svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

สงครามอวกาศ เมื่อเส้นชัยอยู่ที่ขอบฟ้าและการแตะดวงดาวของมนุษยชาติไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป

20 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภารกิจ SpaceX inspiration4 เมื่อการท่องอวกาศกลายเป็นธุรกิจ ย้อนประวัติศาสตร์การแย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐโดยมี ‘อวกาศ’ เป็นเดิมพัน จนมาสู่การแข่งขันระหว่างนักธุรกิจระดับอภิมหาเศรษฐี

Highlights

  • เรื่องราวความสำเร็จครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ กับโครงการ SpaceX inspiration4 ที่สามารถส่ง ‘คนธรรมดาสามัญ’ ไปท่องอวกาศยาวนานถึง 3 วันโดยไร้ซึ่งนักบินอวกาศมืออาชีพ
  • ย้อนไปดูสงครามแห่งอำนาจระหว่างรัฐต่อรัฐ - สหรัฐอเมริกา VS รัสเซีย กับการแข่งขันทางด้านการสำรวจอวกาศ จนทำให้มนุษย์สามารถเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ
  • สงครามอวกาศยุคใหม่ : เมื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมการสำรวจอวกาศอยู่ในเงื้อมมือนักธุรกิจระดับอภิมหาเศรษฐี จึงเกิดโมเดล ‘ธุรกิจอวกาศ’ ที่มีตั้งแต่ธุรกิจการท่องเที่ยว งานวิจัย จนถึงการสร้างอาณานิคมแห่งใหม่บนดาวอังคาร

--------------------

หนึ่งในคณะนักเดินทางกับห้องโดมที่สามารถมองวิวโดยรอบได้           คืนวันเสาร์ที่ 18 เมษายน ค.ศ.2021 ยานขนส่งอวกาศ SpaceX inspiration4 ได้กลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยโดยเลือกจุดลงจอดที่ชายฝั่งรัฐฟลอริดา  .. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ ‘มนุษยชาติ’ ตื่นตาตื่นใจกับก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์การเดินทางอวกาศ เพราะนี่คือครั้งแรกของทริปท่องเที่ยวอวกาศสำหรับ ‘ประชาชนคนธรรมดา’ ทั้งหมด 4 คน ที่ไร้ซึ่งนักบินอวกาศมืออาชีพคอยควบคุมยาน   โดยเป็นการเดินทางรอบโลกเป็นเวลา 3 วัน ด้วยความเร็ว 17,500 ไมล์ต่อชั่วโมงก่อนที่จะกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย

ภาพยาน SpaceX inspiration4

          ความสำเร็จของ SpaceX inspiration4 เป็นก้าวย่างที่สำคัญของธุรกิจขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ .. การลงจอดที่ปลอดภัยจุดแสงสว่างไสวให้กับธุรกิจ เพราะมันจะดึงดูดมหาเศรษฐีจากทั่วโลก ผู้มีความฝันอยากจะเดินทางไปนอกโลกสักครั้งหนึ่งในชีวิต ‘จ่าย’ เพื่อการท่องเที่ยวทริปสุดมหัศจรรย์นี้  ส่วน ‘ประชาชนคนธรรมดา’ นั้นแทบจะไม่มีสิทธิได้เดินทางไปเพราะค่าใช้ต่อทริปมีมูลค่าสูงกว่า 600 ล้านบาท เรียกได้ว่าสูงที่สุดในบรรดาการท่องเที่ยวทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นบนโลก! 

 

          เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ลงสนามแข่งขันธุรกิจสำรวจอวกาศ นำโดยผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon เจฟ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Blue Origin เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศ นอกจากนี้ยังมีเจ้าของสถิติบุคคลที่รวยที่สุดในโลกอย่าง อีลอน มัสก์  เจ้าของบริษัท SpaceX ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ SpaceX inspiration4 นี้เอง ตามมาด้วยบริษัท Virgin Galactic ที่สนับสนุนโดยเซอร์ริชาร์ด เบนสัน เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Virgin group ที่นำบริษัท Virgin Galactic เปิดตัวในตลาดหุ้นเมื่อปี 2019 และมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 26% หลังจากความสำเร็จของ SpaceX inspiration4

 

          พวกเขาต่างมั่นใจว่า ‘นี่คือธุรกิจในอนาคต’ ที่จะทำเงินได้มหาศาล  แม้ต้องแลกกับการลงทุนด้วยเม็ดเงินที่เกินจะนับ และเวลาที่จะใช้พัฒนาเทคโนโลยีอีกกว่ายี่สิบปี แต่มันก็ ‘คุ้มค่า’

 

          เงื่อนไขความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้มีนักธุรกิจระดับอภิมหาเศรษฐีไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้  และในแวดวงธุรกิจ ผู้แข่งขันยิ่งน้อยก็ยิ่งดี!

 

          การแข่งขันในเรื่องของการสำรวจอวกาศเพิ่งจะเป็นเรื่องระหว่าง ‘ธุรกิจ’ กับ ‘ธุรกิจ’ เมื่อไม่นานมานี้ จะว่าไปการสำรวจอวกาศเป็นพื้นที่การช่วงชิงผลประโยชน์และอำนาจมานานแล้ว แต่เป็นในรูปแบบรัฐต่อรัฐมาก่อน

เจฟ เบโซส์  ผู้บริหาร Blu Origin บริษัทเอกชนรายแรกที่เข้าสู่สนามธุรกิจอวกาศ สงครามเย็น เมื่อเส้นชัยอยู่ที่อวกาศ    
          ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศ เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1957 สหภาพโซเวียตสามารถส่งยานสปุตนิก 1 ขึ้นไปในอวกาศได้  ความสำเร็จของสหภาพโซเวียต ส่งแรงสั่นสะเทือนไปถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังทำสงครามเย็นระหว่างกัน .. ประชาชนชาวอเมริกันรู้สึกถึงความห่างชั้นของเทคโนโลยีที่ประเทศของตัวเองมี และทำให้อเมริกาต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ในปี ค.ศ.1958 สหรัฐจึงได้ปล่อยยานสำรวจ เอ็กซ์พลอเรอร์ 1ขึ้นไปในวงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ


 

          3 ปีให้หลัง อเมริกาก็ต้องปวดหัวอีกครั้ง เมื่อสหภาพโซเวียตสามารถส่ง ยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกออกไปยังนอกโลก โดยเที่ยวบินนั้นเขาได้ใช้เวลาอยู่นอกโลกราว 108 นาที  ... ในปีเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ออกมากล่าวถ้อยแถลงถึงจุดยืนของประเทศซึ่งส่งผลต่อประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

 

          ‘สหรัฐอเมริกาจะพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์’
 

          และในปี ค.ศ.1968 นีล อาร์มสตรอง ได้ฝากรอยเท้าของเขาไว้บนผืนดวงจันทร์ได้สำเร็จ!

นีล อาร์มสตรอง กับก้าวแรกบนผืนดวงจันทร์

          การแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งในการสำรวจอวกาศระหว่างสองประเทศดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ต่างฝ่ายต่างเพลี่ยงพล้ำและชนะผลัดกันไป  

 

          ในขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็เก็บงำเทคโนโลยีของตนเองไว้เป็นความลับอย่างขีดสุด โดยเฉพาะในฝั่งของสหภาพโซเวียต

 

          กว่าที่ชื่อของ เซียร์เกย์ โคโรเลฟ หัวหน้าวิศวกรจรวดและนักออกแบบยานอวกาศ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสหภาพโซเวียตที่สามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้ในช่วงออกตัว  จะได้รับการรู้จักจากโลก ก็หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปีค.ศ.1966 แล้ว ซึ่งเป็นเวลากว่าเก้าปีหลังจากที่เขาสามารถส่งยานสปุตนิก 1 ขึ้นสู่วงโคจร!

 

          22 ปีของการแข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศดุเดือดเลือดพล่าน แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม จนเกิดโครงการทดสอบอะพอลโล-โซยุซ ในปี ค.ศ.1975  ซึ่งเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกของทั้งสองประเทศในด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกัน

 

          โครงการทดสอบอะพอลโล-โซยุซเป็นภารกิจการทดลองวิทยาศาสตร์ และการทดลองทางวิศวกรรม จากโครงการนี้เองที่นำไปสู่การก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่ในระดับวงโคจรของโลก ซึ่งใช้เป็นห้องทดลองวิจัยในด้านต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น ยุโรป และแคนาดา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปฏิบัติการไปจนถึงปี ค.ศ.2030

 

          แต่การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในอวกาศยังไม่สิ้นสุด ในปี ค.ศ.2020 ผู้บริหารของนาซาออกมาแสดงความกังวลถึงท่าทีของประเทศจีน ที่กลายเป็นคู่ปรับสำคัญของสหรัฐ เมื่อจีนเริ่มสร้างสถานีอวกาศนานาชาติจีน ที่มีแคมเปญว่าเป็นสถานีอวกาศสำหรับทุกประเทศ! เนื่องจากตอนที่สหรัฐสร้างสถานีอวกาศนานาชาติของตนเองนั้น พวกเขากีดกันจีนออกจากความร่วมมือนั่นเอง สถานีอวกาศนานาชาติ ที่มีแผนจะปลดประจำการในปี ค.ศ.2030           ตลอดระยะเวลา 65 ปี การลงทุนไปกับการสำรวจอวกาศของรัฐ เป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดถึง ‘ความคุ้มทุน’ ของมัน แม้จะมีข่าวให้น่าตื่นเต้นถึงการค้นพบและทำความเข้าใจจักรวาลแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่มีอีกหลายคนที่ยังคงไม่เห็นถึงอนาคตว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน คนส่วนใหญ่ยังมองว่าเรื่องของอวกาศนั้น ‘ไกลตัว’ ‘จับต้องยาก’ และเป็นเรื่องของประเทศที่มีเงิน! 

 

กำเนิด ‘ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์’ เมื่ออวกาศเป็นเรื่องธุรกิจและทุนนิยม
          ราวปี ค.ศ.2000 บริษัทเอกชนหลายรายตบเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องอวกาศนำโดยบริษัท Blue Orgin พวกเขาไม่ได้มองภาพว่ามันจะเป็นการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่จินตนาการไปจนถึงในอนาคต ที่มนุษย์จำต้องอาศัยและทำงานบนอวกาศมากขึ้น เพื่อสำรวจหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ ไปจนถึงการย้ายอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขึ้นไปยังอวกาศ อย่างที่ครั้งหนึ่ง คอนแสตนติน ชิออลคอฟสกี  ผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านวิศวกรรมอวกาศและการสำรวจอวกาศ และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการสำรวจอวกาศของสหภาพโซเวียต ได้กล่าวไว้ว่า


          ‘ มนุษย์จะไม่อาศัยอยู่แต่บนโลกนี้ตลอดไป’

 

          ในขณะเดียวกันบริษัท SpaceX คิดการณ์ใหญ่กว่านั้น พวกเขากำหนดจุดหมายที่จะสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร ซึ่งหากสำเร็จก็เท่ากับว่าที่นั่นจะเป็นประเทศ SpaceX เลยทีเดียว โดยจะสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ เป็นชีวิตที่สามารถอาศัยอยู่ในดาวหลายดวงได้ ไม่จำกัดแค่ในโลกเท่านั้น

 

          การดำเนินงานของบริษัทเอกชนเหล่านี้ แตกต่างจากอุตสาหกรรมการขนส่งและเทคโนโลยีอวกาศที่บริหารโดยภาครัฐ 

 

          พวกเขาคิดแบบ ‘นักธุรกิจ’ และนักธุรกิจมักจะหาวิธีการ ‘ลดต้นทุน’ เสมอ

 

          นักธุรกิจมองถึงวิธีการประชาสัมพันธ์ที่ดึงดูดให้คนมาใช้บริการของพวกเขา 

 

          และใช่พวกเขามองถึงผลกำไรที่จะตามมาด้วย!

 

          โจทย์สำคัญที่บริษัทเอกชนซึ่งเข้าสู่วงการนี้เริ่มแก้ไขคือการลดต้นทุนเป็นอันดับแรก พวกเขาจึงมุ่งออกแบบให้ยานขนส่งสามารถเป็นยานที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ นั่นหมายถึงว่าต้นทุนการเดินทางจะลดลงได้หลายร้อยเท่าตัว

 

          และพวกเขาก็ทำสำเร็จ


          อันที่จริงแล้วเที่ยวบินท่องเที่ยวอวกาศอย่าง SpaceX inspiration4 ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 2001-2009  มีประชาชนคนธรรมดา (แต่มีเงิน) ทั้งหมด 7 คน จ่ายให้กับการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งลอยอยู่ในอวกาศเหนือพื้นโลกไปกว่า 400 กิโลเมตร และใช้เวลาอยู่ที่นั่นคนละ 1 อาทิตย์ ..  หลังจากนั้นก็ไม่มีทริปการเดินทางที่สูงเท่ากับหรือมากกว่าวงโคจรของโลกอีกเลยนานหลายปี จนกระทั่งเกิดโครงการ SpaceX inspiration4

 

          สิ่งที่น่าสนใจคือ ระยะห่างของทริป ‘จ่ายเงิน’ เพื่อ ‘ท่องเที่ยวอวกาศ’ ในครั้งนี้ไม่ได้ห่างหลายปีเหมือนที่ผ่านมา แต่ห่างแค่เพียงหลักอาทิตย์ เพราะในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการขนส่งผู้กำกับหนังและนักแสดงชาวรัสเซีย ขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘The Challenge’ บนสถานีอวกาศนานาชาติ .. ในขณะเดียวกันนักธุรกิจพันล้านชาวญี่ปุ่น Yusaku Maezawa ก็จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนธันวาคมก่อนที่จะเตรียมเดินทางทัวร์รอบดวงจันทร์ในปี ค.ศ.2023 .. นอกจากนี้ทาง SpaceX ก็มีคนจองการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากต้นปี 2022 และอีกสามทริปในอีกสองปีถัดไป หนึ่งในนั้นคือการส่งคนไปถ่ายทำสารคดีแบบเรียลลิตี้ให้กับทาง Discovery channel

Yusaku Maezawa มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น ผู้มีกำหนดการทัวร์รอบดวงจันทร์    ในปี ค.ศ.2023           นี่ยังเป็นน้ำจิ้มเท่านั้น ยังมีบริษัทเอกชนรายอื่นที่มีลิสต์การจองจากเศรษฐีผู้มีเงินจ่ายทัวร์อวกาศแบบนี้อีกหลายครั้ง อย่างเช่นบริษัท Space Adventures ก็มีการจองจากนักเดินทางท่องอวกาศ 4 ราย ที่น่าจะได้เดินทางในช่วงปีนี้เช่นกัน และบริษัท The Virginia ก็มีแพลนในปี 2023 ที่จะสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ให้กับโลกอีกครั้ง กับก้าวแรกของคนธรรมดาที่ออกมาเดินในอวกาศ ..

 

          ในขณะเดียวกันธุรกิจการท่องอวกาศในระดับต่ำกว่าวงโคจรโลก ก็ไม่น้อยหน้า นำโดยบริษัท Virgin Galactin และ Blue Origin ทั้งสองบริษัทเป็นคู่ปรับสำคัญ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Virgin Galactin ได้สร้างเที่ยวบินประวัติศาตร์ ส่งคนไปชมโลกจากนอกโลกสำเร็จเป็นที่แรก ก่อนหน้า Blue Origin ที่ประกาศแผนการเดินทางขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันทั้งสองบริษัทก็กำลังสั่งสมพลขับและสมาชิกประจำยานขนส่งอวกาศ เพื่อจะทำให้การเดินทางไปดูเส้นขอบโลกนั้นเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งมากที่สุด ความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีเป็นไปในทิศทางบวก ส่วนทางกับค่าใช้จ่ายที่สูงถึงคนละ 15 ล้านบาทสำหรับทัวร์ในระดับต่ำกว่าวงโคจรโลก ส่วนใครที่สนใจระดับที่สูงกว่านั้น ก็สนนค่าใช้จ่ายราว 600 ล้านบาทต่อเที่ยวเลยทีเดียว

 

          จึงมีการคาดการณ์ว่า ‘ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ’ แม้จะพร้อมสำหรับทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงได้ และนั่นอาจทำให้ทริปท่องเที่ยวนี้จำกัดสำหรับ ‘คนรวยมาก ๆ ‘ จริง ๆ บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงมุ่งไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทมากกว่า อาทิเช่น บริษัทที่ทำเรื่องการจัดการข้อมูล บริษัทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดตามสถานะการขนส่ง  หรือบริษัทยาที่สามารถใช้ยานขนส่งอวกาศส่งนักวิจัยขึ้นไปยังสถานีอวกาศ เพื่อวิจัยหายารักษามะเร็ง ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีที่ไหนในโลกคิดค้นขึ้นมาได้ อาจจะถือกำเนิดขึ้นในอวกาศก็เป็นได้ เที่ยวบินของ Virgin Galactic ซึ่งพาไปดูโลกจากมุมมองนอกอวกาศ           การเดินทางของเทคโนโลยีอวกาศบนโลกได้เดินทางล่วงเวลามากว่า 65 ปี จากนี้เราต้องมองมันออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือการบริหารงานจากภาครัฐ ที่กำลังทยอยเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุน  หลายประเทศเริ่มเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังทรัพย์อย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถส่งยานไปสำรวจดาวอังคารได้สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา   และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้บินไปไกลเกินกว่าที่ประเทศเล็ก ๆ จะตามทัน ก็น่าจับตามองว่าความต่างของเทคโนโลยีจะส่งผลให้เกิดช่องว่างของ ‘อำนาจ’ ระหว่างรัฐใหญ่และรัฐเล็กหรือไม่ และอะไรจะมาถ่วงดุลสิ่งเหล่านี้ ( จะว่าไปก็นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรณีวัคซีนโควิด-19)

 

          อีกส่วนหนึ่งก็คงต้องมองไปยังภาคเอกชน  จากแต่เดิมที่อุตสาหกรรมการสำรวจอวกาศเป็นเครื่องมืออำนาจของรัฐเพียงอย่างเดียว  ณ วันนี้ ที่เราเห็นความสำเร็จของ SpaceX inspiration4 เราได้เห็นอำนาจบนอวกาศที่ถูกแจกจ่ายไปยัง ‘คนธรรมดาสามัญ’   และเปลี่ยนจากการแข่งขันระหว่างประเทศ สู่การแข่งขันระหว่างนักธุรกิจระดับอภิมหาเศรษฐี

 

          เทคโนโลยีอวกาศกลายเป็นเรื่องของธุรกิจ และก้าวเข้าสู่โลกของทุนนิยมแบบเต็มตัว

 

          ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะช่วงชิงพื้นที่นี้ได้มากกว่ากัน!

 

          ข้อดีของทุนนิยมคือการค้าขายที่เสรี ซึ่งมาพร้อมกับการแข่งขัน และการแข่งขันก็มักจะมาพร้อมกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด  ก็น่าสนใจไม่น้อยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะผลักดันให้อุตสาหกรรมทางอวกาศรุดหน้าขึ้นไปกว่า 65 ปีที่ผ่านมามากแค่ไหนในอนาคต และถ้าหากสิ่งที่นักธุรกิจเหล่านี้กำลังสร้างสำเร็จขึ้นมาจริง ๆ อย่างที่วาดฝันไว้ แล้วใครล่ะที่จะมีสิทธิได้ใช้มัน?.

 

พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์

--------------------

ที่มา:

logoline