svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปมร้อน ทบ. "ชัยภูมิ ป่าแส" กับคำตอบจากกองทัพ เมื่อไหร่จะใช้คืนความเป็นธรรม

16 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปมร้อน ทบ. "ชัยภูมิ ป่าแส" กับคำตอบจากกองทัพ เมื่อไหร่จะใช้คืนความเป็นธรรมให้จริง ๆ หลังถูกเพจดังด้านสิทธิมนุษยชนแฉ ผ่านมา 3 เดือน ยังไม่มีการเยียวยาตามคำพิพากษาศาล

กลายเป็นเรื่องร้อน ๆ ให้สังคมกลับมาให้ความสนใจกับ กรณีของ "ชัยภูมิ  ป่าแส" หรือ "จะอุ๊" นักกิจกรรมเยาวชนสิทธิมนุษยชน "ชาวลาหู่" จ.เชียงใหม่ ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตคาด่าน ไม่ไกลจากบ้านนักเมื่อปี 2560

โดยคดีนี้ทางครอบครัว ต้องต่อสู้ทวงความยุติธรรมนานกว่า 6 ปี จากยกฟ้อง จนนำไปสู่คำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ให้มีการชดใช้แก่ครอบครัวของ "ชัยภูมิ  ป่าแส" จำนวน 2 ล้านบาท
ชัยภูมิ  ป่าแส" หรือ "จะอุ๊" นักกิจกรรมเยาวชนสิทธิมนุษยชน "ชาวลาหู่"  

หลังคำพิพากษาดังกล่าว เรื่องราวของ "ชัยภูมิ  ป่าแส" ดูเหมือนจะจบลง แต่แล้วโฟกัสของสังคมก็จับจ้องมาที่กองทัพบกอีกครั้ง เมื่อเพจเฟซบุ๊ก Cross Cultural Foundation (CrCF) ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาเปิดเผยว่า

"นับตั้งแต่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา จวบจนถึงปัจจุบัน จากการติดตามเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ที่กองทัพยังคงไม่ดำเนินการนำเงินมาวางที่ศาล ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวของ "ชัยภูมิ ป่าแส" ผู้ซึ่งได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมนับเป็นเวลานานกว่า 6 ปี โดยไม่ทราบเหตุผลความจำเป็นที่ยังไม่ชำระเงินตามคำพิพากษาแต่อย่างใด"

 

งานนี้ทำเอากองทัพบก ต้องรีบออกแถลงการณ์ออกมาชี้แจง ในวันถัดมาคือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 โดยระบุว่า จากกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ให้กองทัพบกจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ มารดาของ นายชัยภูมิ  ป่าแส เป็นจำนวนเงินกว่าสองล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333/2566  เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 นั้น

กองทัพบกไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการเร่งรัดการดำเนินการ ตามคำพิพากษาของศาลมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเบิกจ่าย ตามกระบวนการของทางราชการ โดยคาดว่า จะดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย ให้กับผู้เสียหายได้ภายในเดือน กุมภาพันธ์ 2567 นี้

โดยกองทัพบกได้มีการติดต่อกับครอบครัวของผู้เสียหาย และชี้แจงทำความเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ทราบแล้ว พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกระบวนการยุติธรรม
ร.อ.หญิง จุฑาพัชร  เปรมบัญญัติ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก
 

ย้อนคดี "ชัยภูมิ ป่าแส" จากจุดเริ่มต้น สู่วันที่ได้รับความเป็นธรรม (จริงๆ)

คดีของ "ชัยภูมิ ป่าแส" นั้นเริ่มต้นเรามาทำความรู้จักกับเขาก่อนว่า เป็นใครมาจากไหน 

- "ชัยภูมิ ป่าแส" หรือ จะอุ๊ อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

- นักกิจกรรมเยาวชนสิทธิมนุษยชน "ชาวลาหู่" จากประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสิทธิความชอบธรรมของชนกลุ่มน้อยภายในสังคม

- มีความสามารถเรื่องแต่งเพลง ร้องเพลง และร่วมกับ "กลุ่มรักษ์ลาหู่" ทำหนังสั้นจนได้รับรางวัล จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นและวิดีโอครั้งที่ 16 ของมูลนิธิหนังไทย เมื่อปี 2555

- "ชัยภูมิ" มีความฝันคือต้องการนำเด็ก ๆ ที่ติดยาออกจากยาเสพติด ต้องการให้เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือมีการศึกษา ต้องการให้เด็กได้ร่วมทำกิจกรรมมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน

- นักกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด ที่ถูกทหารวิสามัญเสียชีวิต ข้อหาครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด 2,800 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในที่กรองอากาศ รถเก๋งฮอนด้าแจ๊ส โดยทหารอ้างว่า "ชัยภูมิ" ต่อสู้ขัดขืน และจะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่
"ชัยภูมิ ป่าแส" หรือ จะอุ๊

จุดเริ่มต้นของคดี "ชัยภูมิ ป่าแส" สู่บทสรุป 

วันที่ 17 มี.ค. 2560 "ชัยภูมิ ป่าแส" หรือ จะอุ๊ เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งขณะนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร บริเวณด่านบ้านรินหลวง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขายิงเสียชีวิต   

โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุ กล่าวอ้างว่า พบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในรถที่ชัยภูมิขับมา และชัยภูมิได้ขัดขืนการจับกุม และจะควักระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" จนเสียชีวิต  
ภาพการตรวจค้นรถก่อนการวิสามัญ "ชัยภูมิ ป่าแส"

วันที่ 9 สิงหาคม 2561 สำนักงานเลขานุการกองทัพบก มีหนังสือลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ส่งถึง รัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทนายความคดีวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" โดยเนื้อความในหนังสือระบุว่า

“วันที่ 24 มีนาคม 2560 กองบัญชาการควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 5 (บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5) ได้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิด ออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวง เพื่อเตรียมการส่งให้สถานีตำรวจภูธรนาหวาย และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 กองกำลังผาเมือง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมดำเนินการเปิดดูข้อมูลภาพเหตุการณ์ของวันที่ 17 มีนาคม 2560

แต่ภาพในเครื่องบันทึกข้อมูล เป็นภาพของวันที่ 20 - 25 มีนาคม 2560 ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ทดลองทำสำเนาไฟล์ข้อมูลในช่วงวันที่ 17 มีนาคม 2560 ห้วงเวลา 10.00 - 10.10 น. เพื่อเปิดดู แต่ก็ไม่พบภาพข้อมูลใด ๆ ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 จึงไม่ได้เก็บสำเนาไฟล์ดังกล่าว เพราะไม่มีข้อมูลใด ๆ”

ทั้งนี้ข้อมูลตามหนังสือตอบกลับของกองทัพดังกล่าว ค่อนข้างขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ ของผู้นำกองทัพที่เคยระบุทำนองว่า พวกเขาได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว
 

"น้องพลทหารยิงเพียงนัดเดียว ขณะที่เขาทำท่าขว้าง ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ได้ เขาตั้งใจทำงาน ต้องให้กำลังใจเขา ยิงนัดเดียวก็สมเหตุสมผล ยิงตรงแขน แต่กระสุนชิ่งไปโดนจุดสำคัญ อันนี้ก็เป็นบุญของน้องเขา มีเพียงแค่นี้"

23 มีนาคม 2560 พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 (ในขณะนั้น) กล่าวภายหลังได้ดูกล้องวงจรปิด เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 
พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 (ในขณะนั้น)

26 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาคดีที่ นาปอย ป่าแส แม่ของ ชัยภูมิ ป่าแส เป็นโจทก์ฟ้องกองทัพบก ให้ชดใช้ทางละเมิด กรณีทหารสังกัดกองทัพบก วิสามัญ "ชัยภูมิ" 

26 ตุลาคม 2564 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ พ2591/2562 ที่ นาปอย ป่าแส มารดาของ "ชัยภูมิ ป่าแส" เป็นโจทก์ฟ้องกองทัพบกเป็นจำเลย ให้ชดใช้ทางละเมิด กรณีเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองทัพบก ได้วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ 

26 มกราคม 2565 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยยืนตามศาลชั้นต้นคือ ยกฟ้องคดี “ครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส" ฟ้องกองทัพบก หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ทำหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ 
ปมร้อน ทบ. \"ชัยภูมิ ป่าแส\" กับคำตอบจากกองทัพ เมื่อไหร่จะใช้คืนความเป็นธรรม

16 พฤศจิกายน 2566 ศาลฎีกาได้พิพากษา สั่งให้กองทัพบก ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการวิสามัญ "ชัยภูมิ ป่าแส" ชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัว เป็นจำนวนเงิน 2,072,400 บาท โดยเป็น ค่าปลงศพ 120,000 บาท , ค่าอุปการะแม่ 1,952,400 บาท และ ค่าทนายความ 50,000 บาท สำหรับค่าเยียวยาทางจิตใจ ที่ครอบครัวได้เรียกร้องไปนั้น ศาลเห็นว่า ทางครอบครัวของ "ชัยภูมิ" ต้องเป็นผู้เรียกร้องเอง

คดีนี้สำคัญอย่างไร? 

- การสังหาร "ชัยภูมิ ป่าแส" ก่อให้เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีพยานให้ข้อมูลว่า "ชัยภูมิ" ไม่มีอาวุธ ตรงกันข้ามกลับถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังประทุษร้าย และถูกยิงเสียชีวิตคาที่ คดีนี้มีการแต่งตั้งทนายขึ้นมา เพื่อติดตามตรวจสอบทางคดี เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่อาจกระทำเกินกว่าเหตุ รวมไปถึงมีการตั้งคำถามว่า "ชัยภูมิ" อาจถูกยัดยา และ "ชัยภูมิ" มีระเบิดจริงหรือไม่?

- แม้ว่าหลังเกิดเหตุเพียง 1 สัปดาห์ กองทัพบกจะออกมายืนยันว่า มีพยานหลักฐานจากวงจรปิดในที่เกิดเหตุ แต่กลับไม่มีการนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ กระทั่ง 6 สิงหาคม 2561 สำนักงานเลขานุการกองทัพบก ได้ส่งหนังสือถึง นายรัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทนายความคดีวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส"

- มีใจความสำคัญว่า เจ้าหน้าที่ทำสำเนาไฟล์ข้อมูลในช่วงวันที่ 17 มีนาคม 2560 ห้วงเวลา 10.00-10.10 น. เพื่อเปิดดู แต่ก็ไม่พบภาพข้อมูลใด ๆ จึงไม่ได้เก็บสำเนาไฟล์ดังกล่าว เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับคำสัมภาษณ์ของผู้ทำกองทัพก่อนหน้านี้

ทำไมศาลฎีกาสั่งให้กองทัพบกชดใช้? 

- ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลย ไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ ที่ศาลฎีกาจะเชื่อถือได้มากกว่า พยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า "พลทหาร ส." ใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตาย เพื่อป้องกันตัวตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

- ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความ ของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ในชั้นไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตาย น่าเชื่อว่า "พลทหาร ส." ใช้ปืนยิงเพื่อสกัด ไม่ให้ผู้ตายวิ่งหลบหนี โดยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ต่อชีวิตของผู้ตาย แต่ "พลทหาร ส." นำอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธสงคราม มีอนุภาพร้ายแรง ใช้ปืนสกัดผู้ตายที่กำลังวิ่งหลบหนี ถือเป็นการกระทำโดยประมาท อันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ ในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตน ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นพ้องด้วยกับฎีกาของโจทก์เพียงบางส่วน

- ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดู เมื่อพิเคราะห์ความสามารถ ผู้ตายทำกิจกรรมต่าง ๆ มีรายได้ช่วยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และมีผลการเรียนระดับดีมาก น่าเชื่อว่าหากยังมีชีวิต จะสามารถสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จำนวนเงินค่าขาดการไร้อุปการะที่โจทก์ขอมา จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมตามพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งการละเมิดแล้ว

- ศาลฎีกาพิพากษากลับ ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัว "ชัยภูมิ ป่าแส" 2,072,400 บาท เป็นค่าปลงศพ 120,000 บาท, ค่าอุปการะแม่ 1,952,400 บาท และค่าทนายความ 50,000 บาท

คดีนี้จะส่งผลกับกองทัพอย่างไร? 

- จากคำพิพากษาศาลฎีกา นอกจากจะชี้ให้เห็นว่า กองทัพบก ต้องรับผิดชอบและเยียวยา ในผลแห่งการละเมิด ของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานคดีอื่น ๆ ที่มีความใกล้เคียงกัน และสร้างความหวังให้กับญาติผู้เสียชีวิตหลายคดี ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพอีกด้วย 
ปมร้อน ทบ. \"ชัยภูมิ ป่าแส\" กับคำตอบจากกองทัพ เมื่อไหร่จะใช้คืนความเป็นธรรม

logoline