svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมชาวนา พัฒนารักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้

26 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กับภารกิจส่งเสริมชาวนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพัฒนารักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง พืชเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียง และรายได้ให้แก่จังหวัดพัทลุง

26 ธันวาคม 2565 ที่ จ.พัทลุง นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เปิดเผยถึง ภารกิจที่สำคัญของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ว่า เป็นส่วนหนึ่งของรักษา ไว้ซึ่งพื้นที่การปลูกข้าวในภาคใต้ และพัฒนาระบบผลิตข้าวให้มีคุณภาพ อันจะนำประโยชน์สูงสุดสู่ชาวนาในภาคใต้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประชากรในภาคใต้ ก็จะได้บริโภคข้าวพันธุ์ดีที่มีคุณภาพ 

โดยจังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ราบอยู่ระหว่างทิวเขาบรรทัด กับทะเลสาบสงขลา มีความอุดมสมบูรณ์ด้านแหล่งน้ำ และสภาพผืนดินที่เอื้ออำนวยแก่การทำนา เป็นแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำของคนในภาคใต้ และเป็นแหล่งกำเนิดข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากมาย โดยเฉพาะ "ข้าวสังข์หยดพัทลุง" พืชเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียง และรายได้ให้แก่จังหวัดพัทลุงเป็นอย่างมาก 
นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง

นายกฤษณะ กล่าว่า ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เป็นหนึ่งในหน่วยงาน ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 เพื่อพัฒนาระบบการผลิตข้าวของจังหวัดพัทลุง และรวมถึงในหลายจังหวัดของภาคใต้ ให้มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยงานวิจัย การผลิตเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชาวนา มีเนื้อที่กว่า 1,496 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านควนกุฎ หมู่ที่ 15 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง 

ปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อยู่ภายใต้สังกัดของ "กรมการข้าว" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการค้นคว้าวิจัยด้านข้าวของภาคใต้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและข้าวคุณภาพ เสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตข้าวสู่การพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาอย่างยั่งยืน" และด้วยเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์ความหลากหลาย และใช้ประโยชน์จากข้าวพื้นเมือง เพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว สร้างมูลค่าทางการตลาดของสินค้าข้าว และเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการทำนา ให้แก่ชาวนาในภาคใต้ 
ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมชาวนา พัฒนารักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้
 

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง จึงได้แบ่งโครงสร้างการบริหารงาน ตามภารกิจออกเป็น 1 ฝ่าย และ 3 กลุ่มงาน ได้แก่ ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ในการประสานงานด้านธุรการ การเงิน และพัสดุ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ

กลุ่มที่ 1 ด้านวิชาการ รับผิดชอบปฏิบัติงานวิจัยด้านข้าวในทุกสาขาวิชา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในภาคใต้

กลุ่มที่ 2 ด้านผลิตเมล็ดพันธุ์ ปฏิบัติงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 2 ชั้นพันธุ์ คือ ชั้นพันธุ์คัด และชั้นพันธุ์หลัก โดยในปีงบประมาณปัจจุบันมีเป้าหมายการผลิตรวมทั้งสิ้น 110 ตัน ประกอบด้วยชั้นพันธุ์คัด จำนวน 10 ตัน และชั้นพันธุ์หลัก จำนวน 100 ตัน โดยเมล็ดชั้นพันธุ์หลักที่ผลิตได้จะจัดสรรให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อนำไปผลิตเป็นชั้นพันธุ์ขยาย ส่วนจำนวนที่เหลือจะจัดสรรให้ตามโครงการต่างๆ ของกรมการข้าว และจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง โดยในปัจจุบันพันธุ์ข้าวที่ผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ ได้แก่ กข55  ชัยนาท1  ปทุมธานี1  สังข์หยดพัทลุง  เฉี้ยงพัทลุง  เล็บนกปัตตานี ดอกพะยอม  และเหนียวดำหมอ 37 
ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมชาวนา พัฒนารักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้
ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมชาวนา พัฒนารักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้

กลุ่มที่ 3 ด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวในด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกร และผู้สนใจ ทั้งข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่ออกสู่การรับรองพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสม การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าว ที่เกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก 

นอกจากภารกิจหลักทางด้านการวิจัยแล้ว ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ยังให้ความสำคัญกับงานนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง การบูรณาการงานด้านข้าวกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องข้าวที่สำคัญ ของภาคใต้ให้แก่เกษตรกร นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ และบุคคลภายนอกผู้สนใจเรื่องข้าว

ข้าวไม่เพียงแต่มีความสำคัญในเชิงเป็นอาหารหลัก สำหรับการบริโภคเพียงเท่านั้น หากแต่ในภาคใต้ข้าวยังมีความสำคัญต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนเป็นอย่างมาก และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่ปลูกข้าว ของภาคใต้ลดลงเป็นอย่างมาก จากการถูกทดแทนด้วยพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ดังนั้นการพัฒนา และรักษาไว้ซึ่งข้าวพันธุ์ดี คิดค้นวิธีการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี และนำนโยบายที่เป็นประโยชน์ของภาครัฐให้ถึงมือชาวนา จึงเป็น ภารกิจที่สำคัญของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง 
 

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมชาวนา พัฒนารักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้

logoline