svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ราคาน้ำมันสูงสุดรอบ 7 ปี กับวิกฤติน้ำในตลาดโลก

09 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ราคาน้ำมัน หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการกำหนดค่าครองชีพ เมื่อมีการปรับตัวของราคาน้ำมันหรือราคาพุ่งสูงขึ้นทำให้ผู้คนพากันตั้งคำถามต่อรัฐบาล แต่ในครั้งนี้ปัจจัยจากตลาดโลกก็เป็นประเด็นไม่แพ้กัน เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังสูงขึ้นจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น

          ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น หนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจสำคัญซ้ำเติมประเด็นค่าครองชีพ ทำให้คนจำนวนมากพากันพุ่งเป้าไปยังรัฐบาล คาดหวังให้ผู้นำและผู้บริหารประเทศแก้ไขปัญหา ก่อนได้รับคำตอบว่าคงไม่ง่ายเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูง จนอาจแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

 

          นั่นทำให้บรรดาผู้ประกอบการจำนวนมากพากันโอดครวญ จากต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงจนเริ่มต้องทยอยปรับตัว โดยเฉพาะภาคการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโดยตรงพากันออกมาเรียกร้อง ภายหลังต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

 

          หลายคนอาจพากันสงสัยว่าเหตุใดราคาน้ำมันจึงพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง แท้จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงผู้เล่นคนสำคัญในตลาดน้ำมันโลก กับอัตราการผลิตน้ำมันของแต่ละประเทศก่อนว่า มีความสำคัญและส่วนแบ่งทางการตลาดแค่ไหน
ราคาน้ำมันสูงสุดรอบ 7 ปี กับวิกฤติน้ำในตลาดโลก

อัตราการผลิตน้ำมันภายในตลาดโลก
          ประเทศที่ครองอันดับ 1 มายาวนานหลายปีคงต้องเริ่มต้นจาก สหรัฐฯ ที่อาศัยการขุดเอา เชลออยล์ ขึ้นมาใช้งาน ผลักดันราคาพลังงานในตลาดโลกให้ถูกลงเพื่อต่อกรกับกลุ่มประเทศ OPEC ทำให้บรรดาชาติมหาอำนาจที่ครองส่วนแบ่งการตลาดจนเขยิบขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายสำคัญ โดยผู้ผลิตน้ำมัน 5 อันดับแรกในตลาดโลก ได้แก่

  1. สหรัฐอเมริกา อัตราการผลิตน้ำมัน 18.61 ล้านบาร์เรล/วัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 20%
  2. ซาอุดีอาระเบีย อัตราการผลิตน้ำมัน 10.81 ล้านบาร์เรล/วัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 12%
  3. รัสเซีย อัตราการผลิตน้ำมัน 10.50 ล้านบาร์เรล/วัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 11%
  4. แคนาดา อัตราการผลิตน้ำมัน 5.23 ล้านบาร์เรล/วัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 6%
  5. จีน อัตราการผลิตน้ำมัน 4.86 ล้านบาร์เรล/วัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 5%

          แน่นอนว่านี่เป็นสถิติจากปี 2020 ทำให้อัตราการผลิตน้ำมันชะลอตัว แต่จะทำให้เราได้เห็นผู้เล่นรายสำคัญในตลาดได้โดยคร่าวว่า ในปัจจุบันประเทศที่เป็นแกนสำคัญในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน สามารถสร้างผลกระทบแก่ตลาดพลังงานมีประเทศใดบ้าง ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องหลังจากนี้ง่ายขึ้น

 

อัตราการบริโภคน้ำมันแต่ละประเทศ
          ภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคหลายประเทศ อัตราการบริโภคน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจาก 93.86 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงปลายปีอาจพุ่งสูงขึ้นจนอาจไปถึง 99.7 บาร์เวล/วัน เป็นอัตราการบริโภคระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่อยู่ที่ราว 100 ล้านบาร์เรล/วัน
ในจำนวนนี้ประเทศที่มีอัตราการบริโภคน้ำมันสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่

  1. สหรัฐอเมริกา อัตราบริโภค 19.69 ล้านบาร์เรล/วัน
  2. จีน อัตราบริโภค 11.75 ล้านบาร์เรล/วัน
  3. อินเดีย อัตราบริโภค 4.48 ล้านบาร์เรล/วัน
  4. ญี่ปุ่น อัตราบริโภค 4.02 ล้านบาร์เรล/วัน
  5. รัสเซีย อัตราบริโภค 3.23 ล้านบาร์เรล/วัน

 

สาเหตุการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
          ถือเป็นเรื่องที่มีสาเหตุจากหลายประเด็น เริ่มจากอย่างที่เรารู้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดหลายประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะคลี่คลาย มีการเปลี่ยนแนวคิดให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ผลักดันการใช้ชีวิตของประชาชนกลับมาเป็นปกติ อัตราการบริโภคน้ำมันจึงปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมราวร้อยละ 5
 

          ประเด็นที่สอง สภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน เนื่องจากบรรดาชาติตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาต่างเข้าสู่ฤดูหนาว ความต้องการใช้พลังงานจึงสูงขึ้นเพื่อรักษาความอบอุ่นในที่อยู่อาศัย อีกทั้งพายุหิมะรวมถึงปัญหาจากสภาพอากาศทำให้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งปิดทำการ สวนทางกับความต้องการเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง

          ประเด็นที่สาม กำลังการผลิตของ OPEC หรือกลุ่มประเทศสมาชิกผู้ส่งน้ำมันออก มีผลการประชุมออกมาไม่ราบรื่นนัก โดยจะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเพียงวันละ 4 แสนบาร์เรล/วัน ต่ำกว่าการขยายตัวของปริมาณการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และยังมีทีท่าว่าจะลดลงต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4 ของปี 2022 เลยทีเดียว

 

          ประเด็นที่สี่ หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากเป็นชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายสำคัญ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างสองชาติลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง นาโต้-สหรัฐฯ กับ รัสเซียการส่งพลังงานจึงขาดตอน ความขัดแย้งนี้ถือเป็นสาเหตุสำคัญในการถีบตัวของราคาน้ำมันโลก

 

          จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและยังคงไม่มีทีท่าจะคลี่คลายได้ในเร็ววัน
ภาพแผนที่ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน

ความพยายามแก้ปัญหาช่วงเวลาวิกฤติจากผู้นำนานาประเทศ
          แน่นอนว่าการพุ่งสูงของราคาน้ำมันไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนมากคาดหวัง หลายประเทศจึงเริ่มหาลู่ทางประนีประนอมเพื่อลดผลกระทบ ตั้งแต่การเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านในภาคพลังงาน ที่หากยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคพลังงานได้สำเร็จ อิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบหลายล้านบาร์เรลเพื่อคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันให้มากขึ้นในตลาดโลก

 

          อีกทั้งยังมีความพยายามเจรจาระหว่าง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินทางสู่รัสเซียเพื่อพบปะประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน หารือประเด็นด้านความขัดแย้งพรมแดนยูเครน เพื่อหาทางออกจากวิกฤติครั้งใหญ่ในยุโรปนับแต่ยุติสงครามเย็น โดยล่าสุดแนวโน้มการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีจากท่าทีการแสดงออกของผู้นำทั้งสองประเทศ

 

          นอกจากนี้ฤดูหนาวในยุโรปเองก็กำลังจะสิ้นสุดลงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือก็คือเรากำลังอยู่ช่วงปลายฤดูหนาวของยุโรป เมื่อผ่านพ้นฤดูหนาวความต้องการใช้พลังงานภายในยุโรปย่อมลดลง อาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำมันแพงที่เป็นอยู่

การหารือระหว่างประธานาธิบดีของสองประเทศ

          ฟังดูดีแต่ทั้งหมดเป็นเพียงแนวโน้มจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังหารือกับฝรั่งเศสเอง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯเองก็ยื่นคำขาดว่า หากมีรถถังหรือทหารของรัสเซียข้ามเขตแดนยูเครนมาแม้แต่นิดเดียว โครงการท่อส่งน้ำมันนอร์ดสตรีม 2 ของรัสเซียจะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

 

          นั่นทำให้เราต้องจับตามองต่อไปว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศในคราวนี้จะจบลงเช่นไร เนื่องจากการดำเนินนโยบายแต่ละประเทศจะส่งผลกระทบทั้งต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลกนับจากนี้ ส่วนเราคงได้แต่คาดหวังว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันมาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่

--------------------
ที่มา

logoline