svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

วิกฤตน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์: อุบัติเหตุจากความสะเพร่า สู่ภัยเรื้อรังทางธรรมชาติ

02 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น้ำมันรั่วไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องเล็กที่สามารถมองข้ามได้ แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความประมาทโดยฝีมือมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างความตระหนักในเรื่องเขตอุตสาหกรรมที่รุกล้ำธรรมชาติว่ามีผลเสียขนาดไหน?

          จากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว 400,000 ลิตรที่มาบตาพุด สิ่งมีชีวิตเริ่มได้รับผลกระทบจากความประมาทของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านๆมา ก็เคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลปริมาณมหาศาลเช่นกัน และผลกระทบที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่และเรื้อรังเกินกว่าที่เราจะสามารถคาดการณ์ได้
สงครามอ่าวเปอร์เซีย อภิมหาน้ำมันรั่ว สงครามอ่าวเปอร์เซีย อภิมหาน้ำมันรั่ว
          เหตุเกิด ณ ประเทศคูเวต ในยุคของ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย”  ปี พ.ศ. 2534  ซึ่งชนวนอภิมหาน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้มีที่มาจากทหารอิรักเริ่มถอนทัพออกจากประเทศคูเวต และต้องการขัดขวางกองทัพทหารอเมริกันไม่ให้โต้กลับได้เร็วจนเกินไป

 

          ทหารอิรักจึงได้เปิดวาล์วบ่อน้ำมันและท่อส่งน้ำมันจำนวน 600 บ่อ เพื่อเผาน้ำมันให้เป็นเปลวเพลิงสกัดการโต้กลับของกองทัพอเมริกัน ส่งผลให้น้ำมันดิบขนาดมหึมารั่วไหลลงอ่าวเปอร์เซียมากถึง 240-336 ล้านแกลลอน หรือราว 1,000-1,500 ล้านลิตร

 

          ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมีจำนวนมหาศาลครอบคลุมมากกว่าเกาะฮาวายทั้งเกาะ และใช้เวลานานกว่า 10 เดือนจึงจะสามารถดับไฟที่เผาไหม้โชดช่วงเหนือบ่อน้ำมันได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์น้ำมันรั่วที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
คราบน้ำมันจากการระเบิดของ Deepwater Horizon แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิด ครั้งใหญ่สุดของโลก
          แท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน (Deepwater Horizon)” โดยบริษัทบริติช ปริโตเลียม หรือที่เรียกย่อๆกันว่า “บีพี (BP)” แท่นขุดเจาะน้ำมันนี้ตั้งอยู่กลางอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งสหรัฐ ได้เกิดเหตุระเบิดในวันที่ ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553 ขณะที่คนงานกำลังขุดเจาะน้ำมันระดับความลึก 1,500 เมตร 

          โดยปมของการระเบิดในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการขุดเจาะน้ำมันที่ดำเนินงานล่าช้ากว่ากำหนดไว้ถึง 5 เดือน ซึ่งแต่ละวินาทีที่เลื่อนออกไปย่อมหมายถึงต้นทุนที่สะสมพอกพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันราคาน้ำมันโลกในขณะนั้นที่กำลังฟื้นตัว บีพี (BP) จึงเร่งกดดันการดำเนินงานขุดเจาะอย่างเต็มที่ จนมองข้ามความปลอดภัยไปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สัญญาณรอยรั่วในหลุม, ปัญหาแรงดันอากาศสูง และ อุปกรณ์ขาดการบำรุงรักษา

 

          จนกระทั่งก๊าซธรรมชาติที่ปะปนอยู่ถูกแรงดันผลักขึ้นมาด้านบนแท่นและทำปฏิกิริยากับอากาศ ส่งผลให้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง น้ำมันดิบทะลักออกมาสู่ท้องทะเลกว่า 60,000 บาร์เรลต่อวัน และไหลทะลักอยู่อย่างนั้นเนิ่นนานถึง 87 วัน ท้ายที่สุดน้ำมันทั้งหมดที่รั่วไหลสู่ทะเลมีปริมาณมากถึง 4,900,000 บาร์เรล คร่าชีวิตสัตว์น้ำไปจำนวนกว่าครึ่งแสนชีวิต

 

          เหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้ สร้างความระทึกและเป็นที่โจษจันต่อสายตาชาวโลกเป็นอย่างมาก จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฝั่งฮอลลีวู้ด นำแสดงโดย มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) ที่จะพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นบนแท่นขุดเจาะน้ำมันอันแสนโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
การระเบิดของบ่อน้ำมันอิท็อค-วัน (Ixtoc-1) การระเบิดของบ่อน้ำมันอิท็อค-วัน (Ixtoc-1) 
          ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2522 วันที่ 3 มิถุนายน บริเวณอ่าวแคมเปเช (Campeche) ประเทศเม็กซิโก บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเม็กซิโก ผู้ซึ่งครอบครองบ่อน้ำมันอิท็อค-วัน (Ixtoc-1 Oil Well) ได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้น หลังจากขุดเจาะน้ำมันได้ลึกเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น

 

          คาดกันว่าภายในบ่อได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการอัดแรงดันของน้ำโคลน เมื่อบริษัทตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยการดึงท่อน้ำมันออก ก๊าซและควันจำนวนมากจึงเกิดพุ่งทะลักตามขึ้นมาด้วย 

          รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบมหาศาลถึง 520 ล้านลิตร ที่ไหลออกมาอย่างไม่ขาดสายกินระยะเวลา 10 เดือน กว่าจะอุดรูรั่วดังกล่าวได้สำเร็จ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้อ่าวเม็กซิโกถูกเคลือบไปด้วยคราบน้ำมัน ความเสียหายเกิดเป็นมูลค่าสูงถึง 283.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าความเสียหายดังกล่าวไม่สามารถเทียบได้กับระบบนิเวศน์และชีวิตสัตว์น้ำที่สูญเสียไป

เรือบรรทุกน้ำมันแอตแลนติก เอ็มเพรส ชนประสานงา
เรือบรรทุกน้ำมันแอตแลนติก เอ็มเพรส ชนประสานงา
          อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกจารึกว่าเป็นวิกฤตน้ำมันรั่วลงทะเลครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 นอกชายฝั่งรัฐตรินิแดดและโตเบโก เมื่อเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ “แอตแลนติก เอ็มเพรส (Atlantic Empress)” เกิดชนประสานงาเข้าอย่างจังกับเรือเอเจียน กัปตัน (Aegean Captain)

 

          เหตุเนื่องจากทัศนวิสัยในวันนั้นถูกบดบังไปด้วยฝนฟ้าคะนองจากพายุขนาดใหญ่ เรือทั้งสองที่กำลังแล่นสวนกันจึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่าอีกฝ่ายกำลังมุ่งตรงเข้ามา การประสานงาเข้าอย่างจังก่อให้เกิดการระเบิดและเปลวไฟลุกโหมกระหน่ำ 

 

          แม้เรือเอเจียนจะสามารถดับไฟได้ในวันต่อมา แต่เปลวไฟบนเรือแอตแลนติก เอ็มเพรสยังโหมกระหน่ำอยู่แบบนั้นกว่า 1 สัปดาห์ ก่อนเกิดการระเบิดใหญ่ขึ้นอีกครั้งและจมดิ่งลงสู่ท้องทะเล ซึ่งจากการประเมินพบว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ท้องทะเลในเหตุการณ์นี้มีปริมาณมหาศาลกว่า 3 ล้านบาร์เรล มูลค่าความเสียหายกว่า 187 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลูกเรือของเรือแอตแลนติก เอ็มเพรสสูญหายไปกว่า 26 คน

ครอบครัวตัวนากเปื้อนคราบน้ำมันที่รั่วลงสู่ทะเล
วิกฤตน้ำมันรั่ว ผลกระทบระยะยาวที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์
          ในไทยเราเองก็มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลเกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าสาเหตุจะมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออุบัติเหตุ การที่น้ำมันดิบปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ทะเลย่อมส่งผลร้ายต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตเป็นวงกว้าง ปลาต่างๆจะเจริญเติบโตได้น้อยลง ระบบภายในร่างกายไม่ปกติ นกตามชายฝั่งหรือบริเวณใกล้เคียงที่หาอาหารก็จะได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปด้วย

 

          สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นาก หรือ พะยูน อาจตายได้จากภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ โลมาและวาฬที่ต้องหายใจติดน้ำมันเข้าไปด้วย อาจส่งผลกระทบต่อปอด ภูมิคุ้มกัน และระบบสืบพันธุ์

 

          นอกจากนี้คราบน้ำมันที่รั่วไหลยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชาวประมงไม่สามารถออกเรือได้ ทัศนียภาพบริเวณชายฝั่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแถมยังเคล้าไปด้วยกลิ่นเหม็น 

 

          ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราควรใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หน่วยงานใดๆหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการจัดการและแก้ไขปัญหาควรออกกฎหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่เข้มงวด เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต สุขภาพและระบบนิเวศน์ของไทยคงมีอันต้องสูญสลายก่อนเวลาอันสมควร

--------------------

อ้างอิง:

logoline