svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

25 มีนาคม 2434 วันสถาปนากระทรวงยุติธรรม 133 ปี กับความยุติธรรมในประเทศไทย?

24 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ในอดีต 25 มีนาคม 2434 วันสถาปนา "กระทรวงยุติธรรม" สิ่งแสดงถึงความทัดเทียมอารยประเทศ 133 ปี กับความยุติธรรมในประเทศไทย?

วันที่ 25 มีนาคม ถือเป็นอีกวันที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันที่ทำให้ประเทศไทย มีความเป็นสากล ทัดเทียมบรรดาอารยประเทศทั้งหลาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้ง "กระทรวงยุติธรรม" ขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2434 ในตอนแรกใช้ชื่อว่า "กระทรวงยุตติธรรม" ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงยุติธรรม" ในวันที่ 12 มีนาคม 2495 มี กรมพระสวัสดิวัตนวิสิษฐ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมคนแรก

การจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมของรัชกาลที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมศาลและตุลาการ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ให้เข้ามาไว้ในกระทรวงยุติธรรมเพียงกระทรวงเดียว เพื่อที่จะจัดวางรูปแบบศาล และกำหนดวิธีพิจารณาคดีขึ้นใหม่ เพื่อสร้างความทัดเทียมบรรดาชาติยุโรป

หลังจากที่การจัดการศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีความซับซ้อน และเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา จนทำให้ไทยประสบวิกฤตทางการศาล โดยเฉพาะการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนั้น เพราะกงสุลต่างประเทศที่เข้าในยุคนั้น ถือโอกาสตีความสนธิสัญญา และไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายและการศาลไทย จึงทำให้ประเทศไทยต้องปฏิรูประบบกฎหมาย และการศาลไทยใหม่อย่างเร่งด่วน

Nation STORY จะพาไปทำความรู้จักกระทรวงแห่งนี้ว่า มีความสำคัญอย่างไร มีการทำงานแบบไหน และกว่า 133 ปีที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมและระบบยุติธรรมของไทย มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง....

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย ก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการออกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากออก

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม แบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการ ส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรม ออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่า ศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร และไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม  บัญญัติให้ศาลยุติธรรม มีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรม นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ข้าราชการยุติธรรมในอดีต

 

 

 

 

โดยปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรม (อังกฤษ: Ministry of Justice) เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ประเภทกระทรวงของไทย มีภารกิจเป็นหน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินการเพื่อพัฒนากฎหมาย และระบบบริหารจัดการของกระบวนการยุติธรรม อย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนทางกฎหมาย ป้องกัน ปราบปราม แก้ไข ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคม และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การบังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย บังคับคดีทางอาญา บำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด มี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คนปัจจุบัน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มีการแบ่งการบริหารงานภายในกระทรวงประกอบด้วย 

ส่วนราชการ

  • สำนักงานรัฐมนตรี
  • สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
  • กรมคุมประพฤติ
  • กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
  • กรมบังคับคดี
  • กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
  • กรมราชทัณฑ์
  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ
  • สำนักงานกิจการยุติธรรม
  • สถาบันนิติวิทยาศาสตร์


หน่วยงานในบังคับบัญชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

  • สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)
  • สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ป.ป.ง.)


องค์การมหาชน

  • สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เป็นองค์การมหาชนตามพระราบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
  • สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติเฉพาะ


ส่วนงานสนับสนุนพิเศษ 

  • องค์กรอิสระตามพระราชบัญญัติเฉพาะ อาทิ  คณะกรรมการป้องกันอาชญากรรมและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 

ที่ทำการกระทรวงยุติธรรมในปัจจุบัน

133 ปีกระทรวงยุติธรรมไทยกับพัฒนาการและสิ่งที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ แม้การทำงานของกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังมีปัญหาใหญ่สำคัญคือ ปัญหาความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย ในสายตาของนานาชาติ รวมถึง ในสายตาของประชาชนชาวไทย

ซึ่งในการสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ กระบวนการยุติธรรมไทย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน เชื่อมั่นอนาคต” โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย THAILAND INSTITUTE OF JUSTICE เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 มีการระบุว่า 

ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยในภาพรวม เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา มีคดีสำคัญเกิดขึ้น และเป็นคดีที่สาธารณชนจับตามองเป็นอย่างมาก เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นระยะ อีกทั้งมีการเข้าแทรกแซงของต่างประเทศ สาเหตุหลักเกิดจาก ความไม่เชื่อมั่นในการดำเนินงาน ด้านกระบวนการยุติธรรมของไทย และความไม่เชื่อถือในมาตรฐานหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย พึงได้รับตามหลักสากล

ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก แม้กระทั่งในสายตาของประชาชนชาวไทยเอง ต่างก็ไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยเช่นเดียวกัน ความไม่เชื่อถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปัญหาเรื่องบุคลากร ปัญหาระบบ อุปถัมภ์ ฯลฯ 
25 มีนาคม 2434 วันสถาปนากระทรวงยุติธรรม 133 ปี กับความยุติธรรมในประเทศไทย?

การเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้ยุติธรรม” 

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเวทีนโยบายสาธารณะว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ผ่านรายการ 101 Policy Forum #11 : “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้ยุติธรรม” ระบุว่า ปัญหาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทยตอนนี้มี 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ ตัวกฎหมาย ปัญหาที่เห็นชัดเจนที่สุดตอนนี้ คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายที่ต้องการการสอบสวนทั้งหลาย

ส่วนที่สองคือ การบังคับใช้กฎหมาย เช่น คดีบอส อยู่วิทยา ซึ่งเป็นปัญหาของยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่บังเอิญสังคมได้พบเจอ หรือปัญหาเรื่องการใช้บังคับกฎหมายกับผู้ชุมนุมประท้วงและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง  ซึ่งเป็นการแสดงเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุดว่า การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย กำลังมีปัญหาอย่างน่าวิตกมาก ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เราแทบไม่ค่อยเจอปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นอยู่อย่างตอนนี้ เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง และสร้างความสั่นสะเทือน ต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมภาพรวมทั้งหมด
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 https://www.sdgmove.com/  ได้เผยแพร่รายงาน The World Justice Project ถึงดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2566 ของ 142 ประเทศทั่วโลก โดยจัดทำจากข้อมูลการสำรวจประสบการณ์ และความรับรู้ต่อหลักนิติธรรมในชีวิตประจำวัน ของผู้คนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,400 คน

โดยประเทศไทยมีอันดับ "ดัชนีหลักนิติธรรม"  รั้งอันดับที่ 82 ของโลก ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน โดย 1 คือการมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด และ 0 คือมีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ อันดับดังกล่าวถดถอยลงจากปี 2565 ซึ่งได้อันดับที่ 80 ได้คะแนน 0.50 คะแนน 

และเมื่อจำแนกคะแนนของไทยแบ่งตามรายปัจจัยทั้ง 8 ปัจจัย มีดังนี้ 

  • การจำกัดอำนาจของรัฐบาล ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 100 
  • การปราศจากการคอร์รัปชัน ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 72
  • รัฐบาลที่โปร่งใส ได้ 0.48 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 77
  • สิทธิขั้นพื้นฐาน ได้ 0.46 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
  • ระเบียบและความมั่นคง ได้ 0.74 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 65
  • การบังคับใช้กฎหมาย ได้ 0.44 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 103
  • กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้ 0.49 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 87
  • กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้เพียง 0.41 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 76

ตราพระดุลพ่าห์ ตราสัญลักษณ์กระทรวงยุติธรรม

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงและภาพ : 
https://www.the101.world/thai-justice-system-reform/
https://www.tijthailand.org/uploads/publication/file/20190513/th-cefjopx04568.pdf
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1_(%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2) https://www.sdgmove.com/2023/11/01/rule-of-law-index-2023-thailand/
https://www.coj.go.th/th/content/page/index/id/3

logoline