10 กันยายน 2567 ความคืบหน้ากรณี ผู้เสียหาย 2 คน ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลคนละแห่ง แล้วเกิดการแพ้ยา จนเป็นโรคอาการสตีเวนส์จอห์นสัน หรือความผิดปกติของผิวหนัง และเยื่อเมือกบุผิวชนิดรุนแรง จนส่งผลให้เกิดผลกระทบกับดวงตามองไม่เห็น และกระทบกับการใช้ชีวิต ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับ นายธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสาธารณสุข จนเมื่อวาน (9 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ อย.ลงไปตรวจสอบโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ
ล่าสุด มีความคืบหน้าของการตรวจสอบแล้ว โดย ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า หลังจากได้ส่งเจ้าหน้าที่ สบส. และ อย.ไปตรวจสอบในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสาวไอที วัย 31 ปี เข้ารับการรักษา ได้พบกับแพทย์เจ้าของไข้ที่รักษาโดยตรง โดยแพทย์ให้การว่า ผู้เสียหายเข้ามารักษาด้วยลักษณะอาการทอมซิลอักเสบ หลังจากเขาไปรับการรักษาคลีนอกเพื่อดูดไขมันมาก่อน แต่เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า ไม่ได้เกิดจากทอมซิล ก็ให้แพทย์เฉพาะทางเข้ามาร่วมวินิจฉัย จึงได้ทำการรักษา
ซึ่งกระบวนการรักษา แพทย์เจ้าของไข้ ยืนยันว่า ‘เป็นกระบวนการรักษาที่ถูกต้องตามมาตรฐานของวิชาชีพ’ แต่ทาง กรม สบส. ก็ไม่ได้ปักใจเชื่อ จึงได้ไปรวมรวบพยานหลักฐานต่างๆ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายละเอียดของยาที่ใช้ ประกอบกับอาการของผู้ป่วย มาแล้ว
ทันตแพทย์อาคม กล่าวว่า หลังจากนี้จะส่งรายละเอียดทั้งหมดไปให้แพทยสภา ทำการตรวจสอบว่า การให้บริการของหมอ การสอบถามอาการ การวินิจฉัยโรค การรักษาตามโรคที่วินิจฉัย เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ รวมถึงการดูแลและการส่งต่อด้วย ส่วนรายละเอียดตัวยาที่ใช้ ทาง อย.ก็จะส่งไปที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้ไปตรวจสอบความถูกต้องว่า มีการใช้ยาถูกต้องตามการรักษาหรือไม่
ทั้งนี้ตัวยาที่ไปตรวจสอบที่โรงพยาบาล ตรงกับอาการที่แพทย์วินิจฉัยหรือไม่นั้น รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บอกว่า ตัวยาที่ใช้ค่อนข้างสอดคล้องกับที่หมอวินิจฉัยโรค แต่ก็ต้องให้แพทยสภาทำการตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อพิจารณามาตรฐานการให้บริการ และตัวยาของโรงพยาบาลเอกชน จะมีตัวยาทั้งในบัญชีและนอกบัญชี ซึ่งมากกว่าปกติอยู่แล้ว โดยโรงพยาบาลเอกชนจะมียาครบทุกตัว
ส่วนตัวยาที่ตรวจพบในการรักษาจะส่งผลให้แพ้ง่ายหรือไม่นั้น รองอธิบดีกรม สบส. ระบุว่า ตามกลไกลในการใช้ยา หากมีการวินิจฉัยแล้วมีการใช้ยา การแพ้แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายแต่ละคน และเมื่อมีการแพ้ขึ้นมา แพทย์ก็ต้องตรวจสอบยาและการแสดงผล ซึ่งจะมีการบันทึกไว้ในหลักฐาน OPD การ์ด หรือเวชระเบียน
ดังนั้นก็จะต้องรอการตรวจสอบของแพทยสภา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์แยกแยะในขั้นตอนต่างๆ ที่จะทำให้ชี้ได้ว่า กระบวนการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบ กลไกลการจ่ายยา การเฝ้าระวังถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องการคำตอบเพื่อให้สังคมได้รับความเป็นธรรม
ขณะนี้ ทาง สบส.ไปรวบรวมหลักฐานทั้งหมด มาส่งให้สภาวิขาชีพทั้งหมดแล้ว ทั้งประวัติการรักษา เวชระเบียนต่างๆ และ อย.ก็ส่งตัวยาไปให้ตรวจสอบแล้วเช่นกัน
ส่วนอีกโรงพยาบาลของผู้เสียหาย อายุ 35 ปี ก็ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วเช่นกัน ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมีการทำเอกสารชี้แจงมา ทาง สบส.จะรวบรวมเอกสารมาประกอบกัน และจะส่งให้แพทยสภาทั้งหมด ซึ่งตามขั้นตอนหลังแพทยสภารับข้อมูลแล้ว จะมีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และจะพิจารณารูปแบบของคณะกรรมการ ที่มีหลายฝ่ายมาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลด้วย