svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

14 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คิดเห็นอย่างไร เมื่อรัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้ฉลากโชว์ภาพโทษของการดื่ม เหมือนบนซองบุหรี่ เพื่อหวังลดจำนวนผู้ดื่ม พร้อมเปิดขั้นตอนกว่าจะเป็นกฎหมายได้ต้องผ่านอะไรบ้าง

ยังคงต้องติดตามความคืบหน้ากรณี ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... หรือ กม.คุมเหล้า ที่มีการยกร่างทั้งในส่วนของราชการ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ซึ่งในส่วนของราชการโดยกระทรวงสาธารณสุข กำลังอยู่ในระหว่างการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย 

โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เพื่อติดตามความคืบหน้า โดยเรียกร้องให้เร่งส่งร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุข เข้าไปประกบกับร่างของภาคประชาชนและธุรกิจ ที่กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนของสภา เพราะความกังวลในร่างที่เสนอกลุ่มธุรกิจเนื่องจากมีการเสนอกฎหมายสุราเสรี
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

ในส่วนของ ร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 66 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค (ในขณะนั้น) เปิดเผยว่า ได้มีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติแล้ว พร้อมได้สั่งการให้เร่งจัดทำ เพื่อนำไปประกบกับร่างอีก 2 ฉบับ โดยขณะนี้ได้นำเสนอไปยัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เพื่อลงนามนำเสนอเข้าสู่ ครม. ต่อไป 
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค (ในขณะนั้น)

ล่าสุด ร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุข มีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง จะมีการอัปเดตอย่างไร Nation STORY จะมาเล่าให้ฟัง....
 

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ในส่วนของ ร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ระบบกลางทางกฎหมาย (http://law.go.th) โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็น ต่อร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง "หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. ...."

ระหว่างวันที่ 12 - 29 ก.พ. 67 มีเป้าหมายคือ ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , ผู้ประกอบการ , หน่วยงานของรัฐ , ประชาชน , ภาคประชาสังคม (NGOs) 

เนื่องจาก มาตรา 26 (1) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่
 

โดยคำอธิบายหลักการ หรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมาย ที่นำมารับฟังความคิดเห็นประกาศฉบับนี้ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลากและข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้าไว้ ดังนี้

1. กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นภาชนะบรรจุ ต้องมีปริมาณบรรจุสุทธิ ไม่น้อยกว่า 175 มิลลิลิตร 

2. กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ และฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องไม่ใช้ข้อความตามที่กฎหมายกำหนด 

3. กำหนดให้มีข้อความคำเตือน บนภาชนะบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4. กำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษ และพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งให้จัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 9 แบบ สับเปลี่ยนกันไปตามลำดับในอัตรา 1 แบบ ต่อ 1,000 ภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุ

5. กำหนดขนาดของข้อความคำเตือน ถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

6. กำหนดข้อยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับสุราสามทับ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายนอกราชอาณาจักร หรือผลิตหรือนำเข้าเพื่อเป็นตัวอย่างในการทดสอบ วิเคราะห์ หรือวิจัย โดยมีรายละเอียดในการผลิต หรือนำเข้าเพื่อการดังกล่าวอย่างชัดเจน และมิได้กระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้าในราชอาณาจักร

7. กำหนดให้บรรจุภัณฑ์และฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลิตหรือนำเข้าที่ได้จัดทำขึ้นไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้ ใช้บังคับให้ยังคงใช้ต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

8. กำหนดให้ประกาศมีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่


รัฐต้องการอะไรถึงให้มีแสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

ตั้งแต่ปี 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายาม ผลักดันกฎหมายลูก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่

1.ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ...

2.ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง รูปแบบของข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. ...

3.ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ พ.ศ. ...

4.ร่างระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. ....

ซึ่งในมาตรา 26 ในร่างแก้ไข ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีการกำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ดังนั้น ร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุข จึงถือเป็นหนึ่งในความพยายามควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเป็นเพิ่มมาตรการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

ทำไมต้องทำประชาพิจารณ์กฎหมาย 

การรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง กม.คุมเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุข นั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

โดยมีรายละเอียดดำเนินการดังนี้และขั้นตอนดังนี้  
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

กว่าจะออกเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องผ่านขั้นตอนอย่างไร

สำหรับกระบวนการออกหรือแก้ไขกฎหมายของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น มีขั้นตอนหลักสามขั้นตอน ได้แก่

1. การเสนอร่างกฎหมาย
2. การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
3. การประกาศใช้ กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ซึ่งผ่านกระบวนการตามปกติเช่นนี้ส่วนใหญ่เรียกว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 


ใครบ้างที่มีสิทธิเสนอกฎหมาย

กฎหมายมีหลายชื่อเรียก และแต่ละชื่อก็มีที่มา กับมีลำดับชั้นแตกต่างกัน เช่น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ออกโดยคณะรัฐมนตรี ในสภาวะฉุกเฉินหรือเร่งด่วน , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งรัฐสภาพิจารณาออกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ , พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งออกโดยรัฐสภา ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบนี้ 

ขั้นตอนแรกของการออกกฎหมาย คือ การจัดทำร่างกฎหมาย และเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 กำหนดให้ ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่

1.คณะรัฐมนตรี
2. สส. จำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 20 คน
3. ประชาชน 10,000 คน เข้าชื่อกันเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ 


ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ที่เสนอต่อสภาผู้แทนฯ มาจากการเสนอโดยคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้หมายความเพียงว่า คณะรัฐมนตรี จะประชุมกันและจัดทำร่างกฎหมายกันขึ้นมาเอง แต่ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ ถูกจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานราชการ เจ้าของเรื่องนั้น ๆ ที่ต้องการอำนาจตามกฎหมายเพิ่มเติม หรือต้องการแก้ไขกติกาที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่และพบเห็นปัญหา หน่วยงานราชการจะส่งร่างกฎหมาย ที่ตัวเองต้องการผ่านรัฐมนตรีกระทรวงนั้น ๆ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

สำหรับร่างกฎหมาย ที่เสนอโดยหน่วยงานราชการ ผ่านคณะรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ยังต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ช่างเทคนิค" กฎหมาย ที่คอยตรวจสอบการใช้ถ้อยคำว่า เขียนให้อ่านเข้าใจได้ หรืออ่านเข้าใจผิดหรือไม่ หรือปรับปรุงให้ใช้ถ้อยคำ ไปในทิศทางเดียวกันกับกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว 

ถ้า สส. หรือ ประชาชน จะเสนอร่างกฎหมาย ต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก่อน หรือ ถ้าสงสัยว่า ร่างกฎหมาย ให้ประธานสภาผู้แทนฯ และประธานคณะกรรมมาธิการสามัญของสภาผู้แทนฯ ทุกคณะประชุมร่วมกันและวินิจฉัยภายในเวลา 15 วัน 

ส.ส. มีอำนาจหลักพิจารณาร่างกฎหมาย 

เมื่อมีผู้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนฯ แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือ การพิจาณากฎหมาย โดยทั่วไปการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาแบ่งเป็น 3 วาระด้วยกัน ได้แก่

วาระที่หนึ่ง เรียกว่า "ขั้นรับหลักการ" เป็นการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมาย โดยผู้เสนอร่างกฎหมายจะมาชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบ ความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมายนั้น ๆ จากนั้น ส.ส. ในสภาจะอภิปรายเหตุผลคัดค้านหรือสนับสนุน ถามข้อสงสัย และตั้งข้อสังเกต แล้วจึงขอมติที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรว่า จะรับหลักการหรือไม่ ถ้ามีมติไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายนั้นก็จะ "ตกไป" ทันที ไม่ถูกพิจารณาต่อ ถ้ามีร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่มีหลักการทำนองเดียวกัน จะรับหลักการเฉพาะบางฉบับก็ได้ เมื่อสภามีสติด้วยเสียงข้างมาก ให้รับหลักการแล้ว ก็ให้สภาพิจารณาวาระที่สองต่อไป 

วาระที่สอง เรียกว่า "ขั้นกรรมาธิการ" เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา อาจเพิ่ม ตัดทอนหรือแก้ไขบางมาตรา หรือบางถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้น โดยสภาอาจให้ สส. ทุกคนร่วมพิจารณาในรายละเอียดก็ได้ เรียกว่า "คณะกรรมาธิการเต็มสภา" หรือ อาจตั้งคณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่ง ประกอบไปด้วยตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านขึ้นมาพิจารณาก็ได้

โดยทั่วไป สภาจะตั้งคณะกรรมาธิการมาประจำสภาอยู่แล้วหลายคณะและมี สส. เป็นกรรมาธิการอยู่ เรียกว่า "คณะกรรมาธิการสามัญ" หรืออาจตั้งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ เรียกว่า "คณะกรรมาธิการวิสามัญ" ซึ่งสามารถเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมาธิการได้ เช่น มาตรา 128 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอต้องมีตัวแทนจากประชาชนร่วมคณะไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญ

อย่างไรก็ตาม สส. ที่ไม่เป็นกรรมาธิการ ก็อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายได้ โดยเสนอคำขอ "แปรญัติ" ต่อประธานคณะกรรมาธิการภายใน 7 วัน หลังผ่านวาระแรก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการว่า จะแก้ไขตามหรือไม่ ถ้าคณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วย สส. ผู้นั้นอาจขอ "สงวนคำแปรญัติ" เช่นเดียวกันกับกรรมาธิการคนใด ที่เห็นต่างจากมติของคณะกรรมาธิการอาจขอ "สงวนความเห็น" ได้

เมื่อคณะกรรมธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ต้องนำร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมสภาอีกครั้ง โดย สส. ทั้งสภาจะมาอภิปรายร่างกฎหมายนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ประเด็นจะจำกัดอยู่ตามข้อความ ที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไข สงวนความเห็น หรือ สงวนคำแปรญัติเท่านั้น และสภาก็จะลงมติเห็นชอบโดยใช้เสียงข้างมาก เรียงตามมาตราไปเรื่อย ๆ จนครบ จึงให้สภาพิจารณาวาระที่สามต่อไป

วาระที่สาม เรียกว่า "ขั้นลงมติเห็นชอบ" เป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีการอภิปรายใด ๆ และจะแก้ไขข้อความใด ๆ ไม่ได้ ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะนำไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ถ้าไม่เห็นชอบร่างนั้นก็เป็นอันตกไป
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

สว. สามารถยับยั้งร่างกฎหมายได้ แต่ปัดตกไม่ได้ 

เมื่อวุฒิสภารับร่างกฎหมาย ที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ก็จะพิจารณาร่างกฎหมาย โดยแบ่งเป็นสามวาระเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนฯ แต่ต้องเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ หากไม่เสร็จภายในเวลาจะถือว่า วุฒิสภาได้เห็นชอบร่างกฎหมายนั้นแล้ว

โดยมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ร่างกฎหมายทั่วไปต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ส่วนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สามารถลงมติขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษได้ไม่เกิน 30 วัน

สว. ไม่มีอำนาจ "ปัดตก" หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แล้วหายไปได้  เมื่อ สว. พิจารณาร่างกฎหมายแล้ว สามารถลงมติได้ 3 กรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม  

หนึ่ง ถ้า สว. เห็นชอบด้วย ก็เท่ากับร่างกฎหมายนั้น ๆ ผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภาในขั้นตอนที่สอง  และเตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอน ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

สอง ถ้า สว. ไม่เห็นชอบด้วย ให้ "ยับยั้ง" ร่างกฎหมายไว้ก่อน และส่งกลับไปยังสภาผู้แทนฯ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 สส. อาจยกร่างกฎหมายนั้น กลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินให้ลดเหลือ 10 วัน และ หาก สส. นำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ และลงมติยืนยันร่างเดิม ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เท่าที่มีอยู่ หรือ สส. 251 คน (ถ้ามี สส. ครบ 500 คน) ก็ถือว่า ร่างฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

สาม ถ้า สว. มีมติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนฯ และถ้า สส. เห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้า สส. ไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม คือ การประกาศใช้ ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย ซึ่งระหว่างนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ระบุว่า หาก

1.นายกรัฐมนตรี
2.สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมดของแต่ละสภา หรือทั้งสองสภารวมกัน กล่าวคือ สส. 50 คน, สว. 25 คน หรือ สส. รวมกับ สว. รวมกัน 75 คน เห็นว่า ร่างกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ตัดข้อความนั้นออกไป แต่ถ้าข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป 

ทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมาย

เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา 145 ระบุให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ 

ร่างกฎหมายฉบับใด พระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้นไปแล้ว 90 วัน ไม่ได้พระราชทานคืน ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันอีกครั้ง ตามมาตรา 146 รัฐสภาหรือ สส. และ สว. สามารถลงมติยืนยันร่างกฎหมายนั้นอีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา (750 คน) หรือ สส และ สว. รวมกัน 500 เสียง และให้นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าอีกครั้ง ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายนั้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เลย
รัฐชงแก้ กม.คุมเหล้า ให้แสดงภาพโทษของการดื่มเหล้า เหมือนซองบุหรี่

ขอบคุณภาพและข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.ilaw.or.th/articles/3667
https://wiki.ocsc.go.th/
https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-401891791810
https://www.hfocus.org/content/2014/08/7878
https://ddc.moph.go.th/

logoline