svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ซึมเศร้าในวัยเรียน สัญญาณเตือนก่อนสูญเสีย

28 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อายุน้อยก็ป่วยซึมเศร้าได้! ปี 2560-2564 กรมสุขภาพจิตพบว่าวัยรุ่นไทยอายุ 15-34 ปี อัตวินิบาตกรรม มากกว่าผู้ใหญ่มากถึง 4 เท่า จิตเเพทย์เเนะวิธีสังเกตลูกหลาน ความสูญเสียที่หยุดยั้งได้

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือพยายามทำร้ายร่างกายตัวเองในวัยรุ่นวันเรียน เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทับซ้อนกัน ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพื่อน การเรียน รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ อาทิเช่น เด็กวัยรุ่นมีปัญหาเรื่องการเรียน หรือเลิกกับแฟน แต่ถ้าเขามีครอบครัวที่คอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา การฆ่าตัวตายอาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ว่าถ้าเกิดเขามีหลายปัจจัยทับซ้อนกัน กลับมาที่บ้านความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ไม่ดี มีปัญหาเรื่องการเงินด้วย ก็อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2560-2564  พบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและทำร้ายร่างกายในวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น หรือช่วงอายุ15-34 ปี เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงานที่อายุเกิน 34 ปีขึ้นไป ถึง 4 เท่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในกลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปี ในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 428 คน และปี 2564 เสียชีวิต 439 คน  ส่วนในกลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี  พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในปี 2564 จำนวน 956 คน มากกว่า ปี 2563 จำนวน 896

 

การสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ชิดนับว่าสำคัญมาก หากลูกหลานมีอาการเศร้าเป็นเวลานาน เก็บตัว เหม่อลอย ไม่สุงสิงกับใคร และยิ่งอันตรายหากมีการบอกลา การสั่งเสีย การที่บอกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าไม่อยากอยู่แล้ว สัญญาณเหล่านี้จะเป็นตัวที่บอกได้ว่า คนๆ นี้อาจจะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย

โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกอีกว่า การฆ่าตัวตายเป็นการสูญเสียที่หยุดยั้งได้ โดยเริ่มจากหน่วยเล็กๆ ที่สุดในครอบครัว ครอบครัวให้เวลาซึ่งกันและกัน สร้างภูมิคุ้มกัน หรือภูมิคุ้มกันดีแล้ว แต่ว่ายังมีสัญญาณอยู่แล้ว อย่างน้อยก็จับสัญญาณได้ว่าเด็กคนนี้มีสัญญาณขอความช่วยเหลืออยู่ การพาเด็กไปตรวจประเมินวินิจฉัย หรือไปรับการรักษา ก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยได้อีกทางหนึ่ง

logoline