svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เลือกตั้ง66" พลิกประวัติ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แคนดิเดตนายกฯ "รทสช."

10 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้ง66" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ของ รทสช. และเป็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ถือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของ"พรรครทสช."

"ปี 2565 ที่ผ่านมา ผมมีความยินดีที่จะขอประกาศให้เป็น “ปีแห่งชัยชนะ” ของชาวไทยทั้งประเทศ ด้วยความร่วมแรง ร่วมใจ เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งชาติ ไม่เพียงฟันฝ่า “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ทั้งโควิดและความขัดแย้งทางการเมือง-ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่เราสามารถพลิกโฉมประเทศไทย สู่ความเป็น "ประเทศที่มีบทบาทหลักในเวทีโลก"

เป็นคำกล่าวของ "พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566  ต้องการสื่อสารให้เห็นว่าเมื่อปี 2565  ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ภาวะทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ด้วยความมุ่งมั่นทำงานของรัฐบาลโดยพี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมแรงให้ความร่วมมือ ทำให้ประเทศสามารถเอาชนะวิกฤตร้ายของโลก มาได้ นอกจากนั้น รวมถึงพลิกฟื้นประเทศไทยมีบทบาทเวทีโลก อย่างน้อยเมื่อ18-19 พฤศจิกายน 65 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022  


อย่างไรก็ดี ปี 2566  จะเป็นอีกปีที่"พล.อ.ประยุทธ์" จะสามารถประกาศให้เป็นปีทองในเรื่องอะไรต่างๆก็คงขึ้นอยู่กับ"พล.อ.ประยุทธ์"อีกเช่นกัน ว่าจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่  

เนื่องจากอายุของสภาจะสิ้นสุดลงวันที่ 23 มีนาคม 2566 "พล.อ.ประยุทธ์" จะต้องประกาศยุบสภา เพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

"การเลือกตั้ง 66" ยังเป็นปีที่แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เนื่องจากครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯรัฐมนตรี ภายใต้การผลักดันของพรรคพลังประชารัฐ แต่ปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว ด้วยการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ  พร้อมกับเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรครทสช.   
 

พลิกประวัติ อดีตนายทหารชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" กับการเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง  เกิด 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ( อายุ 68 ปี )

๐ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12

๐ นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23

๐ หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51

๐ อดีตผู้บัญชาการทหารบก

๐ อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)
 

ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ.) วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557" พล.อ.ประยุทธ์" ได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)  ต่อกรณีการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้น ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “คสช.” ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

\"เลือกตั้ง66\" พลิกประวัติ \"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา\" แคนดิเดตนายกฯ \"รทสช.\"

จากนั้น ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 "พรรคพลังประชารัฐ" เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้รับคะแนนไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำวินิจฉัย 24 สิงหาคม 2565 ทำให้ พลเอกประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่เป็นนายกฯรักษาการณ์แทน ส่วนพลเอกประยุทธ์  ไปทำงานในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

\"เลือกตั้ง66\" พลิกประวัติ \"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา\" แคนดิเดตนายกฯ \"รทสช.\"
ในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ศาลตัดสินนายก 8 ปี ชี้ชะตา "พล.อ.ประยุทธ์" ยังไม่ครบ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2568

ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ของ รทสช. และเป็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ถือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของ รทสช.

 

สำหรับ"พล.อ.ประยุทธ์" แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท

เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ 102,317,152 บาท  ( เงินฝาก 6 บัญชี 58,967,022 บาท, เงินลงทุน 9 แห่ง 23,072,380 บาท, ที่ดิน 2 แปลง 2,284,750 บาท, โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 4 คัน 11.8 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 4 รายการ 4,193,000 บาท )

ส่วน"นางนราพร จันทร์โอชา" คู่สมรส มีทรัพย์สิน 26,347,382 บาท ( เงินฝาก 6 บัญชี 7,977,382 บาท, ที่ดิน 3 แปลง (1 แปลงร่วมกรรมสิทธิ์กับผู้อื่น) 5,350,000 บาท, โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 1 คัน 3.5 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 1 รายการ 7,520,000 บาท)

"พล.อ.ประยุทธ์" แจ้งต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (สมัยแรก) เมื่อปี 2557 ว่า พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา (บิดา) อายุ 89 ปี มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทในการขายที่ดิน (จากยอดการขาย 600 ล้านบาท) ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุตรชาย มีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดูแลเงินจำนวนนี้ ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องของผู้รับ

โดย "พล.อ.ประยุทธ์" ได้แบ่งเงินก้อนนี้ให้กับบุตรสาว 2 ราย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงพี่น้องรายอื่น ๆ (นายประคัลภ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ต.ประกายเพชร จันทร์โอชา)

ทั้งนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อปี 2564 พบว่า น.ส.ธัญญา จันทร์โอชา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา หรือพลอย-เพลิน บุตรสาว พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกันทำธุรกิจอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท พอว์พอว์ อีโคเพ็ท จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2561 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 3 / 66 หมู่บ้าน เศรษฐสิริ ประชาชื่น ถนนประชาชื่น ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การขายทิชชู่เปียกสำหรับสัตว์เลี้ยง

ปรากฏชื่อ นางสาววัฒนา เกษภู นางสาวธัญญา จันทร์โอชา นางสาวนิฏฐา จันทร์โอชา เป็นกรรมการ แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อ 30 เม.ย. 2562 น.ส.ธัญญา จันทร์โอชา ถือหุ้นใหญ่สุด 40 % น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา ถือ 35 % และ น.ส.วัฒนา เกษภู ถือ 25 % นำส่งงบการเงินเมื่อปี 2563

โดยมีสินทรัพย์รวม 706,925 บาท หนี้สินรวม 217,961 บาท ขาดทุนสะสม 11,036 บาท รายได้รวม 1,363,999 บาท รายจ่ายรวม 1,249,006 บาท กำไรสุทธิ 114,993 บาท

อย่างไรก็ตามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของพล.อ. ประยุทธ์ ในวันที่ 9 มิ.ย. 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจาก พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติไว้

โดยข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เปิดเผย แม้จะมีการร้องขอจากสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจเปิดเผย หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว และดำรงตำแหน่งต่อ ทำให้ได้ประโยชน์ตามมาตรา 105 วรรคสี่ ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 ซึ่งมิได้มีฐานะเดียวกันกับพระราชบัญญัติทั่วไปแต่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คือ กำหนดรายละเอียดโดยตรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

 

\"เลือกตั้ง66\" พลิกประวัติ \"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา\" แคนดิเดตนายกฯ \"รทสช.\"

logoline