svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ระวัง "โรคไอกรน" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

05 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งความห่วงใย กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนเฝ้าระวัง "โรคไอกรน" สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา พร้อมแนะนำให้สังเกตอาการ หากเด็กๆ มีอาการไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก ไอมากผิดปกติจนทำให้หายใจไม่ทัน ให้รีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญผู้ปกครองควรพาบุตรหลานฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด

สถานการณ์ล่าสุดใน ประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรนในระบบรายงาน 506 (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 กันยายน 2566 จำนวน 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ ต่ำกว่า 1 ปี โดยเขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดปัตตานีนั้น 

รู้จักโรคไอกรน
โรคไอกรน ไอกรน, ไอ 3 เดือน หรือ ไอร้อยวัน (Pertussis หรือ Whooping cough) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม) ที่เกิดจากเชื้อไอกรนซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอที่มีลักษณะเฉพาะคือ ไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน และหลังจากหยุดไอผู้ป่วยจะหายใจเข้ายาว ๆ จนเสียงดัง “วู้ป” (Whoop) สลับกันไปกับการไอชุด ๆ บางครั้งอาการอาจเป็นเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

แต่ทว่า โรคนี้มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาและมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดที่มีอายุเพียง 1 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากมารดาผ่านไปยังทารกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในวัยหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน แต่ในเด็กเล็กมักมีอาการรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

ระวัง \"โรคไอกรน\" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

หมายเหตุ : คำว่า Pertussis แปลว่า การไอที่รุนแรง

เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรนจะมีอาการไอเป็นอาการหลัก และมีเสียงไอที่มีลักษณะเฉพาะ (เสียงดังวู้ป) จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อในภาษาอังกฤษทั่วไปว่า Whooping cough หรือ ไอกรน (การไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบากตามหลังอาการไอ) ในภาษาไทยนั่นเอง ส่วนในภาษาจีนจะเรียกโรคนี้ว่า “โรคไอ 100 วัน”

โรคไอกรน เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย พบได้บ่อยในเด็กอายุ 2-6 ปี และพบได้มากในช่วงฤดูฝน บางครั้งอาจพบมีการระบาดเกิดขึ้นได้ทุก ๆ 3-5 ปี โดยเฉพาะในชนบทตามหมู่บ้านหรือโรงเรียน แต่ในปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว (ลดลงไปมากกว่า 90% เมื่อเปรียบเทียบสมัยก่อนที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน)

เนื่องจากเด็ก ๆ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้กันอย่างทั่วถึง ในประเทศที่มีการให้วัคซีนไม่ครอบคลุมทั่วถึง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนในประเทศที่มีการให้วัคซีนอย่างครอบคลุมทั่วถึง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี (เพราะยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม) อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะลืมหรือขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุได้ประมาณ 11-12 ปี หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน

ระวัง \"โรคไอกรน\" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

สาเหตุของโรคไอกรน 
เกิดจาก “เชื้อไอกรน” ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “บอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส” (Bordetella pertussis) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย กลไกการเกิดโรค : เมื่อเชื้อไอกรนเข้าสู่ทางเดินหายใจแล้ว เชื้อจะไปเกาะอยู่กับเซลล์เยื่อบุหรือเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นและผลิตสารพิษหลายชนิดออกมา ซึ่งจะส่งผลต่อการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ เช่น Pertussis toxin, Adenylate cyclase toxin, Dermatonecrotic toxin, Tracheal cytotoxin ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

ระวัง \"โรคไอกรน\" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

ซึ่งประมาณ 10% ของเด็กทารก เชื้ออาจเข้าสู่ปอดตามทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคปอดบวมเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เชื้อไอกรน เองมักจะไม่แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จึงมักไม่ก่ออาการกับอวัยวะอื่น ๆ นอกจากในระบบทางเดินหายใจส่วนบน การติดต่อ : โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกันได้เกือบทุกราย (โอกาสสูงถึง 80-100%) และถึงแม้จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเป็นปกติก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 20% ส่วนใหญ่ในเด็กจะติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (Carrier) หรือมีอาการไม่มาก

โดยติดต่อเข้าทางเดินหายใจโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองของน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศ หรือโดยผ่านมือที่สัมผัสถูกสิ่งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 5-21 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 5-10 วัน) ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค ระยะติดต่อ : ตั้งแต่เริ่มมีอาการ (ระยะเป็นหวัด) จนถึง 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการไอรุนแรง (Paroxysmal phase)

วิธีป้องกันโรคไอกรน 
โรคนี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) รวม 5 เข็ม โดยในเข็มแรกให้ฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี โดยปกติแล้วเด็กในช่วงอายุ 11-12 ปี จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine) กระตุ้น 1 เข็ม และต่อจากนั้นให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้กระตุ้นทุก ๆ 10 ปีต่อไป (วัคซีนนี้จะไม่รวมโรคไอกรน เพราะเป็นโรคที่มักพบได้เฉพาะในเด็กเล็ก แต่เดิมจึงมีคำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนรวม DTP แบบเดิมซ้ำอีก) แต่มีแพทย์บางท่านแนะนำว่าในช่วงนี้ควรฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ต่ออีก 1 เข็ม (รวมเป็น 6 เข็ม) แทนการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักที่ไม่รวมโรคไอกรน

นอกจากจะช่วยลดอัตราผู้ป่วยโรคไอกรนในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 5 ครั้งอีกด้วย ซึ่งในบางประเทศได้กำหนดให้ฉีดแบบนี้แทนแบบเดิมแล้ว ส่วนในกรณีที่ได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ในวัยเด็กมาครบ 5 เข็มแล้ว แต่ในช่วงอายุ 11-12 ปี ได้ฉีดแค่วัคซีนรวม 2 โรค คือ วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine)

ดังนั้นเมื่อจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้ง (ปกติคือทุก ๆ 10 ปี) แพทย์แนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนรวม 3 โรคไปเลย คือ ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) แทน 1 ครั้ง แล้วต่อจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนรวม 2 โรค (DT vaccine) กระตุ้นทุก ๆ 10 ปีต่อไปตามปกติ

ระวัง \"โรคไอกรน\" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

ปัจจุบันแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) จำนวน 1 ครั้ง แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 27-36 สัปดาห์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนในระดับที่สูงและสามารถให้ภูมิคุ้มกันนี้ผ่านไปยังทารกในครรภ์เพื่อป้องกันโรคไอกรนได้

สำหรับผู้ที่สัมผัสกับโรคนี้อย่างใกล้ชิด ถ้าไม่เคยได้รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนมาก่อน ควรไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ให้ครบตามปกติ ถ้าเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 3 ครั้ง ควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ในทันทีที่สัมผัสโรค (ยกเว้นเพิ่งฉีดเข็มที่ 3 มาแล้วภายใน 6 เดือน)

ถ้าเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 4 ครั้ง ควรฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง (ยกเว้นเพิ่งฉีดเข็มที่ 4 มาแล้วภายใน 3 ปี หรือเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม) นอกจากนี้ให้รับประทาน ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษาด้วย เป็นระยะเวลา 14 วัน ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนอาจไม่สูงพอในเด็กบางคน ผู้สัมผัสโรคทุกคนควรได้รับการติดตามดูว่าจะมีอาการไอเกิดขึ้นหรือไม่อย่างใกล้ชิด โดยต้องติดตามไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์
 

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ ควรปฏิบัติดังนี้ ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มรับประทานยาปฏิชีวนะ (ต้องแยกน้ำดื่ม อาหารการกินต่าง ๆ ของใช้ส่วนตัว และแยกห้องนอน) ในเด็กปกติที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน ถ้าในบ้านของผู้ป่วยมีเด็กทารกหรือมีบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคไอกรนในบุคคลเหล่านี้

ในช่วงที่มีการระบาด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือจากการสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่ ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

โรคนี้เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการไอเรื้อรังเป็นเดือน และจะค่อย ๆ หายไปเอง บางรายอาจมีอาการไอนานถึง 3 เดือน ถ้ามารักษาตั้งแต่แรกอาการอาจไม่มากและไอไม่นานจนถึง 3 เดือน ถ้าพบโรคนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ อาการชักเกร็งและหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจนในระหว่างที่ไอนานๆ

ระวัง \"โรคไอกรน\" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

การวินิจฉัยโรคไอกรน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติการสัมผัสโรคและลักษณะอาการของโรคเป็นหลัก ซึ่งอาการที่บ่งชัดว่าเป็นโรคไอกรน คือ อาการไอติดต่อกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปร่วมกับอาการไอที่เกิดขึ้นติดกันเป็นชุด ๆ ในช่วงสุดท้ายของการไอจะมีเสียงดังวู้ปหรือวู้ อาการอาเจียนหลังการไอ หรืออาการเกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคไอกรน เป็นต้น

 

ในกรณีที่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด อาจต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่ การเพาะเชื้อ เป็นวิธีมาตรฐานที่ทำโดยการนำสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกมาเพาะเชื้อ ซึ่งสามารถตรวจได้จนถึงประมาณ 3 สัปดาห์นับตั้งแต่มีอาการ


หลังจากนั้นโอกาสที่จะเพาะพบเชื้อจะมีน้อยลง การตรวจหาแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน (Immunoglobulin A หรือ Immunoglo bulin G) ที่จำเพาะต่อโรคไอกรน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากกว่า 4 สัปดาห์แล้ว แพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้แทนการเพาะเชื้อ โดยจะทำการเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง ถ้ามีการติดเชื้อไอกรนจะมีค่าแตกต่างกันมากกว่า 2 เท่าขึ้นไป แต่ทั้งนี้ในการเจาะเลือดครั้งแรกจะต้องไม่ใช่ช่วงระยะฟื้นตัวของการป่วย การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เป็นเพียงการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งจะพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ขึ้นสูงกว่าปกติ ซึ่งจะไม่เหมือนการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่จะมีเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ขึ้นสูง

การตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อไอกรนจากสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase chain reaction – PCR) แม้จะเป็นการตรวจที่ได้ผลรวดเร็วและแม่นยำกว่าการเพาะเชื้อ แต่ยังไม่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน เพราะยังมีความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ระหว่างค่าที่ตรวจได้กับอาการป่วย สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยไอกรน มักตรวจพบอาการคล้ายโรคหวัด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ คอไม่แดง และเสียงปอดปกติ

ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ และเวลาใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) หรือเสียงอึ๊ด (Rhonchi) อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว หนังตาบวมฟกช้ำ อาจพบอาการไอเป็นชุด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคไอกรน

ล่าสุดทางด้าน นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็กซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้

อาการของโรคจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 6 - 20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก และไอ โดยอาจเป็นต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรค คือ ไอเป็นชุด ๆ ถี่ ๆ ติดกัน 5 - 10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึก ๆ และมีเสียงดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด ทั้งนี้ อาการที่กล่าวมาอาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันนานถึง 2 - 3 เดือน

หากมีผู้ป่วยไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย

ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตว่า มีอาการไอหรือไม่ ติดตามผลอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่สัมผัสโรคใกล้ชิดควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ สคร.12 สงขลา ขอแนะนำให้ประชาชนนำบุตรหลานอายุต่ำกว่า 6 ปี เข้ารับวัคซีนให้ครบตามช่วงอายุที่กำหนด คือ อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และฉีดเข็ดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี พร้อมเน้นย้ำควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอขอบคุณที่มา : ข้อมูลอ้างอิง https://medthai.com

ระวัง \"โรคไอกรน\" เตือนประชาชนนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันตามเกณฑ์

logoline