svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตา”สุพันธุ์ มงคลสุธี”แคนดิเดตนายกฯ ไทยสร้างไทย

01 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องโปรไฟล์ “สุพันธุ์ มงคลสุธี”นักธุรกิจหมื่นล้านสู่แคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทย ผู้อาสาแก้หนี้คนตัวเล็ก-ฟื้นฟู SME หลังพบคนไทยมีหนี้ครัวเรือน และ หนี้สาธารณะพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมตั้งเป้าเพิ่ม GDP ของ SMEs ให้ถึง 50% ใน3ปี

1 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่พรรคไทยสร้างไทยได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และมีมติเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยสร้างไทย  3 คน ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี และน.ต. ศิธา ทิวารี ทำให้สังคมให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมของแต่ละท่าน  โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์ และ น.ต.ศิธาหรือ "แด๊ดดี้ปุ่น" ที่ส่วนใหญ่รู้จักกันดีในวงการเมืองอยู่แล้ว แต่สำหรับนายสุพันธุ์ นั้นยังถือว่าเป็นแคนดิเดตหน้าใหม่ทางการเมืองที่น่าจับตามองคนหนึ่ง

 

ทั้งนี้นายสุพันธุ์ได้กล่าวถึงการตัดสินใจลงมาเล่นการเมืองครั้งนี้ว่า เป็นเพราะตนมาจากภาคเอกชน จึงมีความเข้าใจถึงความยากลำบากของการทำธุรกิจในไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เพราะตนมาจากรายย่อย จึงอยากจะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว กอปรกับเห็นว่าพรรคไทยสร้างไทยและคุณหญิงสุดารัตน์ มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนจึงตัดสินใจลงมาสู่สนามการเมือง 

"สิ่งที่ผมจะสามารถแสดงความจริงใจนั่นก็คือการเข้ามาแก้หนี้ให้กับคนไทย เพราะปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ หนี้สาธารณะก็สูงเช่นกัน นอกจากนี้ยังตั้งใจที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ไทย เพราะในโลกปัจจุบันที่เกิดสงครามการค้าระหว่างโลกสองขั้วจะทำให้ทุกประเทศต้องหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น และ SMEs เป็นคำตอบในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่ม GDP ของ SMEs ให้ถึง 50% ในสามปี "นายสุพันธุ์ระบุ

 

ทั้งนี้นายสุพันธุ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ที่ในแวดวงเศรษฐกิจเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึง 3 สมัย เคยเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(APEC Business Advisory Council: ABAC)  เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 ด้วยตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรม และเคยถูกทายทามให้เป็น ส.ว. แต่ปฏิเสธเพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือให้กับระบบโครงสร้างเดิมที่ทำเศรษฐกิจย่ำแย่จนถึงขั้นวิกฤติ

 

ในอดีตนายสุพันธุ์ เคยมีผลงานที่โดดเด่นเช่นการจัดหาวัคซีนโควิด -19 ให้บริษัทที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรม เป็นผู้เจรจาต่อรองให้เร่งนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานในบริษัทและโรงงาน หลังจากที่เกิดการระบาดขึ้นและวัคซีนยังไม่สามารถนำเข้าโดยเอกชนได้ต้องรอทั้ง อย. และภาครัฐ นายสุพันธุ์จึงร่วมเจรจาเพื่อเร่งการนำเข้าวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและไม่ต้องการให้เศรษฐกิจชะงัก

นอกจากนี้ยังเคยเป็นผู้ปลุกปั้นบริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) ที่เป็นบริษัทด้านสิ่งพิมพ์ และSecurity Printing ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ซินเน็ค(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าไอทีรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยทั้งสองบริษัทได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมความยั่งยืน และการคืนประโยชน์ให้สังคมระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยทั้งสองบริษัทมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านเครื่องเขียนเล็กๆ ที่ย่านสวนมะลิ 

 

ในแวดวงธุรกิจนายสุพันธุ์ ถือเป็นเจ้าพ่อคอนเน็กชัน เคยดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พ.ศ. 2557 - พ.ศ. 2559, พ.ศ. 2561 -  พ.ศ. 2563 และพ.ศ.2563 – พ.ศ.2565, ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council)(ABAC) พ.ศ. 2565, ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พ.ศ.2562 – พ.ศ.2564, กรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ พ.ศ.2562-พ.ศ.2566, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ.2562 – 2565, กรรมการสภาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559 – พ.ศ.2565, กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พ.ศ.2557 – พ.ศ. 2565, กรรมการธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2557 – พ.ศ.2560, กรรมการและที่ปรึกษาพิเศษศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ พ.ศ.2553 - พ.ศ.2554, ผู้พิพากษาสมทบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ.2544 - พ.ศ.2548 เป็นต้น

 

ส่วนด้านความรู้แล้ว นายสุพันธุ์ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยซิตี้ สหรัฐอเมริกา, วิทยาการจัดการบัณฑิต  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

 

logoline