svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปอกเปลือกนโยบาย"แจกเงินหมื่นประชาชน" ชี้ทำได้แต่ต้องระวังกดดันคลัง

09 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อนุสรณ์ ธรรมใจ"ชี้นโยบาย Digital Wallet โอน"เงินหมื่นประชาชน"ทำได้ ไม่เกิดปัญหา หากไม่กู้เงินเกินเพดาน ติดตามได้ในเจาะประเด็น "โพลิทิกส์พลัส"          

9 เมษายน 2566 รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง   เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะมีแรงกดดันทางการคลังและภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ขณะนี้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมดอยู่ที่ 10.72  ล้านล้านบาทคิดเป็น 61.13% ของจีดีพี หนี้สาธารณะก้อนนี้ยังไม่รวมภาระผูกพันทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยจากโครงการต่างๆของรัฐบาลรวมทั้งความเสียหายทางการเงินจากใช้มาตรการกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

จากข้อมูลล่าสุด พบว่า หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น 600 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเบิกจ่ายเงินกู้เพิ่ม 668 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐยังคงเพิ่มขึ้น 11,305 ล้านบาท หนี้กองทุนฟื้นฟูฯจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินปี 40 ยังทรงตัวอยู่ที่ 6.7 แสนล้านบาท

สถานการณ์หนี้สาธารณะของไทยภาพรวมยังอยู่ในภาวะที่ต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง  หากรัฐบาลใหม่สามารถทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 5-6% จะทำให้ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลง

กรณีการนำเสนอนโยบายโอนเงินผ่านดิจิทัล วอลเลต Digital Wallet จำนวน 5,000-10,000 บาทให้ประชาชนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นระยะเวลา 6 เดือน ประมาณ 50 ล้านคนนั้นถือเป็นนโยบายแจกเงินให้กับประชาชนโดยตรง แต่ได้ปิดจุดอ่อนของมาตรการแจกเงินที่เคยทำกันมาและบัตรสวัสดิการคนจน โดยการโอนเงินหรือแจกเงิน เป็น มาตรการ Income Transfer ให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือ ใช้บรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ Digital Wallet ได้ออกแบบให้ใช้ Token หรือ Digital Coin ในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร ทำให้แก้ปัญหารับเงินโอนจากรัฐแล้วเอาไปซื้อสินค้าในเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เม็ดเงินไม่กระจายมายังธุรกิจขนาดย่อมขนาดเล็ก

ปอกเปลือกนโยบาย\"แจกเงินหมื่นประชาชน\" ชี้ทำได้แต่ต้องระวังกดดันคลัง

การกำหนดรัศมีในการใช้ Token ทำให้ผลประโยชน์จากการใช้พุ่งตรงไปที่เครือข่ายร้านค้าชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการจ้างงานสาธารณะได้ดีกว่า

นอกจากนี้ยังสามารถใช้แอพลิเคชันในการหางานทำในชุมชน สามารถใช้แอพลิเคชันในการค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆเพื่อ Upskill Reskill และ สร้างทักษะความสามารถใหม่ New skill ได้ ระบบดิจิทัลผ่านแอพลิเคชันทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย กำกับประสิทธิภาพและประเมินผลนโยบายได้ดียิ่งขึ้น  

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ"อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  กล่าวอีกว่า Digital Wallet อยู่บนฐานคิดการกำหนดนโยบายจากฐานเรื่องสิทธิของประชาชนอันเป็นส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย มากกว่า ฐานคิดแบบสังคมสงเคราะห์ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์

อควรระวังของนโยบายลักษณะโอนเงินหรือแจกเงินไม่จะใช้ฐานคิดหรือวิธีการแบบไหน คือ หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้า ไม่สามารถจัดเก็บภาษีมาสนับสนุนได้มากพอและต้องก่อหนี้อาจเกิดความเสี่ยงทางการคลังได้

เนื่องจากนโยบายดิจิทัล วอตเลทเป็นมาตรการที่ใช้เม็ดเงินงบประมาณสูงถึง 2.5 - 5 แสนล้านบาท มาตรการนี้ประสบความสำเร็จโดยมีเงื่อนไขว่า อัตราความโน้มเอียงในการบริโภคของครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่ที่ประมาณ 0.7 และ ตัวทวีคูณทางการคลังอยู่ที่ 6 เท่า ก็จะทำให้มูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 5,000 บาท) และ เพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 10,000 บาท) ทำให้การตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 5-6% มีความเป็นไปได้

ปอกเปลือกนโยบาย\"แจกเงินหมื่นประชาชน\" ชี้ทำได้แต่ต้องระวังกดดันคลัง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องพยายามเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เพิ่มให้ได้อย่างน้อย 2 แสนล้านบาทและภาษีอื่นๆอีกอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท ทำให้การที่กู้เงินจำนวนมากๆมาสนับสนุนโครงการลดลง การกำหนดระยะเวลาในการใช้ไว้ที่ 6 เดือน หรือ Digital coin จะหมดอายุใน 6 เดือน คาดหวังว่าจะไม่เกิดตลาดรอง และ ไม่ควรสร้างปัญหาซับซ้อนต่อการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมปริมาณเงิน การดูแลปริมาณเงินเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติผ่านนโยบายการเงิน หากมีการโอนเงินซ้ำซ้อนต้องนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยจัดการ Digital Wallet ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการคนจนที่ให้ก่อนหน้านี้ 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กล่าวต่อถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดว่า ราคาน้ำมันอาจทดสอบระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งหนึ่งหลังโอเปคพลัสประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ประเทศนำเข้าน้ำมันและพลังงานอย่างไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอินเดียได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ ไทยอาจขาดดุลการค้าต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ลดลงมากอย่างที่คาดการณ์ไว้เดิม สร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคุมเงินเฟ้อตามเป้าหมาย และ ระบบเศรษฐกิจที่มีขีดจำกัดจากสัดส่วนหนี้สูง

มาตรการเข้มงวดทางการเงินอาจส่งผลต่อการชะลอตัวการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนได้ เงินเฟ้อจากราคาน้ำมันแพงระลอกใหม่ บาทแข็งจากเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าตลาดการเงินไทย เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ กระทบส่งออกไทย ส่อเค้าขยายตัวติดลบปีนี้ 
 

logoline