svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โพลเผยปชช.ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นพรรคการเมือง พบกทม.ซื้อเสียงมากสุด

18 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันพระปกเกล้า เปิดผลสำรวจ“วัดอุณหภูมิประชาธิปไตยไทย” พบความคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นพรรคการเมือง ส่วนพรรคที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดคือ ประชาธิปัตย์

สถาบันพระปกเกล้าฯ โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบัน อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา และ คุณรัชวดี แสงมะหะหมัด จากสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดทำโพลขึ้น โดยมีพื้นฐานจากโครงการวิจัยเพื่อวัดระดับประชาธิปไตยของเอเชีย หรือ Asian Barometer ซึ่งสำรวจมาแล้ว 6 ครั้งในรอบ 20 ปี และอัพเดตล่าสุด เปิดเผยกับ “รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี” โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการสุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติที่สมบูรณ์ในช่วงปลายปี 65 

 โดยประเด็นที่ทำการสำรวจเน้นที่ตัวพรรคการเมืองในแง่มุมต่างๆ พบผลสำรวจในภาพรวม 

1.ภูมิภาคที่คนไทยมีความเชื่อมั่นพรรคการเมืองโดยรวมสูง คือ ภาคกลาง ตามด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือตามลาดับ ขณะที่พื้นที่ที่ประชาชนลังเลที่จะตอบสูงสุดคือ กทม.  คนอีสานชัดเจนมากในการเลือกตั้ง คนส่วนหนึ่งของประเทศยังลังเลที่จะตอบ 

2.ความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมือง ในภาพรวมระดับประเทศ คนไทยร้อยละ 22.3 ตอบว่ามีความเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 71.3 ตอบว่าไม่มีความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมือง ปฏิเสธที่จะตอบ ร้อยละ 2.4 ไม่เลือกไม่สนใจ ร้อยละ 4  และร้อยละ 2.1 ตอบเชื่อมั่นมาก 

3.แยกเป็นรายพื้นที่ เป็นภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองต่ำที่สุด คือร้อยละ 8.8 มีเพียงร้อยละ 1 ที่บอกว่าเชื่อมั่นมาก ขณะที่ไม่เชื่อมั่น ถึงร้อยละ 62.8 และร้อยละ 41.2 ที่ตอบว่าไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 12.7 ปฏิเสธที่จะตอบ
ร้อยละ 15.7 ไม่เลือก ไม่สนใจ

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา

ภาคกลาง เป็นพื้นที่ที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองสูงที่สุด คือ ร้อยละ 30.1 
ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 63.2  ปฏิเสธที่จะตอบ ร้อยละ 1.3 ไม่เลือก ไม่สนใจ ร้อยละ 5.4

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลำดับ 2 ที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมือง คือ ร้อยละ 22.9 แต่ระดับความไม่เชื่อมั่นกลับสูงสุด คือ ร้อยละ 77.1 แต่คนอีสาน ไม่มีใครปฏิเสธที่จะตอบ และสนใจการเมืองมาก ไม่มีใครตอบว่าไม่เลือก ไม่สนใจ 

ภาคใต้ ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมือง ร้อยละ 19.9  ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 70.9 ปฏิเสธที่จะตอบ ร้อยละ 5 และไม่เลือก ไม่สนใจ ร้อยละ 4.2 

ภาคเหนือ เป็นภาคที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองน้อยเป็นลำดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ คือร้อยละ 17.6 ไม่เชื่อมั่นก็สูงลำดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 73.2   ปฏิเสธที่จะตอบ ร้อยละ 1.9  ไม่เลือก ไม่สนใจ ร้อยละ 7.3 

4.ความใกล้ชิดพรรคการเมือง 

ชัดเจนมากว่าภาคใต้ คนใต้ใกล้ชิดประชาธิปัตย์มากที่สุด ส่วนภาคอีสาน คนอีสานรู้สึกใกล้ชิดพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ คนไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ รู้สึกใกล้ชิดพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคอื่น 

โพลเผยปชช.ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นพรรคการเมือง พบกทม.ซื้อเสียงมากสุด

ข้อมูลรายพรรค 

ประชาธิปัตย์ - ความใกล้ชิด 

กทม.  ร้อยละ 3.8 
เหนือ  ร้อยละ 1.9 
อีสาน  ร้อยละ 2.2 
กลาง  ร้อยละ 5.4 
ใต้  ร้อยละ 29.8 


เพื่อไทย 

กทม.  ร้อยละ 21.6
เหนือ  ร้อยละ 9.5 
อีสาน   ร้อยละ 13.3 
กลาง  ร้อยละ 19.9 
ใต้   ร้อยละ 3.1 

พลังประชารัฐ 

กทม.  ร้อยละ 2.9 
เหนือ  ร้อยละ 2.9 
อีสาน  ร้อยละ 3.1 
กลาง  ร้อยละ 9.3 
ใต้  ร้อยละ 4.3 

ก้าวไกล 

กทม.  ร้อยละ 2.9 
เหนือ  ร้อยละ 5 
อีสาน  ร้อยละ 3.9 
กลาง  ร้อยละ 8.7 
ใต้  ร้อยละ 1.9 

ชาติไทยพัฒนา 

กทม.  ร้อยละ 1 
เหนือ   0 
อีสาน  ร้อยละ 0.2 
กลาง  ร้อยละ 0.6 
ใต้  ร้อยละ 1.9 

สร้างอนาคตไทย (ตัวอย่างพรรคเกิดใหม่) 

กทม.   ร้อยละ 1 
เหนือ   0
อีสาน   0 
กลาง   ร้อยละ 1 
ใต้  ร้อยละ 1.9 

ที่น่าสนใจก็คือ ประชาชนทุกภาคของประเทศ เกินร้อยละ 55 ที่ตอบว่า ไม่รู้สึกใกล้ชิดพรรคการเมืองใดเลย  


5.พฤติกรรมการไปเลือกตั้ง (ให้ผู้ตอบแบบสอบถามนึกย้อนหลังตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก)

คน กทม. มีสถิติไปเลือกตั้งทุกครั้ง  น้อยที่สุดในประเทศ คือ ร้อยละ 26 รองลงมาคือคนใต้ ร้อยละ 62.4  คนภาคกลาง ร้อยละ 79.2  คนเหนือ ร้อยละ 83.8 คนอีสาน ไปเลือกตั้งทุกครั้งมากที่สุด ร้อยละ 89.8

ภาพรวมทั้งประเทศสูงถึง ร้อยละ 77.8 

สำหรับคนที่ตอบว่า “ไปเกือบทุกครั้ง” คนกทม. สูงสุด ร้อยละ 45.5 รองลงมา คือ คนใต้ ร้อยละ 24.2 คนภาคกลาง ร้อยละ 15.2 คนเหนือ ร้อยละ 14.1 และคนอีสาน ร้อยละ 7.4

ภาพรวมทั้งประเทศ ร้อยละ 15.6 

คนที่ตอบว่า “ไปเลือกตั้งบางครั้ง” กทม.สูงสุดเช่นกัน ร้อยละ 28.6 รองลงมาคือภาคใต้ ร้อยละ 10.7 ภาคกลาง ร้อยละ 3.3 ภาคอีสาน ร้อยละ 1.3 และภาคเหนือ ร้อยละ 0.5 

ภาพรวมทั้งประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 4.9 

ส่วนคนที่ตอบว่า “ไม่เคยไปเลือกตั้ง” ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯที่ไปเลือกตั้งทุกครั้งน้อยที่สุด กลับไม่มีใครตอบว่าไม่เคยไปเลือกตั้งเลย 

ส่วนคนเหนือ ไม่เคยไปร้อยละ 1.6 คนอีสาน ร้อยละ 1.5 คนภาคกลาง ร้อยละ 2.3 และคนใต้ ร้อยละ 2.7 

ภาพรวมทั้งประเทศของคนไม่เคยไปเลือกตั้งเลย อยู่ที่ร้อยละ 1.8 


6.ประสบการณ์โดนซื้อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเงินสด อาหาร ของขวัญ หรือสิ่งของอื่นใดเพื่อแลกกับการลงคะแนนให้ ไม่น่าเชื่อว่า พื้นที่ที่คนมีประสบการณ์โดนซื้อเสียงบ่อยที่สุด คือ กทม. ร้อยละ 19.6 รองลงมาคือ อีสาน ร้อยละ 19.5 คนใต้ ร้อยละ 15.5 ภาคกลาง ร้อยละ 8 ภาคเหนือ ร้อยละ 6.7 ภาพรวมทั้งประเทศ ร้อยละ 13.8 เท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่การซื้อเสียงเป็นปัญหาใหญ่ที่เรารับรู้กันมาเนิ่นนาน คู่กับการเลือกตั้งเลยก็ว่าได้

สำหรับคนที่ตอบว่า “มีประสบการณ์บางครั้ง” สูงสุดเป็นคนใต้ ร้อยละ 40.4 
รองลงมาคือ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 30.4 
คนอีสาน ร้อยละ 39.5 
คนภาคกลาง ร้อยละ 32.7 
คนเหนือ ร้อยละ 17.1 
ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 33.2 

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ “คนไม่เคยมีประสบการณ์ถูกซื้อเสียงเลย” 
คนเหนือ มากที่สุด ร้อยละ 68.1 
รองลงมาคือคนภาคกลาง ร้อยละ 52.2 
คนอีสาน ร้อยละ 37.1 
คนใต้ ร้อยละ 34.2 
คนกทม.​ร้อยละ 24.5 
ภาพรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 45 

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกข้อมูลหนึ่ง คือ คนที่ตอบว่า “ไม่ขอตอบ” (เหมือนต้องการเก็บประสบการณ์เป็นความลับ อาจจะกลัวผิดกฎหมาย) 
คนกรุงเทพฯ มากที่สุด ร้อยละ 11.8 
คนใต้ รองลงมา ร้อยละ 6.2 
คนเหนือ กับคนภาคกลาง เท่ากัน ร้อยละ 2.9 
คนอีสาน ไม่มีใคร “ไม่ขอตอบ” 

7.คะแนนความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันพรรคการเมือง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 

ยุคที่ความเชื่อมั่นต่ำสุด คือ ยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 26.1 รองลงมาคือยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต่อ คสช. ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 29.0 ที่น่าตกใจก็คือ ยุคปัจจุบัน ปี 2565 ความเชื่อมั่นต่อสถาบันพรรคการเมือง ต่ำสุดลำดับที่ 3 คือร้อยละ 31.9 ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

logoline