svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สภาเปิดรายงาน ศึกษาวิจัย ผลกระทบระยาวและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

09 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดรายงาน กมธ. พาณิชย์ฯ ชงศึกษาวิจัยผลกระทบระยาวและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แนะแก้ประกาศกระทรวงพาณิชย์และ สคบ.พร้อมหาแนวทางเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

 

กมธ. พาณิชย์ฯ เผยแพร่รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์  หวังแก้ปัญหาสถานการณ์อุตสาหกรรม หลังชาวไร่ยาสูบ รายได้สรรพสามิตและผลประกอบการของ ยสท. ตกฮวบ สวนทางบุหรี่เถื่อนและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเติบโต แนะรัฐศึกษาผลกระทบในระยะยาวเพื่อวางนโยบายที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบต่อภาคสังคมโดยต้องเล็งเห็นถึงสัดส่วนระหว่างสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

นายอันวาร์ สาและ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา (กมธ พาณิชย์ฯ) สภาผู้แทนราษฎร

 

"นายอันวาร์ สาและ" ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา (กมธ พาณิชย์ฯ) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนพร้อมด้วย นายทศพร ทองศิริ ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่เป็นคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ตั้งแต่เมื่อปี 2560 เป็นการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่ไม่สะท้อนต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อวงจรผู้ผลิตในภาพรวม ทั้งชาวไร่ยาสูบ ผลประกอบการของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และรายได้ที่ ยสท. ต้องนำส่งรัฐ การลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน รวมไปถึงภาพรวมของการจัดเก็บภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการแก้ไข

 

นอกจากนี้ ยังระบุว่าอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ผู้บริโภคหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีการคิดค้นและใช้กันมาไม่นานมากนัก และยังไม่มีงานวิจัยที่รองรับผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งในสังคมยังมีการพูดถึงบุหรี่ไฟฟ้าทั้งในข้อดีและข้อเสีย ที่ยังไม่มีการสรุปได้อย่างแน่ชัด นอกจากนี้ยังมีกรณีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะหรือสถานที่ส่วนตัวจากการยืนยันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)

สภาเปิดรายงาน ศึกษาวิจัย ผลกระทบระยาวและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ การดำเนินการศึกษาพิจารณาของ กมธ. พาณิชย์ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด นักจิตวิทยา กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างครบถ้วนในประเด็นด้านสุขภาพและประเด็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

 

ในรายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุความเห็น ของ กมธ. พาณิชย์ฯ ว่า "โดยสรุปแล้วเมื่อพิจารณาจากภาพรวมจากข้อคิดเห็นต่างๆ พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ากำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุข เนื่องด้วยกฎหมายยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายได้ เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวด้านสุขภาพของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "เวเปอร์ (Vaper)" ได้

 

อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่แพร่หลายและสามารถหาซื้อได้ง่าย ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาภายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและเกิดพฤติการณ์การโฆษณาขายในอินเทอร์เน็ตอย่างชัดแจ้ง และมิได้มีมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับบุหรี่ซิกาแรต (บุหรี่มวน) ที่มีการขายในท้องตลาดซึ่งมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกาศใช้บังคับ ด้วยเหตุดังกล่าวการที่จะป้องกันการลักลอบนำเข้าซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการบูรณาการการทำงานกันตั้งแต่ต้นทาง กับทั้งเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าส่วนแบ่งในตลาดที่มีเป็นจำนวนมาก จะพบว่าประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการลักลอบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก"

 

การศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพของเวเปอร์เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจาก "ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรตในระยะยาว"

 

ฉะนั้น แพทย์ที่มีความชำนาญกับทั้งหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ในการวิจัยผลกระทบทางด้านสุขภาพต้องเร่งดำเนินการค้นคว้าข้อมูลโดยใช้ข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งข้อมูลเชิงประจักษ์ และงานวิจัยของต่างประเทศประกอบ เพื่อที่ภาครัฐจะได้วางแนวนโยบายที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไม่สูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าในส่วนบุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้มาตรการของรัฐที่จะออกมาเพื่อลดผลกระทบต่อภาคสังคมโดยต้องเล็งเห็นถึงสัดส่วนระหว่างสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

สภาเปิดรายงาน ศึกษาวิจัย ผลกระทบระยาวและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ กมธ.พาณิชย์ฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าเนื่องจากปัจจุบันงานวิจัยเกี่ยวกับจำนวนเวเปอร์ยังมีรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง (Under Report) และผู้ให้ข้อมูลมีความเกรงกลัวในการให้ข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบกับปัจจุบันผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงควรมีการศึกษาวิจัยสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับสถิติของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "เวเปอร์ (Vaper)" วิจัยเปรียบเทียบอันตรายของสารประกอบในบุหรี่ซิกาแรต (บุหรี่มวน) กับบุหรี่ไฟฟ้า และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยถึงข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้าในกรณีผู้ที่มีความต้องการสูบบุหรี่มวนในอัตราสูง สามารถใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกเพื่อการลดจำนวนการสูบและลดอันตรายจากบุหรี่ซิกาแรต (บุหรี่มวน) (Harm Reduction) รวมทั้งการศึกษาวิจัยถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าทางด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการต่อไปได้

 

ทั้งนี้ รายงานของ กมธ. พาณิชย์ฯ ฉบับดังกล่าวยังระบุว่ากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขจะต้องร่วมกันพิจารณาแก้ไข ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๗ และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักรพ.ศ. ๒๕๕๙ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะต้องหาแนวทางในการกำหนดมาตรการในการจัดเก็บภาษีของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยบนหลักการพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้ใช้และผลกระทบต่อคนรอบข้างเป็นสำคัญ โดยต้องมีการควบคุมให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขด้วย และเนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพิกัดอัตราศุลกากรประเภทต่าง ๆ รวมถึงพิกัดประเภทที่ ๒๔.๐๔ ซึ่งเป็นประเภท “ผลิตภัณฑ์ที่มียาสูบ ยาสูบชนิดรีคอนสติติวเตด นิโคติน หรือของที่ใช้แทนยาสูบหรือนิโคติน ที่เจตนาเพื่อการสูดเข้า (อินฮาเลชัน) โดยไม่มีการเผาไหม รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีนิโคติน ที่เจตนาเพื่อนำนิโคตินเขาสู่ร่างกายมนุษย์” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรายงานฉบับนี้เช่น ผลิตภัณฑ์พิกัดประเภทย่อยที่ ๒๔๐๔.๑๒.๑๐ ซึ่งเป็นประเภท “ของเหลวหรือเจลสำหรับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” ด้วยเหตุดังกล่าว ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับหรือการกำหนดนโยบายใด ๆ จะต้องสอดคล้องกับพระราชกำหนดฯ โดยนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมาธิการไปประกอบการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

 

เป็นที่น่าสังเกตุว่ารายงานฉบับดังกล่าวไม่มีส่วนใดเลยที่เสนอให้คงการแบนไว้ต่อไป จึงนับว่าเป็นความคืบหน้าสำคัญในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการถกเถียงกันมายาวนานกว่า 8 ปี จึงต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะรับลูกและดำเนินการตามความเห็นและข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการมากน้อยเพียงใด โดยยังสามารถปกป้องเด็กและเยาวชนแต่ไม่กระทบต่อทางเลือกของผู้บริโภค เช่นเดียวกับในเกือบ 80 ประเทศทั่วโลกได้
 

logoline