svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โควิด JN.1 ยึดไทย กลายเป็นสายพันธุ์หลัก รู้ไหมป่วยแล้วมีอาการอย่างไร

11 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โควิดสายพันธุ์ JN.1 ยึดไทย กลายเป็นสายพันธุ์หลัก ระบาด ติดต่อได้ง่าย รู้ไหมป่วยแล้วมีอาการอย่างไร พบผ่านมา 4 ปี คนไทยมากกว่าร้อยละ 90 ติดเชื้อไปแล้วร่วมกับได้รับวัคซีน พร้อมชวนทำความรู้จักไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ

ยังคงต้องเฝ้าระวัง เกี่ยวกับสถานการณ์โรค ที่เกิดจากไวรัสในหมู่คนไทย ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 , ไข้หวัดใหญ่ , ไข้เลือดออก , RSV, hMPV  โดยเฉพาะ โควิด-19 ที่ข้อมูลการแพร่ระบาดพบว่า ในปี 2566 มาแรงแซงโค้งโรคจากไวรัสชนิดอื่น ๆ มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก  

หนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ยังคงมีประชาชนติดเชื้อ โควิด-19 จำนวนมาก เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลงจากเมื่อก่อน จึงทำให้ประชาชนละเลย ที่จะมีการป้องกันตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันเชื้อไวรัส โควิด-19 เองก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งสายพันธุ์ที่กำลังถูก WHO จับตาอยู่ในขณะนี้คือ โควิดสายพันธุ์ JN.1 หลังจากพบสายพันธุ์นี้ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ของโลก 
โควิด JN.1 ยึดไทย กลายเป็นสายพันธุ์หลัก รู้ไหมป่วยแล้วมีอาการอย่างไร

 

ล่าสุด นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...

โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้ 

ในที่สุด การคาดการณ์ว่า สายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย

จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่าสายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา

สายพันธุ์ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pirola ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่า สายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด

เป็นตามคาดหมาย สายพันธุ์นี้เข้ามาสู่ประเทศไทย เริ่มเด่นชัดในเดือนธันวาคม และแน่นอนหลังปีใหม่นี้ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ JN.1 สายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเล่น
โควิด JN.1 ยึดไทย กลายเป็นสายพันธุ์หลัก รู้ไหมป่วยแล้วมีอาการอย่างไร

ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้

ขณะนี้ทางศูนย์ ได้ติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงทำจำนวนได้ไม่มาก เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังแสดงในรูป จะเห็นว่าสายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนนี้สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น

ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่ มีผลอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทยที่ได้รับวัคซีนชนิดต่าง ๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา
 

รู้จักสายพันธุ์ของโควิด-19

นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้มีการโพสต์อธิบายสายพันธุ์ของโควิด-19 โดยสรุปง่าย ๆ ไว้ว่า 

โควิด 19 การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เกิดขึ้นตลอด

บทเรียนของโควิดที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอด ตามวิวัฒนาการ ตั้งแต่สายพันธุ์เดิมอู่ฮั่น ไล่มาจนถึงปัจจุบัน เราจะได้ยินชื่อสายพันธุ์ที่เรียกยากๆตามรหัส อักษร A, B, C เช่น B.1.1.7 ตามแบบการแบ่งของ Pangolin และเมื่อเกิดมีการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ (recombination) รหัสนำหน้าจึงใช้ตัวอักษร 2 ตัว เช่น XD, XC แล้วตามด้วยรหัสตัวเลข 

ต่อมาเกิดมีลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยใน BA เช่นผสมกันระหว่างBA.2.10 กับ BA.2.75 ก็เลยเกิดตระกูล XBB ขึ้นมาแล้วหลังจากนั้นก็มีการแปรเปลี่ยนมาโดยตลอด ชื่อและรหัสที่ตั้งขึ้นมาค่อนข้างยุ่งยากในการจดจำ 

ตามองค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อตามอักษรกรีก เป็น แอลฟา เบต้า แกรมม่า โอมิครอน  และลูกผสมที่อยู่ในโอมีคอรน เกิดขึ้นจำนวนมากมาย และระยะเวลาที่ยาวนาน จึงมีสายพันธุ์ใหม่มาก องค์การอนามัยโลกเองก็ไม่ได้ตั้งชื่อต่อจากนี้ไป 

นักชีววิทยา และวิวัฒนาการชาวแคนาดา ชื่อ Ryan Gregory เห็นว่าชื่อดังกล่าวที่ผ่านมา ตาม pangolin เข้าใจและจดจำได้ยาก  จึงเอาสัตว์หรือเทพ ๆ ในนิยายกรีก และดวงดาวมาตั้งชื่อ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และการตั้งชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับองค์การอนามัยโลก เราจึงได้ยินชื่อสายพันธุ์ เป็นชื่อสัตว์ในเทพนิยาย เช่น Kraken, Orthus, Pilora, Arcturus สำหรับเราชื่อกลุ่มนี้เราก็ไม่ค่อยคุ้น เช่น XBB ชื่อ Gryphon

อย่างไรก็ตาม ในการแตกลูกหลานในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในปีที่แล้ว จะมีลูกหลานแยกสายพันธุ์ออกมาจาก BA.2 และ BA.5 มากมายดังแสดงในรูป (รูปที่นำมา ต้องการเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพ ไม่ได้มีเจตนาทางการค้า)

บทเรียนของโควิด โดยเฉพาะวิวัฒนาการ เป็นบทเรียนทางวิทยาศาสตร์ที่ดียิ่ง เพราะยังไม่เคยมีไวรัสตัวใดที่มีการถอดรหัสพันธุกรรมจำนวนมากมายมหาศาลเป็นล้านๆตัวอย่างกับโควิด 19  และมีการติดตามวิวัฒนาการได้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ทั้งจีโนมของตัวไวรัส จึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการได้ทำการศึกษา

ประเทศไทยเราเองโดยเฉพาะที่ศูนย์ไวรัสวิทยาทางคลินิก ที่ทำการวิจัยอยู่ ก็ได้มีการถอดรหัสจีโนมl เป็นจำนวนมากเช่นกัน รรวมกับสถานที่อื่นๆในประเทศไทยจึงทำให้เขามีข้อมูลของประเทศไทยมากพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสที่ผ่านมา 

บทเรียนจากโควิด 19 ที่ผ่านมาทางด้านวิวัฒนาการ เป็นบทเรียนที่ดีมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ไม่เคยมีการศึกษามากเช่นนี้มาก่อน
 

ทำความรู้จักชนิดของวัคซีนโควิด-19

นพ.ยง ภู่วรวรรณ ยังโพสต์ถึงวัคซีนโควิด-19 ในประเทศอีกด้วยว่า 

โควิด 19  วัคซีน กาลเวลาเป็นที่พิสูจน์ 

ในระยะแรกที่เริ่มมีการใช้วัคซีนในประเทศไทย ที่มีวัคซีนอย่างจำกัดมาก มีความต้องการสูง ประเทศไทยได้วัคซีนเชื้อตายเข้ามาเริ่มแรก ผมและคณะได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด มีการฉีดสูงไขว้ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มีการว่ากล่าวให้ร้าย (bully) อย่างมาก ถูกดึงเข้าสู่การเมือง ขณะนี้กาลเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ข้อมูลที่กล่าวไว้ ถูกต้องทุกประการ ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการระบาด ขอให้เป็นสังคมอุดมปัญญา จะขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโควิดวัคซีน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ

1 วัคซีนโควิด 19 มี 4 ชนิด คือ ก. เชื้อตาย (inactivated vaccine; sinovac, sinopharm)  ข. ไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca; AZ)  ค. mRNA วัคซีน  ได้แก่ (Pfizer, Moderna) ง. โปรตีนสับยูนิต ได้แก่ Novavax 

2 วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน จะมีประสิทธิภาพดีในเดือนแรกๆหลังฉีด และระยะเวลาที่นานขึ้น จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพจึงไม่แตกต่างกัน ไม่มีวัคซีนเทพ

3 วัคซีนเชื้อตาย กระตุ้นภูมิต้านทานได้เท่ากับการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ต่ำกว่า วัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA

4 วัคซีนที่ใช้มากที่สุดในโลก คือ เชื้อตาย ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณวัคซีนที่ฉีดในโลก  โดยเฉพาะใช้มากในเอเชียและแอฟริการวมทั้งอเมริกาใต้ ประเทศที่ใช้วัคซีนดังกล่าวอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้สูงมากเท่าประเทศที่ใช้ mRNA วัคซีน อเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ซึ่งห่างกับประเทศจีนมาก หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย และไทย อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำกว่าอเมริกา และยุโรปมาก 

5 วัคซีนทุกตัว มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ตามหลักการของวัคซีน ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายจะใช้เทคโนโลยีเดิม เช่นเดียวกับวัคซีน ไวรัสตับอักเสบ A, Polio  ที่เป็นเชื้อตาย อาการข้างเคียง เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย น้อยกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA มาก รวมทั้ง อาการของหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ก็พบได้ น้อยกว่า

6 วัคซีนเชื้อตายราคาถูกกว่า mRNA มาก และการใช้ก็เก็บได้ง่าย เชื้อตายขวดละ 1 คน ขณะที่ mRNA ขวดละ  7-10 คน ทำให้เหลือทิ้งมาก และต้องเก็บที่อุณหภูมิลบ 70 องศา แต่วัคซีนเชื้อตายเก็บที่ตู้เย็นธรรมดาคือ 4 องศา การบริหารจัดการง่ายกว่า ความสูญเสียทิ้งน้อยกว่า

7 การให้วัคซีนสูตรไขว้ เป็นทางออกที่ทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย ของวัคซีนเชื้อตายมีระดับภูมิต้านทานสูง เช่น ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย mRNA ผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับการให้ mRNA 3 เข็ม ข้อมูลเผยแพร่ในวารสาร PGH (doi: 10.1080/20477724.2022.2108646) และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับสูตรไขว้

8 การให้สูตรไขว้ที่ใช้ในประเทศไทย เข็มแรกให้เชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย ไวรัสเวกเตอร์ AZ ภูมิต้านทานที่ได้ดีกว่าการให้ เชื้อตาย 2 เข็ม หรือไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก

9 วัคซีนเชื้อตายอาการข้างเคียงเช่นไข้และอื่นๆ น้อยกว่าไวรัสเวกเตอร์และ mRNA  มาก วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ AZ จะมีอาการข้างเคียงมากในเข็มแรก และจะน้อยลงในเข็มที่ 2 และ 3  ขณะเดียวกันภูมิต้านทานก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะ  vector ถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของเราที่เกิดขึ้นจากเข็มแรก ส่วน mRNA อาการข้างเคียงในเข็มที่ 2  จะมากกว่าเข็มแรก และจะมากขึ้นอีกถ้ามีการให้หลายๆครั้ง เช่นต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การให้สูตรไขว้ ทำให้ได้ mRNA จำนวนครั้งลดน้อยลง และระดับภูมิต้านทานไม่ได้แตกต่างกัน ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีนและในทางปฏิบัติการให้ครบ หมายถึงให้อย่างน้อย 3 เข็ม 

10 การได้รับวัคซีนไม่ว่าจะกี่เข็ม ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพียงแต่ว่าลดความรุนแรง เพราะระยะฟักตัวของโควิด 19 สั้นมากเพียง 2 วัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่มีวัคซีนเทพ ประสิทธิภาพที่แจงกันมาแต่แรก ส่วนใหญ่จากการศึกษาระยะสั้น ถ้าติดตามยาวออกไปก็จะรู้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 

เมื่อผ่านมาครบ 4 ปีแล้ว ประชากรส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ 90  ติดเชื้อไปแล้วร่วมกับได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ จึงเป็นภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม เป็นภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงลง ความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นก็ลดลง โรคได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และมียารักษาที่ดีขึ้นและเพียงพอ ไวรัสไม่ได้หายไปไหน การปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจ เป็นการทำที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด 19 เท่านั้นยังรวมถึงโรคหายใจอื่นๆ อีกด้วย
 

ข้อมูลจาก : Yong Poovorawan

logoline