svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ภปค. ตบหน้า "หมออ๋อง" ชี้ แก้ กม.คุมโฆษณาน้ำเมา สุดท้ายก็เข้าทางทุนใหญ่

ภปค. ตบหน้า "หมออ๋อง" ชี้ แก้ กม.คุมโฆษณาน้ำเมา สุดท้ายก็เข้าทางทุนใหญ่ แนะหาทางปิดช่องว่าง กม. ชงเข้มห้ามโฆษณาตราเสมือน เผยผลวิจัยในไทย พบโฆษณาเพิ่มโอกาสการดื่ม 16%

20 สิงหาคม 2566 ยังคงเป็นประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงกัน กรณีที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 โพสต์ภาพและคลิปคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า สามารถทำได้หรือไม่อย่างไร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

และยิ่งกลายเป็น "ดรามา" มากขึ้น เมื่อเจ้าตัว ยังคงยืนยันว่า ไม่หวั่นผิดกฎหมาย ซ้ำมองเป็นเรื่องดี สังคมได้ถกเถียง เนื่องจากมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ ปิดกั้นผู้ประกอบการรายย่อย-เอื้อรายใหญ่ โดยขณะนี้บรรดานักร้อง ต่างยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบว่า การกระทำของ "หมออ๋อง" ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ 
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1

กรณีดังกล่าว นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวว่า กรณีของ นายปดิพัทธ์  นั้น ทราบว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  ซึ่งมีอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นระบบอยู่แล้วว่า ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ 

ส่วนในมุมของคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานด้านสังคม โดยเฉพาะเรื่องการลดผลกระทบ ที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสินค้าที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีความเสี่ยงที่จะก่อโรค และความเจ็บป่วยถึง 230 โรค เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกกว่า 3.3 ล้านคนต่อปี

เฉพาะคนไทยพบว่า มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 43,000 คน นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 24.7 เด็กและเยาวชนร้อยละ 40.8 โดยพบว่า มีการก่อเหตุระหว่างดื่ม หรือภายใน 5 ชั่วโมงหลังการดื่ม อีกทั้งยังเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ ในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 25-30 
 

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบสูงสุด เมื่อเทียบกับสารเสพติดอื่น และส่งผลกระทบต่อผู้อื่น มากกว่าผู้ดื่ม การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นการจำกัดสิทธิบางประการ ของผู้ขายและผู้ดื่ม เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม” 


นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.)
 

ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก  (WHO) และนักวิชาการทั่วโลก  ยืนยันว่า การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ดังนั้นในส่วนของประเทศไทย จึงมีการกำหนดเอาไว้ในมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่ง ห้ามมิให้บุคคลใด โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะ โฆษณาเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการโฆษณาเชิญชวน โดยเฉพาะที่กระทำโดยบุคคลสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียง ย่อมมีผลต่อการเลือกที่จะดื่มหรือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน   

เห็นได้ชัดจากกรณีการลองดื่มโซจู ของเยาวชนไทยที่มากขึ้น ก็มีอิทธิพลจากซีรี่ส์เกาหลี ที่มีการเผยแพร่การดื่มโซจูอยู่เสมอ ดังนั้นการควบคุมโฆษณา จึงเป็นมาตรการสำคัญ   

“แน่นอนว่าทุกนโยบาย ที่เกี่ยวกับการควบคุม อาจกระทบสิทธิส่วนบุคคลบางประการของผู้ขาย และผู้ดื่ม แต่นั่นก็เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นหลักการสากล  การเสนอแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  เพื่อยกเลิกมาตรการควบคุมการโฆษณานั้น
 

คำถามสำคัญคือ การทำให้รายเล็กโฆษณาได้ แต่รายใหญ่ที่มีสัดส่วนครองตลาด กว่าถึงร้อยละ 95 ทุนใหญ่กว่า ก็ย่อมทำการโฆษณา ทำตลาดได้มากกว่าด้วย ส่วนที่บอกว่าลดทุนผูกขาด มันคืออะไรกันแน่ สุดท้ายก็เข้าทางทุนใหญ่ และนโยบายให้ขายได้ 24 ชั่วโมงก็เช่นเดียวกัน สุดท้ายทุนใหญ่ ก็ได้ประโยชน์ไปด้วยอยู่ดี  จริง ๆ ยังมีเรื่องที่ควรทำอีกมากมาย ที่จะจัดการกับความฉ้อฉล ของทุนเหล้าขาใหญ่ เช่น การห้ามใช้ตราเสมือนมาโฆษณา เป็นต้น


ผลวิจัยชี้การโฆษณาส่งผลให้มีการดื่มมากขึ้น 

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่า การได้รับสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งรูปแบบดั้งเดิมและออนไลน์

ส่งผลให้มีการดื่ม และการดื่มหนักมากขึ้น เช่น ผลการวิจัยในประเทศไทยเรื่อง ”Association between Self-Reported Exposure to Alcohol Advertisements and Drinking Behaviors: An Analysis of a Population-Based Survey in Thailand” พบว่า การได้รับสื่อโฆษณา เพิ่มโอกาสในการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ร้อยละ 16 และการดื่มหนักขึ้น ร้อยละ 35-51

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกลุ่มนักเรียน 9,709 คน จากประเทศเยอรมัน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ พบว่า การได้รับสื่อแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ เพิ่มโอกาสในการเริ่มดื่มขึ้นร้อยละ 26 และการดื่มหนักขึ้นร้อยละ 24 

และยังมีข้อสรุป จากการทบทวนการศึกษา 25 เรื่องว่า การมีส่วนร่วมกับสื่อแอลกอฮอล์ออนไลน์ เช่น การคลิก การกดไลค์ การแชร์เนื้อหา มีความสัมพันธ์กับการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เพิ่มขึ้น การจำกัดการเข้าถึง สื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ จึงเป็นมาตรการที่สามารถช่วยลดการดื่ม และการดื่มแบบความเสี่ยงสูง (ดื่มหนัก) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผลกระทบเชิงลบลงได้

ดังนั้นการควบคุมการโฆษณา จึงเป็นมาตรการสำคัญที่มาถูกทาง ส่วนอาจจะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น แล้วถ้าจะแก้ไขกฎหมาย ก็ต้องไม่ทำให้อ่อนแอลงหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ
รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์