มลำห้วย 

ก่อนนั้นชาวบ้านมีอาชีพทำสวนเมี่ยงเป็นอาชีพหลัก  เมี่ยงคือใบชาที่หมักไว้ระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงนำมาใช้บริโภคด้วยการเคี้ยวเหมือนหมาก อมและดูดกลืน อาจผสมกับเกลือหรือน้ำตาล นิยมใช้บริโภคในชนบทภาคเหนือตอนบน  

เนื่องด้วยทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้ที่สมบูรณ์ สภาพอากาศเย็นสบายตลอดปี ดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ในระยะแรกที่ชุมชนยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลักลอบนำออกกล้วยไม้เฉพาะถิ่น และขยะมูลฝอย 

"ดอยสวรรค์แม่กำปอง" เศรษฐกิจฐานชุมชน โดยส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

ปี 2539 "นายธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์" (พ่อหลวงพรหมมินทร์) เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ เปิดหมู่บ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มเป็นหลักแสนบาท พ้นจากวงจร จน-โง่-เจ็บ และหมู่บ้านพัฒนาเร็วขึ้นจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในชุมชน

มีหลายประเด็นที่น่าศึกษา อาทิ

 ศักยภาพ  ปัจจุบันหมู่บ้านแม่กำปองมีคนรุ่นใหม่ทำกิจการบ้านพักให้บริการรวม 47 หลัง โฮมสเตย์ 19 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้มากสุดเกือบ 600 คนต่อวัน เปรียบเทียบประชากรหมู่บ้าน 348 คน 250 ครัวเรือนเท่านั้น ชุมชนใกล้เคียง 4-5 หมู่บ้านพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย  

นอกจากเจ้าของกิจการจะได้รับรายได้ทางตรงจากค่าที่พัก ค่าบริการอาหารแล้ว รายได้อีกส่วนหนึ่งรวมทั้งการแบ่งปันรายได้จากกิจการร้อยละ 20 ถูกจัดสรรเข้าระบบสหกรณ์และกองทุนต่างๆของชุมชน นำไปใช้จัดสวัสดิการสำหรับสมาชิกในชุมชนทุกคนและพัฒนาหมู่บ้านทุกด้าน นับเป็นตัวอย่างของ “ระบบเศรษฐกิจฐานชุมชนเข้มแข็ง” ขนานแท้  

 แรงบันดาลใจ  ปี 2524  มีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกเกิดขึ้นที่เชิงดอย  วันหนึ่งในหลวง ร.9 และพระราชินีทรงเสด็จฯมาที่นั่น และเลยขึ้นมายังหมู่บ้านแม่กำปอง  ภาพจำที่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์มุดป่าข้ามห้วยมาตรงบริเวณวัดแม่กำปอง พระบรมฉายาลักษณ์กลายเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน ติดตั้งอยู่ที่ศาลาวัดหลังเดิม เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านมีสำนึกรักบ้าน รักป่า 

ทรงสอนให้ทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เกษตรพอเพียง ให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกเข้ามาแจกต้นกล้ากาแฟพันธุ์อาราบิกา ปลูกใต้ต้นเมี่ยง สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โครงการหลวงแม่กำปองช่วยติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ 3 เครื่อง ผลิตกระแสไฟฟ้า 80 กิโลวัตต์ โดยจัดตั้งสหกรณ์ให้เป็นผู้จัดการเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้า นำไปบำรุง ซ่อมแซม และการดูแลต้นน้ำ 

 ธรรมนูญหมู่บ้าน  เป็นกติกาชุมชนที่ร่วมกันกำหนดขึ้น กลายเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นเอกภาพ ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย การอนุรักษ์อาคารสถานที่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจัดการความขัดแย้งภายใน 

นับเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง มิให้นายทุนเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ที่นี่ไม่มีการซื้อขายที่ดินให้แก่คนนอกหมู่บ้าน จำนวนร้านค้าและธุรกิจให้มีเท่าเดิม ห้ามไม่ให้รถ ATVเข้ามาจอดพัก ห้ามคนนอกเข้ามาสร้างที่พักหรือโฮมสเตย์  จัดสรรนักท่องเที่ยวเข้าพักด้วยระบบคิว  มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลาย  เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมสวนเมี่ยง สวนกาแฟ สวนสมุนไพร เล่นน้ำตก ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน แปรรูปเมี่ยง ทำกาแฟ ทำหมอนใบชา ทำอาหารท้องถิ่น และดูการผลิตไฟฟ้าชุมชนด้วยพลังน้ำ

• งานวิจัยท้องถิ่นนำหน้า  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนกระบวนการวิจัยโดยผู้นำชุมชนในหัวข้อ “รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืนแม่กำปอง”  มีครูใหญ่ของโรงเรียน กรรมการหมู่บ้านและนักวิชาการพี่เลี้ยงจาก สกว. นับตั้งแต่ปี 2543 มีพัฒนาการจากยุคเริ่มต้น สู่ยุคทอง และยุคการปรับตัว
พวกเขาใช้จุดเด่นความเป็นคนล้านนา มีวัฒนธรรมการกิน การอยู่ ภาษาพูดจา การแต่งกาย เป็นต้นทุนภูมิปัญญา มีโบราณสถาน ‘โบสถ์กลางน้ำ’ ของวัดกันธาพฤกษา นำมาขับเคลื่อนสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

• เผชิญหน้า แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ในอดีตเคยมีเอ็นจีโอเข้ามาแนะนำว่า หากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วจะเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ชุมชนจะถูกเปลี่ยนแปลง แต่แทนที่ชาวบ้านจะท้อถอย กลับคิดหาวิธีป้องกัน กำหนดให้กิจกรรมเดินป่าต้องมีไกด์ของหมู่บ้านเป็นผู้นำทาง ทรัพยากรธรรมชาติจึงได้รับการดูแลไปในตัว 

เมื่อชาวบ้านได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงรู้จักคำว่าอนุรักษ์ มีการทำแนวกันไฟได้อย่างหมดจด  อบรมแยกขยะ สร้างเตาเผาขยะ ขยะเปียกให้จัดการในครัวเรือน ส่วนรีไซเคิลมีคนมารับซื้อทุกอาทิตย์

logoline