svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"สว." หรือ"พรรคสว."กันแน่ ความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตย"โหวตนายกฯ"

30 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มี "สว." คนไหนบ้างไหมที่เห็นว่าตัวเองขาดความชอบธรรมในการร่วมมือกับพรรคการเมืองบางพรรคเพื่อบล็อกพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล คำถามดังๆ จาก "โคทม อารียา" ติดตามได้ในเจาะประเด็นร้อน

มี สว. คนไหนบ้างไหมที่คิดว่า สว. ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และที่ผ่านมาเป็นเหตุบังเอิญที่คิดเหมือนกัน และเกือบทุกครั้งที่ลงคะแนน แทบทุกคนจึงออกเสียงตรงกันเหมือนเป็นบล็อกเดียวกัน คล้ายกับพรรคการเมืองที่โหวตตามมติพรรค

มี สส. คนไหนบ้างไหมที่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเห็นว่ากติกาการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่ให้ สว.ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารร่วมโหวตเลือกนายกฯนั้น เป็นกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

\"สว.\" หรือ\"พรรคสว.\"กันแน่ ความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตย\"โหวตนายกฯ\"

มี สส. คนไหนบ้างไหมที่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และคิดว่าตามกติกาประชาธิปไตย การโหวตเลือกนายกฯควรกระทำในสภาผู้แทนราษฎร และเสียงข้างมากของ สส. ควรเป็นฝ่ายเลือกนายกฯ

มี สส. คนไหนบ้างไหมที่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเห็นว่าเนื่องจากตัวเองไม่อยู่ในพรรคร่วมที่มีเสียงข้างมาก จึงควรร่วมมือกับ สว. เพื่อบล็อกพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยเหตุผลว่า "ตนเป็นว่าที่ฝ่ายค้าน" จึงไม่สามารถสนับสนุนว่าที่ฝ่ายรัฐบาลได้ ประหนึ่งว่าหน้าที่ "ฝ่ายค้าน" สำคัญกว่าหลักการประชาธิปไตย 

ท่านผู้มีเกียรติที่เป็นสมาชิกรัฐสภา บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าจะให้การเมืองเป็นวังวนซ้ำซาก หรือจะให้เป็นการเมืองแบบใหม่ที่โปร่งใสมากขึ้น มีความชอบธรรมและเคารพหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น

ท่านมีความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ถ้าไตร่ตรองและเห็นว่าการเมืองแบบเดิม ๆ ดีแล้ว และเห็นว่าผลการลงคะแนนเลือกตั้งที่ชี้ว่าพรรคการเมืองบางพรรคมีคะแนนนิยมในสัดส่วนที่น้อยมาก บางพรรคเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ บางพรรคเกือบสามเปอร์เซ็นต์นั้น ไม่สำคัญพอที่จะเปิดทางให้แก่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมเกือบสี่สิบเปอร์เซ็นต์บ้าง เกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์บ้าง ก็ตามใจ เพราะนี่เป็นความรับผิดชอบที่ท่านมีต่อบ้านเมือง

บทความนี้อยากชวนให้คิดถึงความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งฟังดูเป็นวิชาการบ้าง ในแง่การเมือง ระบอบการปกครองที่ชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย จะต้องได้รับการยอมรับจากสาธารณชน มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญจึงบัญญัติว่า 

"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐสภา ... ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม"

รัฐธรรมนูญมาตรา 114 ย้ำความในมาตรา 3 อีกครั้งหนึ่งว่า 

"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"

\"สว.\" หรือ\"พรรคสว.\"กันแน่ ความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตย\"โหวตนายกฯ\"

เป็นที่ชัดเจนตามมาตรา 3 ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” อำนาจอธิปไตยหมายถึงการมีอำนาจและใช้สิทธิบางประการในการปกครองได้ เช่น การตรากฎหมาย การศาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการทหาร เป็นต้น แล้วอำนาจนี้เป็นของใคร ก็เขียนอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า "เป็นของปวงชนชาวไทย" 

กล่าวซ้ำอีกครั้ง คือ พลเมืองไทยทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของอำนาจ แต่เนื่องจากพลเมืองไทยมีจำนวนมาก  การปกครองจึงใช้ระบอบรัฐสภาที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัครไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพื่อทำการแทนราษฎรนั่นเอง มาตรา 114 จึงเน้นว่า สส. ไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของใคร ให้ถือความผาสุกของประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง

ผมตีความว่า สส. ควรลงคะแนนเพื่อความผาสุกของประชาชนมากกว่าจะลงคะแนนแบบอัตโนมัติตามมติพรรคเท่านั้น

มาถึงความชอบธรรมของ สว. ในบทเฉพาะกาล ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร และให้มีอำนาจเกินกว่า สว. ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งโดยปกติจะมาจากการเลือกตั้งหรือการสรรหาโดยประชาชน เพื่อประชาชน

วุฒิสมาชิกที่นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชาแต่งตั้ง จำนวน 260 คน ในวันที่ 22 มีนาคม 2539 มิได้มีพฤติกรรมในการโหวตเป็นบล็อกเหมือน สว. หรือ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ได้รับการแต่งตั้งหลังการรัฐประหาร และมักคล้อยตามข้อเสนอที่มาจากฝ่ายรัฐบาล หมายความว่า สว. สมัยบรรหาร แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน แต่สามารถทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระจากอาณัติของฝ่ายบริหารได้ไม่มากก็น้อย

จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้า สว. ปัจจุบันมองย้อนไปดูประวัติการมี สว. และพฤติกรรมการออกเสียงของ สว. ในอดีต แล้วมาไตร่ตรองดู ว่าปัจจุบัน สว. ควรมีพฤติกรรมการออกเสียงแบบไหน

ผมหวังว่า สว. บางคนที่เคยบอกว่า การที่ สว. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นเอกฉันท์ในปี 2560 เป็นเพราะ "ว่าที่นายกรัฐมนตรี" สามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ท่านยังจะใช้เกณฑ์เดิมเหมือนในปี 2560 และเลือกผู้ที่พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อมา ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อีกหรือเปล่า  

คำถามนี้ไม่มีเสียงตอบกลับที่ชัดเจนว่าจะใช้เกณฑ์ใด แต่อย่างน้อยขอให้เกณฑ์นั้นปลอดจากอคติ 4 ประการ และปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (ดูมาตรา 114)

วุฒิสภาจะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 จึงขอเสนอท่าน สว. ว่า ในช่วงเวลาที่ยังไม่หมดวาระ ท่านมีโอกาสที่จะทำอะไรได้หลายประการที่สอดคล้องกับความชอบธรรมในทางการเมืองและความเป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ใช้สายตาของปวงชนเป็นตัววัด เพราะรัฐธรรมนูญถือว่าท่านเป็นตัวแทนของพวกเขา ความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในฐานะตัวแทนของปวงชนจะเป็นกุศลกรรมที่ประทับรอยไว้ในแผ่นดิน

หลังเลือกตั้งทั่วไป และการรวม 8 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ผมได้ยินแต่การพยายามชวน สว. ให้มาสนับสนุนพรรคร่วม 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ยินการชวน สส. ที่ไม่สังกัด 8 พรรคดังกล่าว ให้มาช่วยออกเสียงสนับสนุน 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ที่จริงควรชวนมิใช่หรือ ในเมื่อ สส. แต่ละคน "ไม่อยู่ในความผูกมัดของอาณัติมอบหมาย ... ใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ ... เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ... โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์" 

ในเมื่อการลงคะแนนสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่รวมกันแล้วมีเสียงข้างมากนั้น เป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย สส. แต่ละคนสามารถพิจารณาได้ว่าใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็สามารถทำหน้าที่ลงคะแนนโดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายใด ๆ รวมทั้งไม่อยู่ในความผูกพันของมติพรรค รวมทั้งควรคิดว่าการทำเช่นนั้น

มองได้ว่าปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยไม่หวังประโยชน์ภายหน้าที่อาจเกิดแก่ตน (กรณีส้มหล่น) เพียงทำไปตามหลักการประชาธิปไตยโดยแท้ ไม่เจือด้วยอามิสใด 

เวลาผ่านไป ไม่ปรากฏมี สส. ที่มองโลกสวยอย่างผม สส. ที่ไม่อยู่ใน 8 พรรคร่วม จึงลงคะแนนโดยพร้อมเพรียงตามมติพรรค แต่ยังดีที่มี สว. 13 คนที่คิดแบบอัตตาณัติ (แปลว่าคิดและทำเอง) แล้วจู่ ๆ ผมก็เห็นข้อความที่"บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" โพสต์ในเฟสบุ๊คว่า "ผิดหวัง ส.ส. คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้าน ก็ควรรู้ว่าเมื่อไรต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้" 

ผมชอบใจประโยค

"แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้าน ก็ควร ... ทำสิ่งที่ถูกต้อง”

อันที่จริงเรามีเพียง "ว่าที่ฝ่ายค้านที่อยากจะเป็นฝ่ายรัฐบาล" เป็นไปได้ไหมว่าอยากให้พรรคร่วม 8 พรรคแตกกัน เพื่อหวังจะแทรกเข้าไปโดยมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นประโยชน์จูงใจใช่หรือไม่ ถ้ายอมเป็นฝ่ายค้านด้วยใจจริง ก็ควรสนับสนุนให้พรรคร่วม 8 พรรคที่มีความชอบธรรม ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทำไมต้องไปเป็นแนวร่วมกับ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนหนึ่งด้วยเล่า จะอ้างว่ามีอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกับ สว. กลุ่มนั้นก็ไม่น่าจะฟังขึ้น 

\"สว.\" หรือ\"พรรคสว.\"กันแน่ ความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตย\"โหวตนายกฯ\"

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 จะมีการประชุมรัฐสภา ถ้าระหว่างนี้ สมาชิกรัฐสภาตกลงกันได้ เราก็จะมีนายกรัฐมนตรีด้วยการลงมติเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐสภาในวันนั้น

ในวันที่เขียนบทความนี้ ผมคาดไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นึกถึงแต่ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้หลายฉากทัศน์ ซึ่งจะขอนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันดังนี้

1) พรรคร่วม 8 พรรคผนึกกำลังกันเหนียวแน่น ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอในรัฐสภา ก็ไม่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ใครจะกดดันก็ต้องเฉย เพราะไม่ต้องการเสนอชื่อให้เขาไปฆ่าทางการเมืองทีละคน

2) พรรคเพื่อไทยขอถอนตัวจากพรรคร่วม 8 พรรค ซึ่งจำนวนหนึ่งยังจะอยู่กับพรรคเพื่อไทย อีกจำนวนหนึ่งรวมทั้งพรรคก้าวไกลถูกกันออกไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยเสนอจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เคยเป็นพรรครัฐบาล ยกเว้นพรรคของลุง มีเสียง ส.ส. สนับสนุนประมาณครึ่งหนึ่ง (250++ คนซึ่งถือว่าปริ่มน้ำ) และต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 126 คน) 

3) พรรคเพื่อไทยเชิญพรรคของลุงหนึ่งหรือสองพรรคเข้าร่วมรัฐบาล ได้เสียงเพียงพอทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สถานการณ์จะเวียนซ้ำ คือกลับไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเหมือนปี 2562

4) พรรคที่เคยร่วมรัฐบาลจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

5) ทางเลือก 1) ถึง 4) ข้างต้นไม่ประสบผล หลายฝ่ายกดดันให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง คือเสนอชื่อผู้ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (เสนอชื่อคนนอก)

ทั้งนี้ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 500 เสียง (สมมุติว่า สว. ทั้งหมด 250 คนสนับสนุน ก็ยังต้องการเสียงจาก สส. อย่างน้อย 250 เสียง) ซึ่งทำท่าจะยาก

ขออ้างตำราว่าด้วยความขัดแย้งสักเล็กน้อย สมาชิกรัฐสภาและผู้สนับสนุนกำลังเล่นเกมที่เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า game of attrition แปลตามภาษาผมว่า "เกมอึด-อัด" คือให้เวลาผ่านไป ตัวแสดงต้องอึดและอดทน แม้พลังอาจสึกกร่อนไปเรื่อย ๆ แต่ก็หวังเอาชนะอยู่ดี คือเชื่อว่าอึดกว่าชนะนั่นเอง

ผมนึกภาพของตัวแสดงกอดจุดยืนเหมือนคนแข่งกันกลั้นลมหายใจกอดเสาอยู่ใต้น้ำ ใครกลั้นหายใจไม่อึดพอต้องโผล่ขึ้นเหนือน้ำ และเป็นผู้แพ้

ขณะเดียวกันกับการมีความอึด ผู้แสดงและผู้สนับสนุนจะ "อัด" ฝ่ายที่เห็นต่างด้วย ทุกฝ่ายต่างชี้นิ้วเพื่อโยนความผิดให้ฝ่ายอื่น บางฝ่ายจะโจมตีด้วยวิธีที่เป็นลบ เช่น ใช้ปฏิบัติการข่าวสาร ใช้สื่อออนไลน์ ใช้สื่อสารมวลชนในสังกัด เป็นเครื่องมือโจมตี ด้อยค่า ใส่ร้าย ข่มขู่ ฯลฯ

การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อปล่อยข่าวเท็จ สร้างความเกลียดชัง และยุยงให้ใช้ความรุนแรง อาจเพิ่มขึ้นตามลำดับ

"นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์" จึงโพสต์ข้อความเตือนสติพวกเราว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เราอาจเห็นต่างในเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการแก้มาตรา 112 แต่ไม่ควรทำให้การเห็นต่างเป็นเรื่องเลวร้าย แล้วแสดงความเกลียดชังต่อผู้เห็นต่าง สุดท้ายจะนำไปสู่ความเกลียดชังจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้ง่าย

"หมอยงยุทธ" จึงเสนอให้ใช้สติป้องกันความรุนแรง วิธีปฏิบัติง่าย ๆ ก็คือ 2 ไม่ 1 เตือน (ไม่ผลิต ไม่ส่งต่อข่าวสารสร้างความเกลียดชัง และเตือนเมื่อได้รับ)

แล้วเราจะออกจาก "เกมอึด-อัด" ได้อย่างไร

ประการแรก ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่ว่าการเมืองเป็นเกมชนะ-แพ้ และผู้ชนะได้หมด (winner takes all) หรือเป็นเกมที่ผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum game) คือ สู้เพื่อให้ "ฉันได้ – เธอเสีย"  (แม้บางทีจะแพ้ทั้งคู่ คือบ้านเมืองแพ้) มาเป็นทัศนคติใหม่ที่ว่าการเมืองเป็นเกมที่ชนะด้วยกันได้ หรือเป็นเกมที่ผลรวมเป็นบวก คือหาทางให้ต่างฝ่ายต่างได้ในสิ่งที่เป็นความจำเป็นของตน

ถ้ามีทัศนคติใหม่ดังกล่าวเกี่ยวกับการเมือง อาจจะเริ่มคิดที่จะหาทางออกจากเกมอึด-อัด เพื่อนผมคนหนึ่งยกคติพจน์ของฝรั่งว่า การเมืองคือศิลปะแห่งความเป็นไปได้ (art of the possible)

ผมเห็นด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนที่ไม่เห็นด้วยเป็นเพราะเดิมคติพจน์นี้มักใช้เพื่อเอาอุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก แล้วอ้างว่าต้องทำในสิ่งที่ปฏิบัติได้ เพื่อมาต่อรองผลประโยชน์ แต่ผมคิดว่า "ความเป็นไปได้" รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่ทิ้งหลักการแล้วเอาแต่อ้างหลักปฏิบัติ ผมทดสอบเพื่อนของผมโดยชวนให้เขาคิดถึงความเป็นไปได้ในการเจรจากันอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อหาทางออกแบบชนะด้วยกัน

เพื่อนผมปิดประตูเลย บอกว่าการเมืองต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ เป็นเกมแบบผลรวมศูนย์ ผมเลยแย้งว่า เราต้องใช้ศิลปะแห่งความเป็นไปได้มิใช่หรือ ศิลปะหมายถึงการเปิดกว้างสู่ทางเลือกใหม่ ๆ

ในที่สุด เราสองคนพอตกลงกันได้ว่า เรื่องมันขึ้นอยู่กับผู้แสดง ขอให้พวกเขาพิจารณาเสียให้ดีก่อน ว่ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการเจรจาหาข้อตกลงไหม (ศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษคือ BATNA ซึ่งย่อมาจาก best alternatives to negotiated agreement) ถ้าเห็นว่ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ขอให้ดำเนินการไปเลย ถ้าหาทางเลือกอื่นไม่ได้ ก็ควรใช้วิธีเจรจาหาข้อตกลง โดยไม่ตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าหรือยื่นคำขาด เพราะนั่นเหมือนกับการเล่นเกมอึด-อัดต่อนั่นเอง

ข้อเสนอของผกมก็คือ ถ้าพรรคการเมืองที่เห็นต่างจากการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำที่ได้รับมอบหมายจากพรรคร่วม 8 พรรคให้หาทางจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เห็นปัญหาการชะงักงันที่เกิดขึ้น และอยากจะเจรจากับพรรคเพื่อไทยเพื่อหาทางออกโดยอาจมีผลเป็นการทำข้อตกลงร่วมกัน ก็โปรดรับเชิญจากพรรคเพื่อไทยมาเจรจาร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า 

บทความนี้ดูจะเครียด ๆ ไปหน่อย เลยขอออกนอกเรื่องโดยยกเนื้อเพลงเก่า ๆ ที่บังเอิญภรรยาผมเปิดฟังอยู่ในห้องข้าง ๆ เผื่อว่าจะช่วยผ่อนคลายได้บ้าง ขอยกเนื้อเพลงมาสามเพลงดังนี้

1) คนจะรักกัน
ผูกพันหมายมั่นลงไป
จะบุกน้ำลุยไฟ
ปล่อยให้เขาไปตามปรารถนา
คนเขารักกัน
ใครจะกีดกันฉันทา
ต่อให้น้ำต่อให้ฟ้า
กั้นขวางหน้าอย่าหวังห้ามได้

2) แต่พออีกไม่นานนัก
ความรักที่เคยหวานซึ้ง
เปลี่ยนจากหนึ่งกลับกลายเป็นสอง
ลืมรักลืมรสลืมไปหมดที่เคยทดลอง
อ้อมแขนที่เคยประคอง
น้องอยู่ในอ้อมแขนใคร

3) ขุนเขาไม่อาจขวาง
สายธารเที่ยงธรรมได้
ความหวังยังพริ้มพราย
เก่าตายมีใหม่เสริม
ชีวิตที่ผ่านพบ
มีลบย่อมมีเพิ่ม
ขอเพียงให้เหมือนเดิม
กำลังใจ...
อย่าอาวรณ์...
รักเราไม่คลอนคลางแคลงแหนงหน่าย
ให้รักเราละลาย
กระจายในผองคน
ผู้ทุกข์ทนตลอดกาล...

เราอาจมีความเป็นต่างกันในเรื่องความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตย เราอาจมีความรักที่จีรังหรือไม่จีรังในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ขอให้เรามีความรักและความกรุณาต่อผองชนตลอดไป นี่อาจเป็นทัศนคติใหม่ที่ค้ำจุนให้เราอยู่ร่วมเป็นสังคมเดียวกัน 

logoline