svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ความกลัวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดย "โคทม อารียา"

27 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สังคมการเมืองไทย" เปลี่ยนไปแล้ว อันเป็นผลมาจากการเลือกตั้ง แต่เราจะหวังให้การเปลี่ยนผ่านสู่ "ประชาธิปไตย" เป็นไปอย่างราบรื่นและเสถียรได้หรือไม่ โดย "โคทม อารียา"

อุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวคือความกลัว แต่ใช่ว่าความกลัวจะเป็นสิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว การฝึกความกล้าที่จะเผชิญกับความกลัวเป็นการฝึกจิตที่สำคัญ และความกลัวอาจสอนให้เราพยายามลดละภยาคติหรือความลำเอียงอันเนื่องมาแต่ความกลัว ดังคำสอนของวัดป่าสุญญตาที่ว่า 

"การตกอยู่ในอำนาจมืดทำให้เกิดความกลัว และหากต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับความยุติธรรมแล้ว จะทำให้เกิดความกลัวภัยมาสู่ตน จึงอาจเกิดโทษมหันต์ต่อขบวนการยุติธรรมในสังคมได้

ดังนั้นเรื่องของอคติ 4 ข้อจึงสมควรได้รับการปลูกฝังให้ปรากฏมีขึ้นในสังคมของประเทศไทย ให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องสืบต่อไปเพื่อความสุขความเจริญในธรรม โดยปราศจาก "อคติ 4" (รัก ชัง เขลา กลัว) อันจะทำให้เกิดความแตกแยกต่อสังคมในที่สุด"

บทความนี้จะเสนอข้อคิดบางประการเกี่ยวกับความกลัว ในยามที่สังคมการเมืองมีความกระวนกระวายใจ การทำความเข้าใจกับความกลัวน่าจะช่วยปลอบประโลมใจให้อ่อนโยนลงบ้าง

ขอบคุณภาพจากเพจ Readery  หนังสือ ใจที่เธอกลัว โดย "เพม่า โชดรัน"

โดยจะขออ้างอิงคติสอนใจทางพุทธศาสนา (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหนังสือชื่อ "ใจที่เธอกลัว" เขียนโดย"เพม่า โชดรัน" แปลโดยอัญชลี คุรุธัช) และคติสอนใจอื่น ๆ มาประกอบการนำเสนอ ส่วนตอนท้ายของบทความจะกล่าวถึงข้อโต้แย้งทางการเมืองสองข้อที่อาจมีผลต่อการตั้ง"รัฐบาลเสียงข้างมาก"

ก่อนอื่น ขอนำข้อความอันงดงามตรงไปตรงมาของหัวหน้าเผ่าซีแอตเติล เพื่อมาช่วยเตือนใจเราดังนี้

"เราทุกคนเป็นลูกของ วิญญาณอันยิ่งใหญ่ แม่ธรณีคือผู้ให้กำเนิดเรา โลกใบนี้กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก หากเรายังคงยึดติดกับความแค้นใจเก่าๆ และไม่ร่วมมือกัน เราจะพากันตายทั้งหมด"

"เพม่า"ได้กล่าวถึงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์แสนตึงเครียด เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของชาวกัมพูชาในยุคเขมรแดง เรื่องเล่ามีอยู่ว่า เขมรแดงข่มขู่ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้อพยพ ไม่ให้แสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนา แต่ผู้ลี้ภัยยังแอบตั้งวัดในค่ายผู้อพยพ มีคนราวสองหมื่นคนเข้าร่วมในพิธีเปิด ไม่มีการเทศน์ มีแต่การสวดคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า นั่นคือ

"ความเกลียดชังไม่อาจหยุดยั้งได้ด้วยความเกลียดชังมีแต่ความรักเท่านั้นที่เยียวยาได้ นี่คือกฎที่มีมาแต่โบราณและจะคงอยู่ตลอดไป"

แม้ในสถานการณ์ของอำนาจมืด ยังมีคนที่กล้ายืนยัน "กฎที่มีมาแต่โบราณ" ว่า ความรักเป็นสิ่งเดียวที่เยียวยาได้แม้ความเกลียดชัง สถานการณ์ของเราไม่ได้เลวร้ายอะไร สามารถเยียวยาได้ด้วย ความรัก ความกรุณา และการให้อภัย

ในเรื่องการให้อภัย ทั้งให้อภัยตัวเราเองและผู้อื่น มีวิธีปฏิบัติเพื่อเจริญความกรุณาที่จะนำไปสู่การให้อภัย วิธีนี้อยู่ในคำสอนของวัชรยานและมีชื่อภาษาทิเบตว่า "ทองเล็น" องค์ทะไลลามะสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

"ผมมองเห็นภาพ ผมส่งความรู้สึกที่เป็นบวก เช่น ความสุข ความเอื้ออาทร สู่ผู้อื่นแล้วผมมองเห็นอีกภาพหนึ่ง เห็นว่ารับความทุกข์ ความรู้สึกที่เป็นลบของพวกเขา ผมหายใจเข้า รับความเกลียด ความกลัว ความโหดร้ายเข้ามา ผมหายใจออก ส่งความเมตตา การให้อภัยออกไปให้และรับ ไม่กล่าวโทษใคร"

ในหนังสือ "ใจที่เธอกลัว"  เพม่ามีเรื่องเล่าที่สะเทือนใจเกี่ยวกับการให้อภัยแก่คนที่เคยทำร้ายหญิงคนหนึ่งอย่างแสนสาหัส ดังนี้

"หญิงคนหนึ่งมาที่วัดกัมโปเพื่อร่วมปฏิบัติภาวนาทองเล็น เธอทุกข์ทรมานจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยพ่อของเธอ เธอเข้าใจหัวอกของนกที่ถูกขังไว้ในกรง เธอบอกกับฉันว่าเธอรู้สึกบ่อย ๆ ว่า ตัวเองเป็นนกในกรงตัวนั้น ระหว่างทำทองเล็น เธอหายใจเข้าพร้อมรับเอาความรู้สึกลีบเล็กราวกับถูกกักขัง ในลมหายใจออกเธอเปิดประตูกรงปล่อยนกให้โผบินออกไป วันหนึ่ง เธอกำลังรับและส่งความรู้สึกเช่นนี้ เธอพบว่านกบินออกไปเกาะบ่าของชายคนหนึ่ง และเมื่อชายคนนั้นหันมา เธอจึงพบว่าเขาคือพ่อของเธอ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอสามารถให้อภัยพ่อได้"

เพม่าตั้งข้อสังเกตว่า "ดูเหมือนว่าการให้อภัยนั้นจะฝืนใจทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเรากล้าพอที่จะเปิดหัวใจให้ตัวเอง การให้อภัยก็จะบังเกิดขึ้น" ผมคิดว่าเราจะก้าวพ้นความขัดแย้งได้ เมื่อเราเปิดใจ ยอมรับความกลัว รับรู้อดีต แล้วก้าวเดินต่อไป

อุปสรรคอีกประการหนึ่งในการทำความเข้าใจกับความกลัว คือการไม่ยอมรับความจริง อันที่จริงการยอมรับความจริงไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย แต่หมายความว่าเราเริ่มจะเข้าใจ ว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่กุมทุกอย่างไว้ เราไม่เชื่ออีกแล้วว่าจะมีใครหลีกหนีจากความไม่แน่นอนได้

บางครั้ง คำว่า"อนัตตา" ถูกเรียกว่า ไม่มีตัวฉัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ "อนัตตา" ไม่ได้หมายความว่าตัวเราหายไป หรือให้ลบบุคลิกของตัวเองทิ้งไป เพียงแต่ต้องทิ้งความคิดตายตัวที่เรามีต่อตัวเอง ความคิดที่ว่าตัวฉันเป็นสิ่งจับต้องได้และแปลกแยกจากสิ่งอื่น ๆ นั้น ช่างคับแคบและมีข้อจำกัดอย่างน่าเจ็บปวด เราเพียงอยู่กับความไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้ว เราคือใคร หรือคนอื่นเป็นใครกันแน่

ถ้าเราแน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร แน่ใจว่าคนอื่นเป็นใคร สุดท้าย เราจะมืดบอด เราจะดื้อดึงติดอยู่กับถ้อยคำที่ว่า "ฉันเป็นของฉันแบบนี้" "เธอก็เป็นของเธออย่างนั้น"  แล้วเราจะข้ามพ้นจิตใจอันคับแคบไปไม่ได้ แล้วเราจะใช้ความเชื่อทั้งหลายมาสร้างภาพลวงตาของความแน่นอนเกี่ยวกับธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ลัทธิ "นิยม" ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง สิ่งแวดล้อม ปรัชญา หรือจิตวิญญาณ ต่างก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้

ความกลัวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง  โดย "โคทม อารียา"

"ความถูกต้องทางการเมือง" เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเราเชื่อในความถูกต้องตามทัศนะของตนเอง ใจเราก็คับแคบ และเต็มไปด้วยอคติต่อข้อผิดพลาดของคนอื่น ... ปัญหาไม่อยู่ที่ความเชื่อในตัวของมันเอง แต่อยู่ที่การใช้ความเชื่อนั้นมาเป็นหลักยึด เราใช้ความเชื่อนั้นมาทำให้ตนเองรู้สึกถูกต้องและทำให้คนอื่นเป็นฝ่ายผิด

ในบรรดาคำสอนของพุทธศาสนามหายาน ถือได้ว่าปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นคำสอนที่สำคัญ สูตรนี้สอนใจเราได้อย่างน่าฉงน ตัดผ่านสุญญตาหรือความว่าง โดยปลายทางคือใจที่ก้าวผ่านความกลัว เพม่าได้สรุปคำสอนนี้ให้เข้าใจง่ายขึ้นบ้าง (เพราะอาจจะเข้าใจได้ก็แต่โดยการสัมผัสด้วยใจ ไม่ใช่โดยถ้อยคำ) ดังนี้

"ที่ยอดเขาคิชฌกูฏ ขณะที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่สมาธิระดับลึก พระสารีบุตรถามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่า "ฉันควรนำปรัชญาปารมิตามาใช้อย่างไร" อวโลกิเตศวรตอบด้วยถ้อยคำย้อนแย้งอันลือลั่นว่า "รูปคือความว่าง ความว่างก็คือรูป ความว่างไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากรูป รูปไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกเสียจากความว่าง"

ท่านหมายถึงความสัมพันธ์อันเรียบง่ายตรงไปตรงมาต่อประสบการณ์ในปัจจุบันขณะ อย่างการสัมผัสตรง ๆ กับหยดเลือด หยาดเหงื่อ และดอกไม้ กับทั้งความรักและความเกลียดชัง ก่อนจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องลบอคติทิ้งไปเสียก่อน ... เมื่อมองเห็นว่ารูปนั้นว่าง โดยปราศจากสิ่งขวางกั้นหรือปกคลุม เราจึงเข้าใจความสมบูรณ์ของสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็น 

ทว่า "ความว่างก็คือรูป" นำเสนอในสิ่งที่กลับกันโดยสิ้นเชิง ความว่างยังแสดงตนในรูปของสงครามและสันติภาพ ในรูปของความโศกเศร้า การเกิด การแก่ การเจ็บ และความตาย

... จิตที่เปิดกว้างของปรัชญาปารมิตา คือจิตที่พอใจกับการปราศจากที่พักพิงทั้งปวง อวโลกิเตศวรยังไปไกลกว่า "รูปคือความว่าง ความว่างก็คือรูป" ด้วยการชี้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรให้เรายึดถือได้แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์ ไม่มีไตรลักษณ์ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีการดับทุกข์ ไม่มีการปล่อยวาง ไม่มีการยึดมั่น .

.. เมื่อเข้าใจว่าไม่มีการบรรลุขั้นสูงสุด ไม่มีคำตอบสุดท้ายหรือที่พักพิง ... เมื่อนั้นเราจะไม่มีความกลัว ... คำที่มีความหมายเดียวกับการไร้ความกลัวโดยสิ้นเชิงก็คือ การตื่นรู้อย่างเต็มที่ อันหมายถึงการสัมพันธ์กับโลกของเราด้วยหัวใจที่เต็มและเปิดกว้าง 

ใจความสำคัญของจิตที่เปิดกว้างและไร้ความกลัวมาในรูปของมนตราคือ "โอม คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิ สวาหะ" แปลว่า "โอม ไปแล้ว ไปแล้ว ไปพ้นแล้ว ไปพ้นโดยสิ้นเชิงแล้ว ตื่นแล้ว เช่นนั้นแล" หรืออาจพูดแบบนี้ก็ได้ "โอม ไร้หลักยึด ไร้หลักยึด ยิ่งไร้หลักยึด ยิ่งมากไปกว่าไร้หลักยึด ตื่นรู้เต็มที่ เช่นนั้นแล"

เมื่อพระโพธิสัตว์สอนจบ พระพุทธเจ้าออกจากสมาธิและตรัสว่า "ดี ดี อวโลกิเตศวร ท่านแสดงธรรมได้ดีเยี่ยมที่สุด" ผู้ฟังในที่ชุมนุมต่างแซ่ซ้อง พวกเขายินดีที่ได้ฟังคำสอนเรื่องการก้าวผ่านความกลัว"

เมื่อนำคำสอนที่ยากและลึกซึ้งอย่างปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรมากล่าวแล้ว จะขอกล่าวถึงความกลัวในมิติที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยขออ้างถึงคำนิยมของหนังสือ "ใจที่เธอกลัว" ที่เขียนโดยพระไพศาล วิสาโล ดังนี้

"สิ่งที่น่ากลัวกว่าอะไรทั้งหมดก็คือ ความกลัวนั่นเอง ความกลัวทำให้สิ่งต่าง ๆ ดูเลวร้ายกว่าความเป็นจริง ... ความล้มเหลวไม่ได้ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับความกลัวล้มเหลว ... ความเจ็บป่วยและความตายไม่สามารถทำร้ายจิตใจเราได้ จนกว่าเรารู้สึกกลัวหรือต่อต้านผลักไสมัน

... ตราบใดที่ยังมีความยึดมั่นให้ชีวิตและโลกมีความมั่นคง เราจะไม่มีความสุขหรือเป็นอิสระจากความกลัวเลย เพราะไม่ว่าจะพยายามเพียงใดก็ตาม เราก็ไม่อาจหนีความพร่องข้องขัดและความไม่แน่นอนได้ นี่คือความจริงที่เราต้องรู้จักและยอมรับ

แต่ไม่ได้หมายความว่าความกลัวจะเป็นสิ่งเลวร้ายเสียทั้งหมด อันที่จริงมันมีประโยชน์ไม่น้อย มันทำให้เราเห็นถึงความไม่มั่นคงในจิตใจ รวมทั้งตระหนักถึงความยึดติดถือมั่น ความปรารถนา และความหลง อันเป็นรากเหง้าของความกลัว เราเห็นได้ถึงความไม่เที่ยง ความบีบคั้น ความไม่ใช่ตัวตน ... แทนที่จะมองความกลัวว่าเป็นศัตรูอันเลวร้าย ควรมองว่าเป็นครูสอนธรรมะให้แก่เรา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราควรเห็นความกลัวตามที่เป็นจริง เห็นทั้งโทษและคุณของมัน

เมื่ออ่านหนังสือ "ใจที่เธอกลัว" จบแล้ว เชื่อว่าหลายคนจะมองความกลัวและความไม่แน่นอนของโลกด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น จนอยากจะก้าวไปเผชิญกับความเสี่ยงที่เคยกลัว ขณะเดียวกันก็จะตระหนักว่า กำแพงที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองตนจากความไม่มั่นคงปลอดภัยของโลกภายนอกนั้น แท้จริงคือกรงขังที่กักตนเองไว้ โดยมีความสะดวกสบายมั่นคงเป็นเครื่องล่อ แต่ในที่สุดจะพบว่า ความสะดวกสบายดังกล่าวไม่จีรัง สักวันหนึ่งต้องสูญสลายหายไป”

22 พ.ค.2566   แถลงลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล

เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ "กิเลน ประลองเชิง" เขียนในคอลัมน์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ความว่า "จะมีสักกี่คนที่รู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของความกลัว แล้วมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่เหมาะควร ในความเป็นจริง ความกลัวของคนมากมายเกิดจากจินตนาการที่ปั้นแต่งขึ้นเอง ความกลัวเป็นศัตรูสำคัญของมนุษย์ ทำให้จิตใจอ่อนแอจนไม่กล้าคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ 

การไม่รู้ว่า เรื่องไม่คาดฝันอะไรจะเกิดในวันพรุ่งนี้ คือเสน่ห์ของชีวิต เช่นนี้แล้ว จะกลัวสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เช่น กลัวเลือกตั้งชนะแล้ว เป็นนายกฯได้หรือไม่ได้ ... ไปทำไมเล่า"

"สมหมาย ปาริจฉัตต์" เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ (คนละฉบับ) ในวันเดียวกัน โดยให้ข้อเตือนใจว่า “โลกวันนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ พวกเขาต้องดำเนินชีวิตต่อไป ย่อมรักตัวเองและปรารถนาสังคมที่เป็นธรรม อบอุ่น มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นเดียวกับคนทุกรุ่นที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ชนะก็ต้องสำเหนียกด้วยว่า อ่อนเกินพินาศ แข็งเกินโดดเดี่ยวไร้เพื่อน ยิ่งให้ยิ่งได้ กินรวบอายุสั้น กินแบ่งอายุยาว ก้าวไกลแน่นอน ถ้าไม่เหลิงอำนาจเสียก่อน”

ผมเข้าใจว่า ประเด็นสำคัญที่ควรทำความเข้าใจกับสาธารณชน มิใช่ว่าใครจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่เป็นประเด็นที่เป็นนโยบายการหาเสียง แต่ไม่เขียนในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมือง 8 พรรค นั่นคือ เรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมือง และเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 

มีคำอธิบายว่า การไม่เขียนเรื่องทั้งสองไว้ใน "MOU" เพราะเป็นเรื่องที่ต้องมีการตรากฎหมายโดยรัฐสภา ครม. ที่มาจาก พรรคการเมือง 8 พรรค (ถ้าตั้งได้สำเร็จ) จะไม่เสนอร่าง พ.ร.บ. ในทั้งสองเรื่องนี้ แต่แม้ไม่เขียนไว้ใน "MOU" แต่ ส.ว. หลายคนยังไม่พอใจ คงกลัวว่า ส.ส. จะเสนอเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร

อันที่จริง รัฐธรรมนูญ มาตรา 133 เขียนว่า นอกจาก ครม. แล้ว ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นเรื่องของ ส.ส. ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคหรือจากรัฐบาล และเมื่อมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ใด ๆ ต่อสภาฯ ก็ยังไม่เป็นกฎหมายในทันที

แฟ้มภาพ  การเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มหนึ่งขอให้ยกเลิกม.112

ยังมีขั้นตอนอื่น ๆ อีกคือ สภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบ วุฒิสภาต้องไม่ยับยั้งหรือยับยั้งแล้ว ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งต้องไม่ยืนยัน ในที่สุด เมื่อนำร่าง พ.ร.บ. ขึ้นกราบบังคมทูล หากไม่ทรงเห็นชอบหรือไม่พระราชทานคืนมาภายใน 90 วัน ต้องมี ส.ส. + ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 500 คนยืนยัน จึงจะตราเป็นกฎหมายได้ สรุปคือ ต้องผ่านความเห็นชอบอีกหลายขั้นตอนจึงจะสัมฤทธิ์ผล ร่าง พ.ร.บ. ใดไม่เหมาะก็คงตกไป ไม่ต้องกลัว

แล้วข้อเสนอในทั้งสองเรื่องถ้ามีเรื่องใดไม่เหมาะสม ก็ควรเริ่มคุยและทำความเข้าใจกันได้ ถ้ากลัวเรื่องอะไรก็คุยกันได้ ไม่ควรเป็นสถานการณ์ที่ว่า ฝ่ายเสนอก็เสนอถ่ายเดียว ฝ่ายค้านก็กลัว ถึงอย่างไรก็ไม่คุย ไม่เอาด้วย

ในกรณีของ"การนิรโทษกรรม" ผมขอนำข้อเสนอของศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน มาเสนอต่อในที่นี้ เพื่อเป็นข้อเสนอตั้งต้นสำหรับการถกแถลงกันต่อไป ดังนี้

 "1. ให้สภาผู้แทนราษฎรกำหนดกรอบโดยกว้างของเกณฑ์การพิจารณาคดีทางการเมืองและคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และให้คัดเลือกกรรมการพิจารณาคดีการเมือง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย องค์กรในกระบวนการยุติธรรม นักวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์ประกอบมีความหลากหลายและสมดุลทางเพศ โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีการเมืองต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากอคติ

ทั้งนี้ คดีการเมืองหมายถึงคดีที่สามารถระบุฐานความผิด หรือ เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุได้ เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับประกาศและคำสั่งของ คสช. คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร "คดีมาตรา 112" เป็นต้น คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คือ คดีที่อาจไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่ระบุว่าเป็นคดีการเมืองหรือเกิดเหตุการณ์ในวันที่ระบุไว้ แต่สามารถพิสูจน์แรงจูงใจในการดำเนินการได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 

2. ในกรณีเกิดข้อโต้แย้งว่าคดีใดเป็นคดีการเมืองหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้คณะกรรมการพิจารณาคดีการเมือง มีอำนาจในการพิจารณาว่า คดีใดเป็นคดีทางการเมือง และคดีใดเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 

3. ให้รัฐสภาตรากฎหมายรับรองการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 – ปัจจุบัน และไม่ให้ถือว่าคดีดังกล่าวมีความผิดอีกต่อไป หรือให้คดีเหล่านั้นสิ้นสุดไป"

ความกลัวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง  โดย "โคทม อารียา"

ส่วนเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติม"มาตรา 112" นั้น ผมเข้าใจว่าวัตถุประสงค์น่าจะเป็นการเขียนข้อความที่ระบุชัดว่า ผู้เสียหายคือพระองค์ท่าน 3 พระองค์ตามที่เขียนไว้ จะได้ไม่มีใครตีความอย่างไม่เคร่งครัด ซึ่งผิดหลักของการตีความข้อกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

อีกทั้งควรพิจารณาลดโทษเพียงเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยไม่เน้นการลงโทษทัณฑ์ที่เหมาะแก่กรณีความผิดในตัวเอง (mala in se) อย่างความผิดฐานฆ่าคนตาย จึงมีข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติม"มาตรา 112" ในเบื้องต้น ดังนี้

"ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระองค์ใด หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่มี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกินสามปีถึงสิบห้าปี"

ผมเชื่อว่าถ้าความกลัวเป็นเจ้าเรือน การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยคงไม่ราบรื่นและเสถียร แต่กระนั้น เราก็ไม่ควรตระหนกตกใจจนเกินเหตุ การทำใจให้สงบน่าจะช่วยให้สังคมมีสติ รับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย โดยไม่ด่วนกล่าวโทษหรือด่วนตัดสิน เพราะนั่นจะเป็น การเพิ่มปัจจัยของความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นเลย

logoline