svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ลุ้นศาลรธน. ชี้ขาด "กกต." นำต่างด้าวคำนวณ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

03 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้ง66" ศาล รธน. ชี้ขาด ปม "กกต.” ขอวินิจฉัยการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด นำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณได้หรือไม่ คาด 2 แนวทางคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 09.30 น."องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ในการกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่จะเลือกตั้งมาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดลงมติชี้ขาด เวลา 09.30น.  กรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และอำนาจของ กกต. กรณีนำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ในการเลือกตั้ง 66 ได้หรือไม่

ลุ้นศาลรธน. ชี้ขาด \"กกต.\" นำต่างด้าวคำนวณ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

โดยก่อนการนัดลงมติชี้ขาด ได้มีการคาดการณ์ไว้ 2 แนวทาง การวินิจฉัยขององค์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แนวทางแรก หากศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการของ กกต. ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วก็เดินสามารถเดินหน้าต่อไปได้

แนวทางที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า กกต.ไม่สามารถนำผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ อาจจะส่งผลให้ กกต. ต้องคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ "นายอิทธิพร บุญประคอง" ประธานคณะ กกต. ยืนยันว่า การคำนวณราษฎรทั้งประเทศเพื่อกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งตามที่ กกต. เสนอมาเป็นการปฏิบัติโดยชอบ ตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 และเป็นแนวทางที่ปฏิบัติมาโดยตลอด แต่เมื่อสังคมมีข้อสงสัย กกต.จึงส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถึงอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของกกต.


ลุ้นศาลรธน. ชี้ขาด \"กกต.\" นำต่างด้าวคำนวณ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง


ขณะที่ "สมชัย ศรีสุทธิยากร" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า กกต. ดำเนินเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งมาแล้วถูกต้อง ก็เท่ากับเป็นหลังพิงให้ กกต. เดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ไม่ต้องห่วงว่า จะมีคนไปร้องให้เป็นโมฆะภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น

หากศาลรัฐธรรมนูญวิฉัยว่า การคำนวณจำนวน ส.ส. นำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด และแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ถูกต้อง กกต. ยังมีเวลาคำนวณใหม่ แต่ละจังหวัดใหม่ได้ทัน แต่อาจทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปไม่ทันไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้

แหล่งข่าว กกต. ระบุว่า ได้เตรียมแผนการรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เอาไว้แล้ว หากออกมาว่า การคิดจำนวน ส.ส. พึงมีแต่ละจังหวัดและการคำนวณราษฎรเพื่อการแบ่งเขตไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดแบ่งเขต โดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยเตรียมไว้

ทั้งนี้ การแบ่งเขตใหม่ โดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยจะทำให้ 8 จังหวัด มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือ

โดยมี 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. ลดลง และมี 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น

สำหรับ 4 จังหวัดมีจำนวน ส.ส. ลดลง ประกอบไปด้วย

1. ตาก จาก 4 เหลือ 3 ที่นั่ง อาจกระทบพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. ลดลงจากเป้าเดิม

2. เชียงราย จาก 8 เหลือ 7 ที่นั่ง อาจกระทบต่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เป้า ส.ส. ลดลง

3. เชียงใหม่ จาก 11 เหลือ 10 ที่นั่ง อาจกระทบต่อ พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. ลดลง

4. สมุทรสาคร จาก 4 เหลือ 3 นั่ง อาจกระทบต่อ พรรคภูมิใจไทย เดิมวางเป้าไว้ 2 ที่นั่ง หรือ อาจกระทบพรรคก้าวไกล

ส่วน 4 จังหวัดจะมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่

1. อุดรธานี จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทย ที่จะมี ส.ส. เพิ่มขึ้น

2. ลพบุรี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อ พรรคเพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่จะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น

3. นครศรีธรรมราช จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ รวมไทยสร้างชาติ ที่อาจได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น

4. ปัตตานี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง อาจส่งผลดีต่อ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ประชาชาติ ที่อาจได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น
 

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงแบ่งเขตใหม่ โดยตัดจำนวนคนต่างด้าวออกไปยังส่งผลต่อภาพรวมจำนวน ส.ส. ของแต่ละภาค

ภาคใต้ จากเดิม 58 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 60 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่นครศรีธรรมราช 1 ที่นั่ง และ ปัตตานี 1 ที่นั่ง

ภาคอีสาน จากเดิม 132 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 133 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่อุดรธานี 1 ที่นั่ง

ภาคเหนือ จาก 39 ที่นั่ง จะลดลงเหลือ 36 ที่นั่ง คือ ลดที่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ จังหวัดละ 1 ที่นั่ง

ภาคกลางรวมกรุงเทพฯเท่าเดิม 122 ที่นั่ง คือ ลดที่ สมุทรสาคร 1 ที่นั่งเพิ่ม ลพบุรี 1 ที่นั่ง

ภาคตะวันออกมี ส.ส. 29 คนไม่เปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตใหม่

ภาคตะวันตกมี ส.ส. 20 คน ไม่เปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตใหม่

ขณะเดียวกัน 2-3 สัปดาห์ หาก กกต. ทำงานเชิงรุก  สั่งการให้ทำล่วงหน้า  ก็หยิบรูปแบบใหม่มาประกาศได้ทันที

ทั้งนี้ การคำนวณเขตเลือกตั้งใหม่ แนวโน้มจะกระทบกับพื้นที่ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย  ที่ต้องลด 1 คน และ อุดรธานี ลพบุรี และ ปัตตานี ที่ได้เพิ่มอีก 1 คน  ส่วน 71 จังหวัดที่เหลือคงไม่กระทบในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

logoline