svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์" โหมเครื่องมือโซเชียล หมายคว้าชัย"เลือกตั้ง66"

16 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียคือหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขาดเสียมิได้สำหรับนักการเมืองในทศวรรษนี้ และนี่คือ"ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์" ติดตามเจาะประเด็น โพลิทิกพลัส โดย"พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร"

เมื่อใกล้ถึงฤดูเลือกตั้ง  นอกจากจะต้องขยันลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้คน รวมทั้งใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ช่องทางต่างๆเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ในวงกว้างแล้ว  การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียคือหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขาดเสียมิได้สำหรับนักการเมืองในทศวรรษนี้ รวมทั้งยังมีการใช้เทคนิคทางการตลาดควบคู่ไปกับโซเชียลมีเดียซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลอย่างน่าพอใจและกลายเป็นวลีที่เรียกว่า "การตลาดทางการเมือง" (Political Marketing) อย่างที่รับรู้กันโดยทั่วไป

 

สิ่งที่พบเห็นจากการสังเกตของนักการตลาดจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2562 ของนักการเมืองในบ้านเรารวมทั้งในต่างประเทศในช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ประกอบด้วย ปัจจัย 4 ประการ หรือ เรียกว่า 4 S ซึ่งได้แก่ 

 

1.การใช้ความรู้สึก (Sensation)  ซึ่งผู้คนสามารถสัมผัสได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของผู้รับสมัครเลือกตั้งสามารถรับรู้ได้จาก รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ได้ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองโดยตลอดและมีผลมากสำหรับการเมืองไทย

2.การเล่าเรื่อง(Storytelling) นักการเมืองยุคใหม่มักจะมาพร้อมกับการเล่าเรื่อง เช่น ความดี ความเก่ง ความเจ๋ง มีที่มาที่ไปอย่างไรเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ที่สำคัญคือเรื่องราวที่เล่านั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง


3.ความไวของกระแส ( Speed )  เมื่อใดก็ตามที่มีกระแสเกิดขึ้นในสังคม นักการเมืองจะมุ่งไปเล่นกับกระแสนั้นในทันทีซึ่งพบเห็นกันอยู่โดยทั่วไปจนแทบเป็นเรื่องปกติ  การไวต่อกระแสไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ ล้วนมีผลกระทบทางการเมืองทั้งสิ้น ทำให้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญเรื่องของกระแสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

4.โซเชียลมีเดีย เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการเมืองในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มสามารถที่จะบอกได้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย เราจึงสามารถส่งข้อความไปยังแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ซ้ำๆกันและบ่อยครั้งตามที่ต้องการ

(ข้อมูลจาก    ดร. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล – อ้างอิง 1 )

กลยุทธ์ทางการตลาดกับกลยุทธ์ทางการเมืองจึงผสมผสานกันได้อย่างลงตัวและ เมื่อเจาะลึกลงไปถึงเทคนิคต่างๆของนักการตลาดที่นำมาใช้กับการเมืองพบว่า หลายต่อหลายวิธีเป็นเรื่องเดียวกันและสามารถนำมาประยุกต์ได้อย่างได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำ โซเชียล มีเดียมาใช้ในทางการเมืองซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของนักการเมืองทั่วโลก

 

การนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในทางการเมืองมักเกิดคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลทางการเมืองจริงหรือไม่และจะส่งผลกระทบในทางบวกหรือทางลบอย่างไรต่อผู้รับข่าวสารทางการเมืองจากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม  

 

การศึกษาหลายการศึกษาพบว่าการใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองส่งผลทั้งในทางลบและทางบวกต่อผู้ที่สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อบิดเบือนข้อมูลซึ่งจะเบี่ยงเบนผลทางการเมืองออกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นโดยคาดไม่ถึง

 

การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียของนักการเมืองโดยทั่วไปอาจแบ่งเป็น 2 ระดับได้แก่

 

1.การใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารให้สาธารณะได้รับทราบถึงกิจกรรมต่างๆ  เช่น การลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้คน รวมถึงการนำเสนอข้อมูลที่ต้องการให้ผู้คนได้เข้าถึงด้วยความรวดเร็ว เป็นต้น

 

2.การใช้โซเชียลมีเดียในเชิงลึกเพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายวงแคบเฉพาะเจาะจง(Micro targeting) 

 

การใช้โซเชียลมีเดียในแบบที่ 2 เป็นการใช้โซเชียลมีเดียในเชิงลึกที่มักเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางจิตวิทยา หรือ Psychological operations ซึ่งมีความซับซ้อนและต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่สามารถใช้ปฏิบัติการเหล่านี้เพื่อการเข้าถึงเป้าหมายเฉพาะตัวได้อย่างง่ายดายเพื่อหวังผลทางการเมือง

 

ปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่นำมาใช้จะมีวัตถุประสงค์หลักในการ ควบคุมอารมณ์(Emotion) ความคิด(Thinking) และ พฤติกรรมของเป้าหมาย โดยใช้เทคนิคการปล่อยข่าวลือ(Rumor) ข่าว บิดเบือน          (Disinformation) และข่าวปลอม (Fake news) ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นที่นิยมกันลับๆ ในกลุ่มผู้ทำธุรกิจประเภทนี้ แต่คนทั่วไปกลับไม่รู้เลยว่ามีธุรกิจประเภทนี้อยู่ในโลก

 

บริษัทบางแห่งอ้างว่าเคยใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาแบบนี้มาแล้วกับการเลือกตั้งในประเทศต่างๆทั่วโลกมากกว่า 200 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการลับที่อาศัยกลโกงเหล่านี้ถูกนำไปใช้กับการเลือกตั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา(Undeveloped democracies) หลายแห่ง  
 

จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์นั้น สามารถถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลาโดยที่เป้าหมายไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกปั่นหัวจากนักการเมืองผู้ต้องการแสวงหาอำนาจโดยใช้ความได้เปรียบทางไซเบอร์ที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เป้าหมายเบี่ยงเบนความสนใจมาหาตัวเองหรือแม้แต่เบี่ยงเบนให้เป้าหมายหมดความสนใจและตีจากฝ่ายตรงข้ามได้

 

การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดผสมผสานกับโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง(Analytics) ของพรรคการเมืองจึงไม่ต่างจากการทำสงครามข้อมูลที่ต่างคนต่างใช้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีในการห้ำหั่นกันในทางการเมืองทั้งด้วยวิธีปกติและวิธีสกปรกผ่านเทคนิคและกลโกงต่างๆ ซึ่งปกติมักจะใช้บันได 3 ขั้นในการเข้าถึงเป้าหมาย ซึ่งได้แก่

 

1.ขั้นตอนการแบ่งกลุ่มเป้าหมายตาม บุคลิกภาพ ความสนใจ  ความเห็น ไลฟ์สไตล์ หรือที่เรียกกันว่า Psychographic segmentation  การแบ่งกลุ่มเป้าหมายประเภทนี้จะใช้ เทคนิคทางจิตวิทยาที่เรียกว่า OCEAN personality analysis หรือ ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง ซึ่งได้แก่ การเปิดรับประสบการณ์  ความพิถีพิถัน  ความสนใจต่อสิ่งภายนอก ความยินยอมเห็นใจ และความไม่เสถียรในทางอารมณ์  การใช้ข้อมูลบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 อย่าง เพียงพอที่จะรับรู้บุคลิกภาพของแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ

 

2.ขั้นตอนการเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงพฤติกรรม(Behavioral micro targeting)  เป็นวิธีนำผลลัพธ์จากบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างมาจับคู่กับข้อมูลที่ได้มาจากนายหน้าขายข้อมูล(Data broker) รวมทั้งจากโซเชียลมีเดียและเครื่องมือสืบค้น เช่น Facebook  Google เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลพฤติกรรมของแต่ละคน

 

3.ขั้นตอนการสร้างและส่งข้อมูลที่ทำขึ้นเฉพาะเพื่อเข้าหาจุดอ่อนของเป้าหมายจากโปรไฟล์ของเป้าหมายที่ได้จากสองขั้นตอนแรก โดยมุ่งไปที่เป้าหมายที่มีความอ่อนแอด้านใดด้านหนึ่งและมีแนวโน้มที่จะถูกชักชวนได้ง่าย ขั้นตอนนี้จะไม่เป็นการโน้มน้าวคนกลุ่มใหญ่แต่จะโน้มน้าวเป้าหมายแต่ละคนที่มีจุดอ่อนให้เข้ามาเป็นแนวร่วมหรือคล้อยตามนโยบายหรือสิ่งที่นักการเมืองต้องการนำเสนอได้

 

เทคนิคที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมีความเป็นไปได้และเกิดขึ้นแล้วจริงๆในโลกไซเบอร์และส่งผลทางการเมืองไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นเป้าหมายโดยที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งไม่รู้เลยว่าการกาบัตรลงคะแนนในวันนั้นมีเบื้องหลังของการวางแผนอย่างแยบยลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งมายังโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในมือของตัวเอง 

 

ความเป็นไปได้ที่เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับการเลือกตั้งในเมืองไทยจึงมีโอกาสเป็นไปได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ  เพราะคนไทยเองสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่ายและมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากติดอันดับโลก

 

นอกจากนี้ความเปราะบางของผู้คนต่อการรับรู้ข่าวสารประเภทข่าวลือยิ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ความคิดต่างๆถูกแทรกแซงได้ตลอดเวลาและที่สำคัญคือเราน่าจะยังเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้พัฒนาเท่ากับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งเป็นจุดอ่อนแก่การถูกโน้มน้าวทางจิตวิทยาผ่านโซเชียลมีเดียก็เป็นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเป้าหมายที่ยังไม่ตัดสินใจหรือยังไม่มีพรรคการเมืองใดอยู่ในใจยิ่งมีแนวโน้มที่จะถูกชักจูงได้ไม่มากก็น้อย 
 

"ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์" คือ ประชาธิปไตยที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อการถูกโน้มน้าวหรือเบี่ยงเบนเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจนกระทั่งอาจสามารถเปลี่ยนแปลงผลทางการเมืองได้เช่นกัน

 

ความโปร่งใสที่เห็นจากการหย่อนบัตรคือความโปร่งใสขั้นตอนสุดท้ายที่มักอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม แต่เบื้องหลังก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้เลยว่าก่อนมาหย่อนบัตรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแต่ละคนได้เผชิญกับกลวิธีของนักการเมืองแบบไหนมาบ้างผ่านโซเชียลมีเดีย

 

อ้างอิง 
1.https://www.thumbsup.in.th/political-marketing-in-thailand-2019
2.There are no facts โดย Mark Shepard
3.ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้งห้า : Wikipedia

logoline