svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Did you know? MOLNUPIRAVIR กับ PAXLOVID ยาตัวไหนสู้โควิดได้ดีกว่ากัน?

10 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยาต้านไวรัสถือเป็นความหวังของคนทั่วโลกในการรับมือกับโรคโควิด-19 โดยปัจจุบันมีการคิดค้นขึ้นมาได้แล้ว 2 ตัว คือ โมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โควิด ยาสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างไร และแบบไหนดีกว่า ไปหาคำตอบกัน

          นับจากเริ่มต้นการระบาดทั่วโลกเราใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19มาแล้วเกือบ 2 ปี กับจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 213 ล้านคน และผู้เสียชีวิตอีก 4.4 ล้านราย ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกต่างหันมาค้นคว้าหาทางรับมือ เพื่อสยบโรคร้ายไม่ให้คร่าชีวิตของผู้คนมากไปกว่านี้

 

          นั่นทำให้เกิดการวิจัยสำหรับโควิด-19ขึ้นมาหลายชนิด ตั้งแต่วัคซีนประเภทต่างๆ ที่ทยอยเปิดตัวและอยู่ในระหว่างการวิจัยแต่นั่นยังไม่เพียงพอ แม้สามารถลดอัตราเจ็บป่วยหรือความร้ายแรงของโรคได้แต่มันทำได้เพียงป้องกัน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อปราบโควิด-19ให้อยู่หมัด ก่อเกิดเป็นการแข่งขันพัฒนายาหลากชนิดขึ้นมาจากทั่วโลก

 

          นอกจากวัคซีนแบบฉีดที่เริ่มทยอยได้รับกันทั่วทั้งประเทศ ปัจจุบันมีความพยายามในการคิดค้นวัคซีนแบบพ่นจมูกแทนการฉีดเข้าเส้นแบบเก่า อาจทำให้เกิดความไม่คุ้นชินในการใช้งานอยู่บ้าง แต่ผลการทดลองชี้ชัดว่าวัคซีนแบบพ่นจมูกมีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อจากทางเดินหายใจได้ดี ช่วยลดการกระจายของโรคตั้งแต่ต้นทาง

 

          นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการผลิตวัคซีนชนิดผงและเม็ดเพิ่มเติม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนอุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียส ช่วยให้การจัดเก็บหรือขนส่งตัวยาไปในสถานที่ต่างๆ ทำได้สะดวกขึ้น รวมถึงใช้งานง่ายไม่ต้องลำบากมารับวัคซีนจนต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อีกด้วย

 

          ทั้งหมดนี้กลับยังไม่เทียบเท่าการพัฒนายาต้านไวรัสขึ้นมาโดยเฉพาะ นี่อาจทำให้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากโรคร้ายคร่าชีวิตคนไปมากมายให้กลายเป็นแค่โรคประจำถิ่นทั่วไปคล้ายไข้หวัด ยาต้านไวรัสจึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก

          ปัจจุบันยาต้านไวรัสถูกประกาศความสำเร็จออกมา 2 ตัว นั่นคือ โมลนูพิราเวียร์(MOLNUPIRAVIR) และ แพกซ์โลวิด(PAXLOVID) วันนี้เราจะมาพูดถึงรายละเอียดของยาทั้ง 2 ชนิดนี้ว่ามีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
บริษัท Merck ผู้ผลิตโมลนูพิราเวียร์ 1. โมลนูพิราเวียร์(MOLNUPIRAVIR)
          ยาต้านไวรัสของบริษัทเมอร์ค(Merck)จากสหรัฐฯ ถือเป็นยาเม็ดชนิดแรกที่ประกาศความสำเร็จในด้านการผลิต โดยคุณสมบัติของมันคือการทำลายเอนไซม์ที่ไวรัสใช้ในการแบ่งตัว ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในรหัสพันธุกรรมของไวรัส ยับยั้งการแพร่พันธุ์ภายในร่างกายและทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายภายในร่างกาย

 

          ผลจากการทดลองในประชากร 775 คน ที่เพิ่งแสดงอาการออกมาไม่นานและมีอาการระดับต้นถึงกลาง โดยผู้ได้รับยาจริงจำนวน 385 คน อาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 28 คน คิดเป็น 7% ของทั้งหมด ไม่มีใครที่ได้รับยาเสียชีวิต ขณะที่ผู้ได้รับยาปลอม 377 คน ต้องเข้าโรงพยาบาล 53 คน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตในจำนวนนี้ 8 คน 

 

          จนเกิดเป็นข้อสรุปว่าโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดอัตราการป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลได้มากถึง 50%

 

          อย่างไรก็ตามโมลนูพิราเวียร์มีข้อจำกัดอยู่ ตัวยาจะแสดงผลได้ดีกับผู้ป่วยระยะเริ่มต้นหรืออาการปานกลาง  ในส่วนของผู้ป่วยอาการหนักกลับได้ผลการทดลองที่ไม่น่าพึงพอใจนัก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อตอนอาการยังไม่มาก

 

          จำนวนยาที่ต้องใช้ในแต่ละครั้งของยาชนิดนี้คือ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น กินต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน รวมทั้งหมด 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วยหนึ่งคน ปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้งานแค่ในสหราชอาณาจักร ส่วนในประเทศต้นทางอย่างสหรัฐฯกำลังพิจารณา เช่นเดียวกับในไทยที่อยู่ในขั้นตอนขอทะเบียนจาก อย.

บริษัท Pfizer ผู้ผลิตแพกซ์โลวิด

2. แพกซ์โลวิด(PAXLOVID)
          ยาชนิดนี้มาจากบริษัทที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง ไฟเซอร์(Pfizer) ตัวยาจะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส(Protease) ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายโปรตีนหนามของเชื้อโควิด-19ใช้ในการยึดเกาะและแพร่เชื้อไปตามส่วนต่างๆ ทั้งจมูก ลำคอ หรือปอด รวมถึงทำลายเอนไซม์จำเป็นที่ไวรัสใช้ในการแบ่งตัวแพร่พันธุ์

 

          จากการทดลองกับผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1,219 คนที่ติดโควิด-19ในระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน พบว่า ผู้ได้รับยาจริงอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 0.8% ขณะที่ผู้ได้รับหลอกอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลราว 7% และเสียชีวิตจากจำนวนนั้นรวมกัน 17 คน

 

          ทำให้ได้ข้อสรุปว่ายาแพกซ์โลวิดลดอัตราป่วยอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้มากถึง 85 – 89%

 

          ในส่วนแพกซ์โลวิดยังไม่มีข้อมูลการทดลองในผู้ป่วยอาการหนักเผยออกมา แต่ก็มีข้อจำกัดคือยาชนิดนี้ต้องใช้ร่วมกับ ริโทนาเวียร์(ritonavir) ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงกับระบบทางเดินอาหารและการดูดซึมยาชนิดอื่นได้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษ

 

          จำนวนยาที่ต้องใช้ในแต่ละครั้งของยาชนิดนี้คือ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น กินต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน รวมทั้งหมด 30 เม็ดสำหรับผู้ป่วยหนึ่งคน ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนยื่นข้อมูลให้ FDA เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่กรมการแพทย์ก็กำลังหารือในการนำยาตัวนี้มาใช้งาน

--------------------
ที่มา

logoline