svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปผลสอบดราม่า ผอ.หวงเก้าอี้แขนขาอ่อนแรง ผิดแบบไหน พร้อมย้อนจุดเริ่มต้น

28 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ได้ข้อสรุปแล้ว กรณีดราม่า ผอ.โรงเรียนหวงเก้าอี้จนแขนขาอ่อนแรง หลังครูสาวไปนั่งทับรอย ผลการสอบสวนว่าอย่างไร มีความผิดไหม เรื่องราวเกิดขึ้นได้อย่างไร Nation STORY สรุปเรื่องราวดราม่าครั้งนี้ทั้งหมดมาให้ดูกัน

มีความคืบหน้าแล้ว สำหรับดราม่าในแวดวงการศึกษา ที่สะท้อนได้หลายแง่มุมของสังคมไทย กรณี ดราม่า ผอ.โรงเรียน รายหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด เสียใจจนแขนขาอ่อนแรง หลังถูกครูสาวนั่งเก้าอี้ประจำตำแหน่ง เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ภายหลังจากที่เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ในโซเชียล ผู้คนในสังคมจำนวนมาก ต่างให้ความสนใจ และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างขวาง จนนำมาสู่คำสั่งโดยต้นสังกัด สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 ให้ ผอ.รายดังกล่าว มารายงานตัวและปฏิบัติราชการที่เขตพื้นที่โดยทันที ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา 

พร้อมให้ผู้อำนวยการกลุ่มกฏหมายและคดี ตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่สืบสวนหาข้อเท็จจริง และให้รายงานผลการสอบสวนต่อ สพฐ. ภายใน 7 วัน เพื่อแจ้งสาธารณชนรับทราบต่อไป

ล่าสุด ผลการสอบสวน ผอ.รายดังกล่าวออกมาแล้ว Nation STORY จะพาไปย้อนดูเรื่องราวทั้งหมดว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วผลสรุปของดราม่า ผอ.หวงเก้าอี้จนแขนขาอ่อนแรงครั้งนี้จะเป็นอย่างไร....
สรุปผลสอบดราม่า ผอ.หวงเก้าอี้แขนขาอ่อนแรง ผิดแบบไหน พร้อมย้อนจุดเริ่มต้น

เรื่องราวดราม่าเรื่องนี้ เริ่มต้นจาก การที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า "ตำแหน่งมันอยู่ไม่นานหรอกครับ #สงสารแฟน #อยู่ให้คนรักจากก็ต้องให้คนจำ #แชร์ไปครับ"

ภาพดังกล่าวเป็นแชทกลุ่มของครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน จ.ร้อยเอ็ด มีผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ในกลุ่มด้วย ซึ่งได้ส่งข้อความเข้ามาในกลุ่มตำหนิการกระทำของครูรายหนึ่ง ซึ่งเป็นแฟนสาวของเจ้าของโพสต์ เพราะไปนั่งเก้าอี้ของผู้อำนวยการโรงเรียน
สรุปผลสอบดราม่า ผอ.หวงเก้าอี้แขนขาอ่อนแรง ผิดแบบไหน พร้อมย้อนจุดเริ่มต้น
 

ต่อจากนี้ไปเป็นข้อความแชทไลน์ระหว่างผู้อำนวยการฯ กับครูสาว แฟนเจ้าของโพสต์

ผู้อำนวยการ : วันนี้ ผอ.มีความรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นการแสดงออกถึงความไม่เหมาะสม คือ ครูนั่งเก้าอี้ของ ผอ. ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่า ผอ.ไม่เห็น ไม่ใช่ว่า ผอ.ไม่รู้ สมัย ผอ.เป็นครู ก็ไม่เคยนั้นเก้าอี้ของผู้บริหาร เพราะ ผอ.เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่บังอาจไปเทียบบารมีของผู้บริหารค่ะ

ครูสาว : กราบขออภัยอย่างสูงค่ะ ครั้งหน้าหนูจะไม่ทำแบบนี้แล้วค่ะ

ผู้อำนวยการ : รู้สึกเสียใจมาก ไม่เคยมีครูท่านใดมานั่งเก้าอี้ ผอ. นอกจากนี้ ผอ.ได้แท็กครูรายหนึ่ง พร้อมสั่งการว่า วันจันทร์ ไปซื้อเก้าอี้ให้ ผอ.ด้วยค่ะ

ครูสาว : ขอโทษจริงๆ ค่ะ ท่าน ผอ.

ผู้อำนวยการ : เสียใจจนแขนขาอ่อนแรง คิดไม่ถึงจริงๆ

ครูสาว : ท่าน ผอ. คะ หนูไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ค่ะ เรียนท่านผู้อำนวยการ หนูได้กระทำการที่ไม่สมควร โดยการนั่งเก้าอี้ของท่านผู้อำนวยการค่ะ หนูขอกราบขอโทษจากใจจริงค่ะ หนูขอแสดงความรับผิดชอบโดยการซื้อเก้าอี้ตั้วใหม่แทนเก้าอี้ตัวเดิมค่ะ ครั้งหน้าหนูจะไม่กระทำการในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเหมือนเหตุการณ์เช่นนี้อีกค่ะ

ผู้อำนวยการ : ไม่เป็นไรค่ะ ทางโรงเรียนจะซื้อเองค่ะ
สรุปผลสอบดราม่า ผอ.หวงเก้าอี้แขนขาอ่อนแรง ผิดแบบไหน พร้อมย้อนจุดเริ่มต้น

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไป ชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก มีการแชร์โพสต์ดังกล่าวไปมากกว่า 1.9 หมื่นครั้ง และแสดงความคิดเห็นกว่า 7.5 พันครั้ง อาทิ

  • เก้าอี้วิเศษหัวโขนถอดบ้างผมว่าดีนะ
  • เกินเรื่องไปมาก ถึงกับนั่งตัวเดิมไม่ได้
  • เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเขายังเปิดให้เด็กนั่งเลย
  • ขณะที่ชาวเน็ตบางคนแสดงความคิดเห็นว่า ตามมารยาทในสังคม รร. ก็ไม่ควรไปนั่ง เพราะวิสัยทัศน์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันดูหยามตำเเหน่งอะไรประมาณนี้

ทำให้ครูสาวต้องออกมาโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงว่า

ขอชี้แจงค่ะ เก้าอี้ที่หนูได้นั่งจนเป็นประเด็น คือเก้าอี้ที่อยู่ในห้องประกันคุณภาพการศึกษา ห้องนี้มีไว้ประชุม หรือต้อนรับแขกที่มาติดต่อราชการค่ะ (จะมีเก้าอี้ดำ เป็นประธานค่ะ) ที่ได้ไปนั่งเพราะเป็นคนคอยอำนวยความสะดวกเปิด VTR ให้คณะครูฉายออกทีวีค่ะ แล้วทีวีอยู่ด้านหน้าค่ะ หนูไม่ได้นั่งเก้าอี้ส่วนตัวท่าน ผอ. ในห้องท่านผอ. ค่ะ

พร้อมกับแนบภาพเก้าอี้ตัวดังกล่าว และระบุเพิ่มเติมว่า "เก้าอี้ตัวสีดำนี้ค่ะ พอถึงเวลานัดหมายที่จะประเมินเงินเดือน ผอ.ก็เดินเข้ามาค่ะ หนูก็รีบลุกและยกเก้าอี้ไปให้ท่านนั่ง ท่านก็บอกว่าไม่นั่งค่ะ"
สรุปผลสอบดราม่า ผอ.หวงเก้าอี้แขนขาอ่อนแรง ผิดแบบไหน พร้อมย้อนจุดเริ่มต้น

สั่งเด้ง ผอ.โรงเรียนหวงเก้าอี้ เลขาธิการ กพฐ. กำชับให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

วันที่ 16 มี.ค. 67 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ออกมาระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 เร่งติดตามและตรวจสืบข้อเท็จจริงเชิงลึกในทันที

เบื้องต้นทาง สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการกลุ่มกฏหมายและคดี ตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่สืบสวนหาข้อเท็จจริงในวันนี้ (16 มีนาคม 2567) พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าว มารายงานตัวและปฏิบัติราชการที่เขตพื้นที่โดยทันที ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 มี.ค. 67 เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวน รวมทั้งให้ความคุ้มครองครู และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรายงานต่อ สพฐ. ภายใน 7 วัน จากนั้นจะแจ้งผลความคืบหน้าให้สาธารณชนรับทราบต่อไป 
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)

ผอ.หวงเก้าอี้ ยอมรับเสียใจ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น 

วันที่ 16 มี.ค. 67 วันเดียวกัน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษก สพฐ. กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผอ.โรงเรียนแล้ว เบื้องต้นทาง ผอ.โรงเรียนเองก็เสียใจ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

โดยหลักเหตุผล ในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็ไม่ควรทำพฤติกรรมดังกล่าว เพราะเก้าอี้และทรัพย์สินทั้งหมดในโรงเรียน ไม่ใช่ของส่วนตัวของใคร ถือเป็นการทำเกินกว่าเหตุ สพฐ. ย้ำมาตลอดขอให้ผู้บริหารสถานศึกษา มีความเกื้อกูลต่อครูและบุคคลากรทางการศึกษา ทำงานเป็นทีม และเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ ไม่ใช่ให้ครูไปซื้อเก้าอี้ใหม่

กรณีนี้ถือเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เป็นลักษณะของผู้บังคับบัญชา ไม่เกื้อกูลครู ถือว่าไม่เหมาะสม การที่ให้ครูไปซื้อเก้าอี้ใหม่ด้วยเงินครูเอง ถือเป็นรังแกลูกน้อง และยิ่งถ้าใช้งบหลวงซื้อ อาจเป็นวินัยร้ายแรงได้ ถือว่าเป็นการใช้งบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางราชการ

เรื่องนี้ต้องดูต้นเหตุว่า เกิดเหตุจากอะไร ยังไม่สามารถบอกว่า เป็นการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะเป็นเพียงการใช้คำพูด ดังนั้นต้องรอตรวจสอบจากรายละเอียด จากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง

ครูสาวไม่มีเจตนาเทียบบารมีผู้บริหาร ซื้อเก้าอี้คืนไม่ใช่ประชด

วันที่ 16 มี.ค. 67 เช่นกัน ครูสาวคนดังกล่าวเปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ ที่ 15 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ผอ.ได้นัดคณะครูประเมินเงินเดือน และให้ครูแต่ละคนทำ VTR มานำเสนอ ตนเป็นคนรวบรวม VTR ของครูทุกคน และนำมารอเปิดเพื่อนำเสนอ จึงไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้นซึ่งอยู่ด้านหน้า

เมื่อ ผอ.ลงมาจากชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องประจำตำแหน่ง ตนได้ลุกออกจากเก้าอี้ที่กำลังนั่งเซ็ต VTR ของคณะครู และยกเก้าอี้ไปให้ท่าน ผอ.นั่ง แต่ ผอ.บอกไม่นั่ง แล้วไปนั่งเก้าอี้ธรรมดาสีดำแทน พอการรับชม VTR เสร็จสิ้น ประมาณ 17.00 น. ตนเองได้ร่ำลาครูรุ่นพี่ และขอตัวกลับบ้าน บังเอิญเห็น ผอ.คุยกับครูคนหนึ่ง มาทราบภายหลังว่า เนื้อหาที่คุยกันมีการตำหนิตนเองว่า นั่งเก้าอี้ ผอ. ช่วงที่กำลังจะถึงบ้าน ไลน์กลุ่มโรงเรียนก็เด้งขึ้นมา พอเปิดอ่านปรากฏว่าเห็นข้อความที่ ผอ.ตำหนิ ตามที่ปรากฏในสื่อ
ครูสาวที่นั่งเก้าอี้ ผอ.

ตนยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนา และหลังจากอ่านแชทไลน์ ก็ได้ขอโทษ ผอ.ทันที ที่ไม่ทันคิด ไม่ได้ตั้งใจ เก้าอี้ไม่มีคนนั่งจึงเอามานั่ง ไม่คิดว่าจะทำให้ ผอ.ไม่พอใจ จากนั้นตนเองได้ไลน์ส่วนตัวไปขอโทษอีกครั้ง และคิดตั้งใจว่าวันจันทร์ จะเข้าไปขอโทษอีกครั้ง แต่ ผอ.ไม่ได้อ่านไลน์ที่ตัวเองส่งไป จึงไปเล่าให้แม่ฟัง จากนั้นได้แคปหน้าจอไลน์ไปโพสต์ เพราะอยากรู้ว่า ตนทำผิดมากขนาดนั้นเลยเหรอ

ครูสาวรายนี้ เล่าต่ออีกว่า พอเกิดประเด็นในโซเชียล ผอ.จึงแคปหน้าจอเพจหนึ่งแล้วลงไลน์กลุ่ม และโทรมาหาตนเองประมาณ 2 สาย แต่ตนเองไม่ได้รับ และไม่ได้โทรกลับ เพราะกลัวว่าจะโดน ผอ.ด่า และคิดว่าจะเข้าไปคุยวันจันทร์ทีเดียวว่า จะให้รับผิดชอบอย่างไร เพราะตนจะไปทำงานอยู่แล้ว ยอมรับว่า ไม่เคยมีปัญหากับ ผอ. แต่ก็เคยโดน ผอ.ตำหนิบ้าง แต่ไม่ขอลงรายละเอียด

ครูสาวรายนี้ บอกอีกว่า ขณะนี้ได้ไปซื้อเก้าอี้ตัวใหม่ให้กับ  ผอ. แล้ว ในราคา 1,200 บาท และเตรียมจะนำไปเปลี่ยนในวันจันทร์ที่ 18 มี.ค. 67 การซื้อเก้าอี้มาครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการประชดประชัน แต่ต้องการแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่ท่าน ผอ. มองว่า ตนเองทำผิด และไม่อยากให้ใช้งบของโรงเรียนซึ่งก็มีอยู่ไม่มาก

แต่ยืนยันว่า เก้าอี้เจ้าปัญหาที่เกิดเรื่องนั้น ไม่ใช่เก้าอี้ประจำของ ผอ. แต่เป็นเก้าอี้ในห้องประกันคุณภาพการศึกษา หรือห้องประชุม ส่วนห้องผู้อำนวยการ และเก้าอี้ประจำตำแหน่ง จะอยู่ที่ชั้น 2 ของโรงเรียน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน และตนไม่มีเจตนาไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้น หวังเทียบเท่า ผอ. ที่ไปนั่ง ก็เพราะต้องการเปิด VTR เท่านั้น
เก้าอี้ที่ครูสาวซื้อมาให้ ผอ.

สรุปผลสอบ ผอ.หวงเก้าอี้ ผิดวินัยไม่ร้ายแรง เตรียมลงดาบทางวินัย 

วันที่ 28 มี.ค. 67 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ตามที่ สพฐ. สั่งให้ติดตามและตรวจสืบข้อเท็จจริงเชิงลึก ในกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ไม่พอใจที่ครูในโรงเรียนนั่งเก้าอี้ของตน และสั่งการให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนจัดซื้อเก้าอี้ใหม่มาทดแทน โดย สพฐ. ได้สั่งการ ผอ.เขตพื้นที่ เร่งสืบสวนข้อเท็จจริงและรายงานผลต่อ สพฐ. ภายใน 7 วัน นั้น 

ล่าสุดทาง สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 ได้รายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่า พฤติกรรมดังกล่าวของผู้อำนวยการโรงเรียน ถือเป็นกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562

เนื่องจากการพูดจาที่ไม่ดี ทำร้ายจิตใจทำให้ทุกคนได้รับความทุกข์ใจไม่สบายใจ ซึ่งพฤติการณ์ ดังกล่าวเป็นการไม่ประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม ไม่รักษาความสามัคคี หรือให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ

อีกทั้งพฤติกรรมดังกล่าว ยังเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และมาตรา 95 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 เนื่องจากผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษาฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 โดยกลุ่มกฎหมายและคดี ได้สรุปผลการสืบข้อเท็จจริงพบว่า มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และจะดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวต่อไป 
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.
 

logoline