svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดบทเรียน พรรคเทพ พรรคมาร “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร” สู่ดีลลับพรรคต่างขั้ว

21 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนเล่าเหตุการณ์การแบ่งขั้วกันระดับตำนาน ถอดบทเรียน “พรรคเทพ พรรคมาร” ที่สะท้อนให้เห็นสัจธรรมทางการเมืองว่า “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร”

หากย้อนกลับไปสัก 2 ปีก่อน ถ้าใครบอกว่า “พรรคเพื่อไทย” กับ “พลังประชารัฐ” จะจับมือกันตั้งรัฐบาล ก็อาจถูกถากถางยับ เพราะเป็นสิ่งที่สังคมรู้สึกว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” โดยช่วงเวลานั้น ก็เริ่มมีข่าวสะพัดเรื่องดีลลับของทั้ง 2 พรรค แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อ เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายต่างห่ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

โดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หรือ “บิ๊กป้อม” ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการโค่นอำนาจทักษิณ ตั้งแต่การรัฐประหาร ปี 2549 และในปี 2557 แก๊ง 3 ป. ที่มี “บิ๊กป้อม” เป็นพี่ใหญ่ ก็ครองอำนาจทางการเมืองไทยอย่างเบ็ดเสร็จ จากการโค่นอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แต่ในปี 2566 ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น กลับกลายเป็นว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า "พรรคเพื่อไทย" กับ "พรรคพลังประชารัฐ" มีโอกาสจับมือกันตั้งรัฐบาล ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะออกมาปฏิเสธ แต่สังคมก็รู้สึกว่า สุ้มเสียงไม่ค่อยชัดเจนนัก

ซึ่งหากพูดถึงการแบ่งข้างในตำนาน ก็ต้องยกให้การแบ่งขั้ว “พรรคเทพ พรรคมาร” โดยผู้เขียนเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความที่ชื่อว่า “ย้อนรอยพรรคเทพ พรรคมาร กับการผสมข้ามสายพันธุ์ทางการเมือง” ซึ่งจะขอนำมาเล่าสู่กันอีกครั้ง ดังต่อไปนี้

ในแวดวงการเมืองที่ “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” อะไรก็เกิดขึ้นได้ และการผสมข้ามสายพันธุ์ทางการเมืองก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งถ้าเอ่ยถึงการแบ่งขั้วที่โด่งดังที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ก็ต้องยกให้หลังการเลือกตั้ง ปี 2535 ที่มีการแบ่งข้างกันเป็น “พรรคเทพ พรรคมาร” ก่อนเลือนรางไปตามกาลเวลา

ถอดบทเรียน พรรคเทพ พรรคมาร “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร” สู่ดีลลับพรรคต่างขั้ว

บทความที่น่าสนใจ

รสช. รัฐประหาร โค่นอำนาจรัฐบาลชาติชาย

“พรรคเทพ พรรคมาร” ในการเมืองไทย มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารของ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช." ในปี 2534 ที่โค่นอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยแกนนำสำคัญประกอบด้วย

1. “พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะ

2. “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าคณะ

3. “พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล” ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะ

4. “พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี” รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะ

หลังรัฐประหารสำเร็จ คณะ รสช. ก็ส่งเทียบเชิญให้ "นายอานันท์ ปันยารชุน" เป็นนายกฯ และได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ผลปรากฏว่า "พรรคสามัคคีธรรม" ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นพรรคที่ก่อตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับ รสช. ได้ ส.ส. มากที่สุด จำนวน 79 คน  จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย 5 พรรค ได้แก่

1. พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง)

2. พรรคชาติไทย (74 เสียง)

3. พรรคกิจสังคม (31 เสียง)

4. พรรคประชากรไทย (7 เสียง)

5. พรรคราษฎร (4 เสียง)

ถอดบทเรียน พรรคเทพ พรรคมาร “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร” สู่ดีลลับพรรคต่างขั้ว

ประชาชน รับไม่ได้ รสช. สืบทอดอำนาจ สุจินดา ขึ้นเป็นนายกฯ

ก่อนการเลือกตั้ง "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่มีแผนในการสืบทอดอำนาจ และยืนยันว่า ตนเองจะไม่เป็นนายกฯ อย่างเด็ดขาด

ซึ่งเมื่อผลเลือกตั้งออกมา “พรรคสามัคคีธรรม” ที่ รสช. สนับสนุน ได้คะแนนเสียงมากที่สุด "นายณรงค์ วงศ์วรรณ" ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็กลายเป็น “ว่าที่นายกฯ”

แต่แล้วก็มีข่าวออกมาว่า สหรัฐฯ เคยปฏิเสธออกวีซ่าให้กับ "นายณรงค์" เนื่องจากสงสัยว่า พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งต่อมามีการยืนยันจาก "นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ในเวลานั้น) ว่า “นายณรงค์” ถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

พรรคร่วมรัฐบาลจึงเสนอชื่อ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" เป็นนายกฯ ซึ่ง “พล.อ.สุจินดา” ก็ได้แถลงทั้งน้ำตาว่า "จำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ รับตำแหน่งนายกฯ" ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้น เพราะการรับตำแหน่งนายกฯ ของ “พล.อ.สุจินดา” คือการแสดงให้เห็นถึงความต้องการสืบทอดอำนาจขอ รสช.

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

การแบ่งข้างทางการเมือง

จากการสืบทอดอำนาจดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองส่วนหนึ่ง ประกาศต่อต้าน โดยมีทั้งสิ้น 4 พรรค ดังนี้

1. พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง)

2. พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง)

3. พรรคพลังธรรม (41 เสียง)

4. พรรคเอกภาพ (6 เสียง)

ทำให้ทั้ง 4 พรรคได้รับการตั้งฉายาจากสื่อมวลชนว่า “พรรคเทพ” ส่วน 5 พรรคที่สนับสนุน “พล.อ.สุจินดา” เป็นนายกฯ ก็ได้รับการตั้งฉายาจากสื่อมวลชนว่า “พรรคมาร” ประกอบด้วย

1. พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง)

2. พรรคชาติไทย (74 เสียง)

3. พรรคกิจสังคม (31 เสียง)

4. พรรคประชากรไทย (7 เสียง)

5. พรรคราษฎร (4 เสียง)

้เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

“พฤษภาทมิฬ” ชัยชนะของประชาชน ที่แลกมาด้วยเลือดและน้ำตา

การรับตำแหน่งนายกฯ ของ “พล.อ.สุจินดา” นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านของประชาชน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และมี “พรรคเทพ” ทั้ง 4 ร่วมคัดค้าน โดยมี 2 ข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ

1. ให้ "พล.อ.สุจินดา" ลาออกจากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

2. ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

การชุมนุมประท้วงเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2535 หน้ารัฐสภา แบบปักหลักยาวนาน ก่อนเคลื่อนขบวนมาที่ท้องสนามหลวง โดยในวันนที่ 17 พฤษภาคม กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวง เพื่อไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดและเกิดการปะทะกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 18 พฤษภาคม จับกุมแกนนำคนสำคัญ รวมถึง "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" และผู้ชุมนุมจำนวนมาก

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีผู้เสียชีวิต 44 ราย และบาดเจ็บ 1,728 คน เป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมือง โดย พล.อ.สุจินดา ได้ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในที่สุด

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

อาทิตย์ ถอดชนวนระเบิด ลดอุณหภูมิเดือดของประเทศ

หลังจาก "พล.อ.สุจินดา" ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 5 พรรคร่วมรัฐบาลที่ถูกตั้งฉายาว่า “พรรคมาร” ก็ได้เสนอชื่อ "พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์" หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกฯ

แต่ "นายอาทิตย์ อุไรรัตน์" รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ตัดสินใจนำชื่อ "นายอานันท์ ปันยารชุน" ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลดอุณหภูมิร้อนแรงทางการเมือง เมื่อ “นายอานันนท์” เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ อีกวาระ ก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 13 กันยายน 2535

ถอดบทเรียน พรรคเทพ พรรคมาร “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร” สู่ดีลลับพรรคต่างขั้ว

“พรรคเทพ พรรคมาร” สู่สัจธรรมทางการเมือง “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร”

การเลือกตั้งปี 2535 / 2 พรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 1 และได้จัดตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรคเทพ + 1 พรรคมาร ประกอบดัวย พรรคประชาธิปัตย์ , พรรคความหวังใหม่ , พรรคพลังธรรม , พรรคเอกภาพ และอีกหนึ่ง “พรรคมาร” นั่นก็คือ พรรคกิจสังคม

"นายชวน หลีกภัย" นายกฯ ณ วันนั้น ได้ประกาศยุบสภาในปี 2538 การเลือกตั้งครั้งต่อมาปรากฏว่า "พรรคชาติไทย" หนึ่งใน "พรรคมาร" จากการตั้งฉายาของสื่อมวลชน เมื่อปี 2535 ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้ "นายบรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกฯ  

โดยในเวลานั้นความเป็น “พรรคเทพ พรรคมาร” ได้เลือนหายไปสิ้นตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา  รัฐบาลชุดดังกล่าวจึงมีการผสมปนเปกันไป ทั้งฝั่งเทพฝั่งมาร โดยมีพรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม อดีตพรรคเทพ เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ “การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” แม้วันนี้จะอยู่กันคนละข้าง ห่ำหั่นกันแทบเป็นแทบตาย แต่วันข้างหน้าอาจอินเลิฟกลายเป็นพวกเดียวกัน แบบทำเอาประชาชนงงงันกันทั้งประเทศ

ที่มา ย้อนรอยพรรคเทพ พรรคมาร กับการผสมข้ามสายพันธุ์ ทางการเมือง โดยศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม

logoline