svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“นางเยาวรัตน์” Smart Farmer กับเส้นทาง อยู่ได้ อยู่ดี มั่นคงบนอาชีพทำนา

21 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“นางเยาวรัตน์” เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าว กับเส้นทางการนำความรู้สู่การอยู่ได้ อยู่ดี มั่นคงบนอาชีพทำนา

21 ธันวาคม 2565 ที่ จ.นครศรีธรรมราช นางเยาวรัตน์ ใจเพียร เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าว ที่มีความรู้ ความพร้อมในทุกด้านเกี่ยวกับข้าว จากการเข้าอบรมและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ จากศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช จนสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ รับหน้าที่เป็นวิทยากร ในการส่งต่อความรู้ ให้กับเกษตรกร และผู้ที่สนใจในพื้นที่ได้

รวมไปถึงสามารถต่อยอดองค์ความรู้ ให้กับสมาชิกในกลุ่มศูนย์ข้าว ชุมชนบ้านสี่กั๊ก นำข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรภายในชุมชนปลูก คือ ข้าวเล็บนก-ปัตตานี มาแปรรูปเป็นขนมไทยพื้นบ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนในชุมชน รวมถึงส่งจำหน่ายในท้องถิ่นชื่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา และ มีการแปรรูปข้าวที่ปลูกเอง (ข้าวเล็บนกปัตตานี และข้าวสังข์หยดพัทลุง) เป็นข้าวสารจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้ชื่อ "ข้าวพื้นเมืองบ้านสี่กั๊ก" และยังแปรรูปเป็นข้าวเปลือกอาหาร สำหรับสัตว์ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชน ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา 
นางเยาวรัตน์ ใจเพียร เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าว
 

นางเยาวรัตน์ เล่าว่า จุดเด่นในการทำขนมของกลุ่ม คือ กลุ่มจะมีสูตรเฉพาะของขนมในแต่ละชนิด เน้น 3 รสชาติหลักคือ เหนียว หวาน มัน อร่อย ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว เกิดการบอกต่อความอร่อยได้ มาตรฐานอีกอย่างคือ สด ใหม่ ทุกวัน ไม่มีการใส่สารกันบูด โดยจำหน่ายตามร้านค้า ตลาดในพื้นที่ แต่ปัจจุบันก็มีทำส่งให้โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือมีลูกค้าที่ได้ลองชิม แล้วติดใจในรสชาติที่ถูกปาก ก็จะสามารถสั่งได้โดยตรง

และในเรื่องเกี่ยวกับข้าวเปลือก ทางกลุ่มจะมีกิจกรรมคือ แปรรูปข้าวเปลือก เป็นข้าวสารจำหน่ายในรูปแบบแพ็คเกจ และเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ว่า เป็นข้าวปลอดสาร ไม่มีสารเคมี ไม่ใส่วัตถุเจือปน ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้ 

“นางเยาวรัตน์” Smart Farmer กับเส้นทาง อยู่ได้ อยู่ดี มั่นคงบนอาชีพทำนา

นางเยาวรัตน์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมอบรมโครงการต่าง ๆ ทำให้ตนนำความรู้ที่ได้รับมา ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรภายในกลุ่มและชุมชน มีการส่งเสริมให้คนในกลุ่มของตน ใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ในส่วนของปุ๋ยหมักได้นำวัสดุเหลือใช้จากในท้องถิ่น มาทำปุ๋ยหมัก เช่น แกลบ ขี้วัว เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปุ๋ยได้เยอะ และยังผลิตเพื่อจำหน่ายปุ๋ยหมักเป็นกระสอบ ให้กับเกษตรกรทั้งในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ถือเป็นการเพิ่มช่องทางทำมาหากิน อีกทั้งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสี่กั๊ก ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ในการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาขอเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 

ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา

นางเยาวรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ก็เข้ามาช่วยในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว กรรมวิธีในการปลูกข้าว นวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ ทางเจ้าหน้าที่มีการแนะนำเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือช่องทางการตลาดก็คอยแนะนำจัดหาช่องทางการขาย ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

และที่สำคัญคือ ทางศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช มีการอบรมให้ความรู้อยู่บ่อยครั้ง และเมื่อผ่านการอบรม ก็จะนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกภายในกลุ่ม โดยอาศัยในช่วงเวลาประชุมหมู่บ้าน ตอนนี้เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรในกลุ่ม สามารถเลี้ยงตนเองได้ พึ่งพาตนเองได้ ถือว่ามีความมั่นคงเพิ่มขึ้นมาก

ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา

ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา

logoline