svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จาก Mobile สู่ Smart, PDA สู่ iOS และ Android ย้อนรอยประวัติศาสตร์ อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ย่อโลกให้เท่าเทียมกัน

17 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้ว่าเราจะใช้ iPhone หรือ Android กันมามากกว่า 10 ปีแล้วแต่การเดินทางของเทคโนโลยีที่ย่อโลกเอาไว้ในมือน้อย ๆ ของเรานั้นมีการเดินทางที่ยาวนานมากกว่า 30 ปี และ iPhone นั้นเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่สามารถก้าวข้ามปัญหาที่ผู้ผลิตรายก่อน ๆ เผชิญหน้าเอาไว้ได้เป็นรายแรกในประวัติศาสตร์

Topics:

  • iPhone เป็นการผลิดอกออกผลของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
  • การมาถึงของสมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
  • ระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนที่เห็นกันอยู่ 2 รายในปัจจุบันมี Ecosystem ที่เข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระบบจากผู้ผลิตรายอื่น ๆ นั้นกลับขาดในมิติดังกล่าวจึงไม่อาจส่งมอบประสบการณ์ใช้งานที่เติมเต็มให้ผู้ใช้ได้

--------------------

          ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนก้มหน้าจนแทบจะเข้าไปสิงอยู่ในหน้าจอขนาดเล็กบนฝ่ามือกันแล้วทั้งนั้น สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นใช้เพื่อการทำงาน ใช้เพื่อความบันเทิงส่วนตัว หรือใช้เพื่อกิจกรรมที่เรียบง่ายอย่างโทรศัพท์ก็ตาม การแพร่หลายของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากความสำเร็จของ iPhone แต่ความสำเร็จและการเติบโตของสมาร์ทโฟนตั้งแต่อดีตนั้นเป็นอย่างไร?

 

          ใครจะไปคาดคิดว่าโลกของเราในวันนี้จะมีอุปกรณ์ที่เป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถพกพาได้ง่าย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็นอีกด้วย สมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบันที่เราเห็ฯกันอยู่นี้ทำหน้าที่เป็นทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ไปจนถึงอุปกรณ์สวมใส่ขนาดเล็ก (Wearable Device) เพราะเราจะเห็นได้ทั้งการคุยโทรศัพท์ทั่วไป การค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ การรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การเสพสื่อบันเทิง ในขณะที่บางคนพกไว้ติดตัวเพื่อบันทึกการเดินทาง ตรวจจับอ็อกซิเจน หรือวัด Pace ในการวิ่งก็มีเช่นกัน

 

สมาร์ทโฟนเปลี่ยนโลกได้อย่างไร?

          ต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนรวมถึงแท็บเล็ตในปัจจุบันนั้นมีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติการใช้งานที่แตกต่างกัน ออปชัน ไปจนถึงราคา ยังไม่นับรวมแอปพลิเคชันที่แต่ละค่ายแต่ละผู้ผลิตต่างเข็นกันออกมาเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันกันอีกมากมาย

 

          การเติบโตของสมาร์ทโฟนที่เกิดขึ้นและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลได้เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับผู้คนแทบจะทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการเรียนรู้ การเข้าถึงข้อมูล หรือการทำธุรกิจก็เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายด้วยราคาอุปกรณ์ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายหมื่น ถ้าคิดไม่ออกก็ลองดูแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์อย่าง Ebay หรือ Amazon ในส่วนช่องทางสังคมออนไลน์ Facebook หรือ Twitter ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ในขณะที่สังคมการทำงาน LinkedIn ก็ช่วยเพิ่มโปรไฟล์ให้กับมนุษย์เงินเดือนได้อย่างน่าสนใจ การมาถึงของสมาร์ทโฟนและโลกดิจิทัลได้กระจายการผูกขาดที่มีอยู่ในโลกกายภาพเดิมออกไป เช่น การเสพข่าว การเสพสื่อบันเทิง ตลอดจนการทำธุรกิจระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นได้แบบ 24/7

 

          ผลกระทบจากการเติบโตของสมาร์ทโฟนนั้นเป็นเพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาด ส่งผลให้ราคาลดลงอย่างรวดเร็ว  หากลองเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุคที่มีมานานกว่า แต่ในสัดส่วนราคากลับยังเข้าถึงได้ยากกว่า ไหนจะขนาดที่พกพาลำบากและเงื่อนไขข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์อีกมากมาย

 

          ในขณะที่อุปกรณ์พกพาตัวเล็กอย่างสมาร์ทโฟนสามารถใช้งานได้แทบจะเหมือนกับคอมพิวเตอร์ทุกประการในยุคปัจจุบัน แต่มีราคาที่ถูกกว่าและเรียกได้ว่าฮาร์ดแวร์มีความถึกทนมากกว่าสำหรับการใช้งานที่ต้องพกพาไปไหนต่อไหน แน่นอนว่าสมาร์ทโฟนก็มีขีดจำกัดในการทำงานที่มีความละเอียดสูงอย่างงานตัดต่อ งานบันทึกเสียง หรืองานเขียนโปรแกรม แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นสามารถตอบสนองได้แทบจะทั้งหมดแล้ว

 

จากโทรศัพท์ไร้สายสู่ปลายยอดภูเขาน้ำแข็งอย่าง iPhone

          หากเราหันซ้าย หรือหันขวาไปมองสมาร์ทโฟนของใครสักคนถ้าไม่เจอระบบ iOS ก็ต้องเจอ Android เป็นอย่างน้อย (ไม่นับ Harmony ของ Huawei ที่เกิดขึ้นเพราะเจอมาตรการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ) ซึ่งอาจจะดูเหมือนผูกขาดตลาดกันอยู่แค่ 2 ราย ค่ายหนึ่งก็เน้น Ecosystem แบบปิดที่เน้นความเสถียร อะไรมาช้าหน่อยไม่เป็นไรเอาชัวร์ กับอีกค่ายหนึ่งที่มีลักษณะเป็นระบบเปิดให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำไปพัฒนาให้เข้ากับฮาร์ดแวร์และแนวคิดของตัวเองได้หลากหลาย จึงเกิดการแข่งขันกันในวงของผู้ผลิตอย่างมาก นำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างรวดเร็วในขณะที่การพบเจอบัคอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

 

          หากมองย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อนหน้า iPhone จะเกิด ระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์พกพานั้นเรียกว่ามีหลากหลายแทบจะเทียบเท่ากับจำนวนแบรนด์ในตลาดเลยก็ว่าได้ แต่ละแบรนด์พยายามทำฟังก์ชันของตัวเองขึ้นมาให้โดดเด่นออกมาแตกต่างกันไป แต่ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปในอดีตสัก 20 ปี ศัพท์ที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน (Smartphone) นั้นอาจจะยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพัฒนาการของโทรศัพท์เคลื่อนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสมาร์ทโฟนนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องช้านานแแล้ว ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ยุค 1970 Bell Labs Advance Mobile Phone System (AMPS) เป็นผู้พัฒนาระบบขึ้นมาและมีการใช้งานในกลุ่มขนาดเล็ก ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเอง Motorolla ก็ได้เริ่มต้นพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นมาเช่นกัน Motorola DynaTAC 8000X            โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกที่ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ คือ Motorola DynaTAC 8000X สนนราคาอยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 1983 หากเทียบเป็นเงินไทยในสมัยนั้นก็น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 9 หมื่นบาท ซึ่งราคานี้สามารถออกรถกันได้เลยทีเดียว ด้วยขนาดที่ใหญ่มากบางคนถึงกับเรียกโทรศัพท์ในยุคนี้ว่า ‘กระดูกหมา’ และต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าโทรศัพท์ในสมัยนั้นไม่มีซิมให้ใส่แบบทุกวันนี้ เบอร์โทรศัพท์จะถูกผูกเข้ากับตัวเครื่องเป็นหลัก

 

          ในปี 1987 นั้นมาตรฐานระบบเครือข่าย GSM หรือเราจะเรียกว่ายุค 2G ได้เกิดขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยจัดสรรค์การใช้งานต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นของคลื่นความถี่การโทรศัพท์ เมื่อดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมขนาดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เริ่มลดขนาดลง SMS และการเล่นเกมส์ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการใช้งานหน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัลได้แล้วนั่นเอง โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งยุคที่หลายคนต่างรู้จักดีคือ Nokia 3310 สุดถึกทนนั่นเอง

 

          ภายหลังการเกิดขึ้นของยุคหน้าจอดิจิทัลแล้ว การเกิดหน้าจอแสดงผลแบบสีก็ตามมาในเวลาอีกไม่นานนักด้วยฝีมือของ SIEMENS S10 ในปี 1997 และเทคโนโลยีการสั่นเตือนไปจนถึงการรับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน และต่อมาอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงยุคปี 2000 ที่เป็นช่วงเวลาแห่งฟีเจอร์โฟน เริ่มต้นยุคด้วย Nokia 7110 ในปี 1999 ที่เริ่มใช้ประโยชน์จาก WAP หรือการเข้าถึงข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ การโทรศัพท์พร้อมวิดีโอ, การใช้ GPS, ระบบคาดเดาคำที่จะพิมพ์, กล้องถ่ายรูปมือถือ, การฟังเพลง MP3, MMS, Bluetooth, การเพิ่มการ์ดหน่วยความจำ และฟังก์ชันยอดฮิตของวัยรุ่นไทย (สมัยนั้น) อย่างเสียงเรียกเข้า Polyphonic ที่ไม่ใช่แค่เสียงดนตรี 8 Bit อีกต่อไป ผู้ผลิตบางรายเปิดให้ดาวน์โหลดเสียงผ่านเครือข่ายได้ บางรายถึงขนาดเอาบรรทัด 5 เส้นใส่ไว้ในเครื่องเพื่อให้แต่งเสียงเรียกเข้าเองได้ก็มี และที่สำคัญที่สุด สิ่งที่คล้ายกับสมาร์ทโฟนเครื่องแรกได้เกิดขึ้นในยุคนี้ในชื่อ Simon Personal Communicator (SPC) ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะและไม่เหมาะกับการพกพาสักเท่าไหร่ บรรพบุรุษสมาร์ทโฟนต้นแบบ SPC           ยุคต่อมาเรียกได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของสมาร์ทโฟนที่ใกล้เคียงกับเทคโนโลยีปัจจุบันก็ว่าได้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคนี้เริ่มถูกออกแบบให้สามารถใช้งานกับเครือข่ายไร้สายได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Wifi ความสามารถในการกันน้ำ ไปจนถึงความสามารถในการท่องเว็บได้อย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นการพิมพ์ตัวอักษรในโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ว่าจะเป็นการจดเบอร์โทร หรือการส่งข้อความล้วนแต่ต้องใช้แป้นหมายเลขในการกดซ้ำไปซ้ำมา แม้กระทั่งรุ่นใหญ่อย่าง Nokia N70 ที่ทำอะไรได้หลายอย่างแล้วก็ยังต้องการการป้อนข้อมูลในแบบเดียวกัน ในบางกรณีก็อาจลงเอยด้วยการใส่แป้นพิมพ์เต็มรูปแบบเข้ามา เช่น Nokia 3300B หรือ Nokia X5-01 ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เป็นตลาดที่ใช้งานกันในวงกว้าง

 

          ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีเทคโนโลยีอีกกลุ่มที่ตีคู่กันมาแต่มีการใช้งานที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากกว่าด้วยราคาที่แพงกว่ามากอย่าง PDA (Personal Digital Assistant) อย่าง Palm หรือ Microsoft เองที่โดดลงมาเล่นในกลุ่มของ PocketPC เองก็ตาม อุปกรณ์เหล่านี้มีจุดเด่นอยู่ที่การสัมผัสที่หน้าจอผ่านปากกาที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ การกดด้วยปลายนิ้วเป็นเรื่องยากลำบากและอาจทำไม่ได้ในหลาย ๆ รุ่น หน้าตาการใช้งานต้องบอกว่าเหมือนกับการใช้งานคอมพิวเตอร์โดยทั่ว ๆ ไปเลย คือ เป็นรูปไอคอนและคำสั่งให้ใช้ปากกากดเลือกใช้หรือแม้แต่การกดเลือกพิมพ์ก็ตาม โดยหนึ่งในแบรนด์ดังสำหรับ PocketPC ที่จำขึ้นใจตอนเดินฟอร์จูน คือ แบรนด์ O2 ที่ขยันออกรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่ามันสามารถใช้งานได้ง่ายดายกว่าอุปกรณ์ตลาดหลักอย่าง Nokia แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัวและการใช้งานที่มีความจำเพาะสูง กลุ่มคนใช้จึงมีจำนวนน้อย เช่น แพทย์ หรือวิศวกรที่สามารถหาโปรแกรมเฉพาะทางในสายอาชีพมาลง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการรักษาต่าง ๆ หรือตำราสำหรับแปลคำศัพท์ก็ตาม โดยในยุคนั้นยังไม่มี Play Store หรือ Apple Store แบบในยุคนี้ แอปพลิเคชันต่าง ๆ อาจต้องค้นคว้าหาตามเว็บบอร์ดเพื่อเข้าถึงผู้จัดจำหน่ายอีกที ไม่แตกต่างจากการค้นกูเกิลเพื่อหาทุกอย่างมาติดตั้งในเครื่อง iPhone           ในปี 2007 นี่เองที่ iPhone ได้ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกและผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลดาต่างคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ของเล่นคนรวยหรือแก็ดเจ็ตทั่ว ๆ ไป แต่ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงประสบการณ์ผู้ใช้ iPhone ได้ก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคการใช้งานที่เคยมีมาก่อนหน้าอย่างหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่สามรถใช้งานได้ด้วยมือข้างเดียว การสัมผัสได้ด้วยนิ้ว ทำให้การใช้งานเกิดความสะดวกสบายอย่างมาก ทั้งยังมีแหล่งดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป็นหลักแหล่งบนแพลตฟอร์มของตัวเอง สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานและเปิดตลาดให้กับนักพัฒนาอย่างเป็นหลักเป็นแหล่ง นอกจากจะสามารถทำงานบนอุปกรณ์พกพาได้อย่างคล่องตัวแล้วการเสพสื่อบันเทิงก็สามารถทำได้อย่างจุใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการดู YouTube หรือแม้แต่การฟังเพลงที่เรียกได้ว่าระบบเสียงพกพาก้าวล้ำไปกว่าอุปกรณ์ส่วนมากในยุคนั้นอย่างเหลือเชื่อ แล้วสงสัยไหมครับว่าคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Android หายไปไหน? HTC Dream           ต้องบอกว่า Android นั้นเริ่มต้นการพัฒนาในปี 2003 มีเป้าหมายในการพัฒนาอุปกรณ์เคลื่อนที่อัจฉริยะที่สามารถรับรู้ตำแหน่งและรายละเอียดข้อมูลของเจ้าของได้ จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ปี 2005 ที่กูเกิลได้เข้าครอบครองกิจการของ Android และพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปิดตัวเวอร์ชัน 1.0 ปลายปี 2007 และในปี 2008 HTC Dream ซึ่งเป็น Android รุ่นแรกได้ออกสู่ตลาดทั่วโลก

 

          นับตั้งแต่การเปิดตัวของ iPhone เป็นต้นมา Steve Jobs ได้ทำให้เห็นถึงการก้าวข้ามกำแพงที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหลายติดกับดักอยู่เป็นเวลานาน นั่นคือ ประสบการณ์ของผู้ใช้ แม้ว่าในขณะที่เปิดตัวนั้น Nokia ที่เป็นเจ้าตลาดจะมีการพัฒนา OS ของตัวเอง Microsoft ก็พยายามขยับตัวอย่างช้า ๆ Sony ที่เน้นไปที่ตลาดกลุ่มโทรศัพท์ฟังเพลงและถ่ายรูป Blackberry ที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยและการเข้ารหัสในการใช้งาน หรือแม้กระทั่ง LG ที่เปิดตัว LG Prada โทรศัพท์หน้าจอสัมผัสเครื่องแรกซึ่งเปิดตัวก่อน Apple ก็ต่างล้มหายตายจากกันไป ผู้เล่นที่พัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนรายหลัก ๆ ในปัจจุบันจึงเหลืออยู่แค่เพียง iOS และ Android ที่ต่างดึงเอาจุดเด่นของระบบปฏิบัติการของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ 

 

          แม้ว่า iOS และ Android จะเป็นระบบปฏิบัติการที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน แต่จุดร่วมของทั้งสองสายนั้นก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ตั้งแต่โครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบ ARM ที่ทำให้ประมวลผลได้รวดเร็ว มีขนาดเล็กและใช้พลังงานน้อยกว่า ไปจนถึงการที่เจ้าของระบบทั้งสองมองการณ์ไกลไปถึง Ecosystem ของการใช้งานในอนาคต นั่นหมายความว่าถ้าคุณใช้ Android หรือ iOS คุณจะไม่ได้เพียงใช้เครื่องเท่านั้น แต่คุณจะได้รับระบบนิเวศน์ที่มาพร้อมกับการใช้งานอื่น ๆ พร้อมกันไปด้วย ซึ่งระบบที่ว่านี้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับบริการและแพลตฟอร์มอื่นได้อย่างแนบเนียนจนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่า Search Engine, GPS, การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ถ้าจะบอกว่าทั้งสองระบบนี้แตกต่างจากระบบที่ล้มตายกันไปอย่างไร  Ecosystem ของผู้ใช้เป็นจุดแตกต่างที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะมอบความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แล้ว Ecosystem ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์การใช้งานระบบปฏิบัติการนั้น ๆ อีกด้วย

 

นายทศธิป สูนย์สาทร

ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี 

--------------------

Ref:

logoline