svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"เลือกตั้งนายกบอลไทย" ศึกชิงอำนาจที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย

07 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนประวัติความเป็นมาของศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีมีความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจกันหลายครั้ง ก่อนจะชิงเก้าอี้รอบใหม่ ในวันที่ 8 ก.พ.นี้

มองย้อนไปในอดีต การเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯเริ่มเป็นที่จับตามองของสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2554 โดยครั้งนั้นมีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 3 คน คือ วรวีร์ มะกูดี, วิรัช ชาญพานิชย์ และ พิเชฐ มั่นคง

ซึ่งเดิมทีจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 แต่ในวันประชุมใหญ่สามัญฯซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง กลับเต็มไปด้วยความวุ่นวาย หลายสโมสรมีปัญหาเรื่องเอกสารมอบอำนาจ มีการสวมสิทธิ์ของคนที่เป็นตัวแทนสโมสรมาลงคะแนน บางสโมสรมีใบมอบอำนาจมามากกว่า 1 ใบ และไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่าของใครเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง นอกจากนี้ตัวแทนสโมสรบางคนยังถูกเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าห้องประชุมจนมีการประท้วงกันวุ่นวาย สุดท้าย สมาคมฟุตบอลฯจึงประกาศเลื่อนการประชุมออกไป กลายเป็นเหตุการณ์ที่คนในวงการลูกหนังเรียกกันว่าเป็น "วันล้มเลือกตั้ง" ก่อนที่สุดท้าย "บังยี" จะได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯต่ออีกสมัย
"บังยี" วรวีร์ มะกูดี
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2556 วรวีร์ มะกูดี และ วิรัช ชาญพานิชย์ กลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง แต่ครั้งนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน จาก 184 เสียง เหลือแค่ 72 เสียง โดยอ้างว่าเป็นไปตามธรรมนูญของฟีฟ่า กรณีนี้ ฝ่ายของ วิรัช ชาญพานิชย์ ไม่พอใจเนื่องจากกระทบต่อคะแนนเสียงของฝ่ายพวกเขาโดยตรง และยังบอกว่าไม่มีการแจ้งเรื่องนี้ให้ได้รับทราบมาก่อน แต่ฝ่าย "บังยี" ยืนยันว่าได้แจ้งเรื่องนี้กับสมาชิกมาแล้วตั้งแต่ปี 2552 อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นว่ามตินี้ได้รับการโหวตรับรองจากสมาชิกแล้วจริงๆหรือไม่ 
วิรัช ชาญพานิชย์

เหตุการณ์เริ่มลุกลามจนมีการฟ้องร้องกันวุ่นวาย ทางฝั่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ถึงขั้นต้องมีหนังสือให้ถอนฟ้องและดำเนินการเลือกตั้งต่อไป เรื่องถึงยุติ แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็มีปัญหาเดิม นั่นคือปัญหาเอกสารสิทธิ์ว่าใครจะได้เป็นตัวแทนลงคะแนน มีการร้องเรียนกันไปมา การประชุมลากยาวตั้งแต่บ่ายจนตกดึกก็ยังไม่ได้ข้อสรุป กรรมการสมาคมบางคนถึงขั้นออกมาแถลงไม่รับรองผลการเลือกตั้ง แต่สุดท้าย "บังยี" ก็ค่อยๆแก้ปัญหาทีละเปลาะจนได้เป็นนายกฯอีกครั้งเป็นสมัยที่ 4
"เลือกตั้งนายกบอลไทย" ในอดีตเกิดความวุ่นวายอยู่เสมอจนต้องมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
เข้าสู่ปลายปี 2558 เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่า รวมถึงทีมงานของเขาหลายคนถูกสอบสวนคดีพัวพันกับการรับสินบนในการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก จนคณะกรรมการด้านจริยธรรมของฟีฟ่า ได้มีคำสั่งพักงาน ไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวข้องกับฟุตบอลใดๆ ในระดับนานาชาติจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ซึ่งนายวรวีร์ก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกพักงานครั้งนั้นด้วย ทำให้เจ้าตัวหมดสิทธิ์ลงชิงตำแหน่งในสมัยที่ 5 ที่จัดขึ้นในเดือน ก.พ. 2559 ทันที และทำให้อำนาจของวงการลูกหนังไทยเปลี่ยนขั้วมาอยู่ในมือของ "บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จนถึงปัจจุบัน
"บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

logoline