svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปชป. ชำแหละ! กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว คนรวยทำผิดไม่ติดคุก?

22 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วงเสวนา ปชป. ชี้ เงินและอำนาจ ทำกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวช่วยคนรวยทำผิดไม่ติดคุก แนะการเมืองต้องไม่แทรกแซงแต่งตั้งตำรวจ ใช้ระบบอาวุโสและคุณธรรมส่งเสริมคนดี

22 มกราคม 2566 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา "รวยแล้วทำผิด!! ไม่ติดคุก??”  โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ  มือปราบหูดำ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล / พล.ต.ต.อภิชัย ศรีโสภิต อดีตรองผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ “กัปตันไมเคิล” / นายพันธุ์พิสุทธิ์ นุราช นักการเมืองรุ่นใหม่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ / ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวเปิดงานเสวนาโดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า หากพูดอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นได้ว่าคนรวยทำผิดบางคนก็ติดคุก นักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็ยังติดคุก แต่การตั้งคำถามว่าทำไมคนรวยทำผิดไม่ติดคุก 


นายองอาจ คล้ามไพบูลย์

เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกรณีซึ่งเป็นคนรวย มีฐานะทางเศรษฐกิจกระทำความผิดแต่มีการช่วยเหลือ ซึ่งหลายคดียังเป็นข้อกังขาของคนในสังคม เช่นกรณี “ทุนจีนสีเทา” ทำให้สังคมไทยฉุกคิดว่าคนรวยสามารถกระทำความผิดและรอดได้ เพราะมีช่องทางการช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้มีกระบวนการพูดคุยหาทางออกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

พล.ต.ต.วิชัย ในฐานะที่รับราชการตำรวจมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า ทุกสถาบันผลิตบุคลากรให้เป็นคนดีช่วยเหลือชาติบ้านเมือง องค์กรตำรวจก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเข้าสู่การทำงานจริงต้องพบเจอปัจจัยภายนอก 3 ประการทำให้ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ คือ 1.สายบังคับบัญชา 2.สังคมที่เปลี่ยนไป 3.โซเชียลมีเดียที่จับจ้องตำรวจ หลายคดีที่ผ่านมาตำรวจตกเป็นเป้า 

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ

ประชาชนตรวจสอบกระบวนการทำงานของตำรวจมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าผู้กระทำผิดเป็นคนรวย จะยิ่งถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น เช่นกรณีเสี่ยเบนท์ลีย์ที่ทำให้สังคมมองว่ากระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เนื่องจากคนรวยมีทนายความ มีเงินไปต่อสู้ รัฐเอื้อประโยชน์ ในขณะที่คนจนไม่มี  

“ตำรวจต้องยึดหลักความถูกต้อง ประชาชนก็จะไม่เสื่อมศรัทธา และต่อว่าไม่ได้  กระบวนการยุติธรรมประกอบด้วย 4 ส่วนคือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดบิดเบี้ยว กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เกิด  ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง บ้านเมืองสงบต้องจบด้วยกระบวนการยุติธรรม”

ขณะที่ พล.ต.ต.อภิชัย อดีตรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ของตำรวจ กล่าวว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจมุ่งผลิตบุคลากรที่เป็นคนดี คนเก่ง สู่สังคม แต่ตำรวจถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะมีปัจจัยภายนอกแทรกแซงกระบวนการทำงาน  “ผมกล้าพูดว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนเก่งและดี ในแต่ละปีมีผู้สมัครสอบจำนวนหลักหมื่น แต่รับแค่ 300 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นคนเก่งระดับประเทศ แต่ตำรวจเป็นอาชีพเดียวที่ไม่ทราบอนาคตของเส้นทางการเติบโต เพราะต้องเจอกับระบบเส้นสาย โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าตำรวจไทยเก่งไม่แพ้ชาติอื่น มีตำรวจที่ดีมากมาย ขอเป็นกำลังใจให้ทำงานโดยยึดหลักความถูกต้อง ชัดเจน ตรงไปตรงมา อย่าให้ปัจจัยภายนอกเข้ามามีอำนาจเหนือกว่าหน้าที่โดยเฉพาะการเมือง ซึ่งเข้ามามีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทั้งสิ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 


ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย / พล.ต.ต.อภิชัย ศรีโสภิต / พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ / พันธ์พิสุทธิ์ นุราช
 

นายพันธุ์พิสุทธิ์  นักการเมืองรุ่นใหม่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า คนรวยที่สู้ตามกระบวนการยุติธรรมและติดคุกก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันตรวจสอบการทำงานของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นปาก เป็นเสียง กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ขับเคลื่อนสังคม ซึ่งอาจไม่เปลี่ยนได้ทั้งหมดในวันเดียว แต่ต้องลุกขึ้นมาทำเพื่อให้ค่อย ๆ หมดไป

“เราไม่สามารถทำให้คนรวยเหมือนกันหมด แต่เราต้องทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เคยพูดไว้เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงใช้ได้ถึงทุกวันนี้ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้ายึดหลักความถูกต้อง ประเทศจะเดินหน้าได้ ตำรวจไทยดี แต่ถูกระบบอุปถัมภ์กลืน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ประเทศจะเดินหน้าได้เมื่อฟันเฟืองหมุนไปพร้อมกัน ถ้าเฟืองตัวไหนเบี้ยวก็ไปไม่ได้ บ้านเราถูกปลูกฝังเรื่องระบบสังคมอุปถัมภ์มายาวนาน เด็กต้องเกรงใจผู้ใหญ่ เกรงใจผู้บังคับบัญชา นักการเมืองคนรุ่นใหม่ต้องทำให้คนในสังคมตระหนักว่ามันเป็นปัญหาและช่วยกันหาทางแก้ไขเพื่อให้ระบบสังคมอุปถัมภ์หายไป” 

ในขณะที่ นางดรุณวรรณ กล่าวเสริมว่า โซเชียลมีเดีย ช่วยให้เกิดการตรวจสอบ พลังของประชาชนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเสพข้อมูลข่าวสารต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ก่อนพิพากษากล่าวโทษผู้ใด และใช้โซเชียลมีเดียในแนวทางที่สร้างสรรค์ ไม่ตัดสินโดยปราศจากข้อมูล ข้อเท็จจริง การจะแก้ปัญหาเรื่องคนรวยทำผิดไม่ติดคุก ตัวผู้กระทำผิดที่ถูกมองว่ามีฐานะร่ำรวยก็ต้องมีจิตสำนึกด้วยเช่นกัน ที่จะไม่ใช้เงินมาคัดง้างกระบวนการยุติธรรม หากพิสูจน์ว่ากระทำผิดจริง ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ก็ต้องติดคุกด้วยกันทั้งนั้นโดยไม่มีข้อยกเว้น

logoline