svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก "พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์" ผู้ไปขอศาลออกหมายจับบิ๊กตำรวจ-ลูกน้อง

13 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชื่อของ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ( รอง ผบช.น.) ปรากฏบนสื่อหลายสำนัก หลังเมื่อวานนี้ (12 มีนาคม 2567) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องขออนุญาตศาลอาญารัชดา ออกหมายจับข้าราชการตำรวจ และพลเรือน รวม 5 คน กรณีพบหลักฐานเส้นเงินเชื่อมกับเว็บพนัน BNKMaster

ทั้งนี้ ศาลได้อนุมัติหมายจับตำรวจ 3 นาย พลเรือน 1 คน ส่วนบิ๊กตำรวจระดับนายพล ให้ออกหมายเรียกก่อน เนื่องจากเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ โดย พล.ต.ต.ทินกร เปิดเผยก่อนเดินทางกลับ ว่า "ไม่กดดันเพราะเราทำตามกฎหมาย" Nation STORY ชวนทำความรู้จัก "พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์" มือสืบสวนคดีสำคัญหลายคดี ที่กล้าชนบิ๊กตำรวจ

พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 30 และนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 46 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับตำรวจนักสืบมือฉมังหลายคน อาทิ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ​ ผบช.สพฐ., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. เป็นต้น

เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง รอง สวส.สน.บางซื่อ ระหว่างทำหน้าที่งานสอบสวน ได้รับรางวัลเป็นพนักงานสอบสวนดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นได้ผันตัวมาทำงานด้านสืบสวน ในตำแหน่ง รอง สว.กก.สส.บก.น.1 ก่อนได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญาขั้นพิเศษ 30 นักสืบดาวรุ่ง สมัย พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เป็น ผบช.น.

ทำงานสืบสวนได้พักใหญ่ ขยับไปเป็นนายเวรของ พล.ต.ต.วรพงษ์​ ชิวปรีชา ผู้บังคับการอำนวยการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง (ในขณะนั้น) และอยู่สายอำนวยการในสำนักงานส่งกำลังบำรุง กว่า 7 ปี ทำให้มีความรู้ด้านงบประมาณ และการส่งกำลังบำรุงเป็นอย่างดี

พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.น.

ต่อมาปี 2547 เกิดเหตุปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จึงได้ติดตามนาย พล.ต.ต.วรพงษ์ ชิวปรีชา ไปทำงานอยู่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) และได้ย้ายไปดำรงตำแหน่ง สารวัตรในกองบังคับการปราบปราม ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ เป็นทีมสืบสวนคดีสำคัญ เช่น ฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา, คดีจูหลิง ปงกันมูล เป็นต้น

ทำงานอยู่ในกองบังคับการปราบปรามหลายปี จนเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับฝ่ายอำนวยการ บก.ปอท. ก่อนโยกกลับอยู่กองปราบฯ ในตำแหน่ง ผกก.6 บก.ป. ดูแลพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง

ช่วงที่ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการปราบปรามยาเสพติด 3 ได้คลี่คลายคดีสำคัญ เช่น คดีเล่าต๋า พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่, คดีเครือข่ายยาเสพติดกลุ่มเครือข่ายโก๋แก่ มันทุกเม็ด เป็นต้น และเป็นผู้นำแนวทางการขยายผลเส้นทางการเงินในคดียาเสพติด เพื่อติดตามยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ และ พ.ร.บ.ฟอกเงิน

ก่อนได้รับความไว้วางใจเลื่อนเป็น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา สมัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็น ผบ.ตร. เนื่องจากมีความรู้ ความเข้าใจในเนื้องานของภารกิจสามจังหวัดภาคใต้เป็นอย่างดี

ปี 2565 พล.ต.ต.ทินกร ได้ขยับขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ( รอง ผบช.สพฐ. ) กระทั่งในปี 2566 โยกจาก รอง ผบช.สพฐ. มาเป็น รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานปราบปรามยาเสพติด (ปส.)

พล.ต.ต.ทินกร ยังสวมหมวกอีกใบ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. ชุดที่ 4 หรือ ตำรวจ PCT ชุดที่ 4 มีบทบาทในการดําเนินการระดมกวาดล้าง อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและอาชญากรรมทั่วไป ทั้งการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โรมานซ์สแกม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เข้าข่ายการหลอกลวง

ทั้งนี้ ตำรวจ PCT ชุดที่ 4 เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กรณีเข้าจับกุมเว็บพนันมินนี่ ก่อนมีการขยายผลไปจับกุมตำรวจอีกหลายคน

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งยุบศูนย์ PCT ไปแล้ว แต่ยังคงตัวศูนย์ PCT ไว้ เก็บรวบรวมข้อมูล และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการทำงาน โดยมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ทำหน้าที่คอยควบคุมดูแล
 

ขอบคุณข้อมูล : YalaToDay ยะลาทูเดย์, ฅนมีสี

logoline