svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

วัดปรอท"เลือกตั้ง66" กระแส หรือกระสุน ใครปัง ใครป่วง? 

15 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กระสุน"  หรือ "กระแส" ใครจะแน่กว่ากัน บางพรรคการเมืองมุ่งสร้างกระแส ขายนโยบาย แต่บางพรรคการเมืองมุ่งแต่ดึง-ดูด "ส.ส.บ้านใหญ่ - ดาวฤกษ์"  มาอยู่กับพรรคตนให้มากที่สุด

วาทะทางการเมืองที่พูดกันทุกๆ ฤดูเลือกตั้ง มี 2 คำที่ถูกพูดถึงบ่อย ก็คือ "กระแส" กับ "กระสุน" 

 

คำว่า "กระแส" ชัดเจนว่าหมายถึงความนิยมในตัวผู้นำพรรค หรือตัวพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกโดยไม่พิจารณาตัวผู้สมัครมากมายนัก เช่น กระแสฟีเวอร์ที่เกิดกับ"พรรคไทยรักไทย"ในอดีตหรือ"พรรคอนาคตใหม่" ในการเลือกตั้งหนที่แล้ว 

 

วัดปรอท\"เลือกตั้ง66\" กระแส หรือกระสุน ใครปัง ใครป่วง? 

 

ส่วน "กระสุน" แม้นัยหนึ่งจะหมายถึง ปัจจัย หรือ เงินทุนที่ใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแน่ๆ แต่คำว่า "กระสุน" ยังหมายถึงอำนาจรัฐ บารมีส่วนบุคคล หรืออิทธิพลในระดับพื้นที่ของบรรดานักการเมืองแต่ละคนแต่ละจังหวัดอีกด้วย ซึ่งในความหมายหลังนี้ ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า "บ้านใหญ่" ซึ่งหมายถึงตระกูลการเมืองที่ครองฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยปัจจุบันแตกไลน์ขยายวงไปถึงการเมืองระดับท้องถิ่น ยึดกุมทุกระดับตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  นายก อบต. เทศบาล จนถึง อบจ. เพื่อส่งต่อการเมืองระดับชาติ 

 

นี่คือภาพใหญ่ๆ ของการเมืองไทย 

สิ่งที่คนไทยอยากรู้ และต้องการคำตอบก็คือ ในการเลือกตั้งหนนี้ "กระสุน"  หรือ "กระแส" ใครจะแน่กว่ากัน เพราะบางพรรคการเมืองมุ่งสร้างกระแส ขายนโยบาย แต่บางพรรคการเมืองมุ่งแต่ดึง-ดูด "ส.ส.บ้านใหญ่ - ดาวฤกษ์"  มาอยู่กับพรรคตนให้มากที่สุด กลายเป็น "สองนครา"  การเมืองไทยที่น่าคิดว่าฝ่ายใดจะประสบความสำเร็จ  หรือว่าสุดท้าย "กระแส"  อาจรวมตัวกับ "กระสุน" ด้วยก็เป็นได้ 

 

"ดร.ถวิลวดี บุรีกุล" รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา

 

"ดร.ถวิลวดี บุรีกุล" รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ทำวิจัยเชิงสำรวจสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทย วัดปรอทอุณหภูมิประชาธิปไตยของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมประชาธิปไตยของคนไทย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความนิยมในพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งการศึกษาที่ว่านี้ทำต่อเนื่องกันมานับสิบปี และครั้งล่าสุดเพิ่งสรุปออกมาไม่นานนี้ ทำให้พอมองเห็นทิศทางแนวโน้มของการเลือกตั้งปี 66 ได้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร 

สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาวิจัย และสำรวจ "เนชั่นทีวี" สรุปออกมาเป็นข้อๆ แบบนี้ 

 

1.อาจารย์เรียกผลสำรวจส่วนนี้ว่า wake up call หรือนาฬิกาปลุก สัญญาณเตือนให้ตื่นจากภวังค์ นั่นก็คือ คะแนนนิยมของ "ลุงตู่" ลดน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับปี 62 

 

คำถามคือ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" จะได้ ส.ส.มากที่สุดเท่าไหร่ จะได้เกินเกณฑ์ที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้จริงหรือไม่ เพราะคนทำพรรคให้ก็ไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะทำให้พรรคประสบความสำเร็จ (การทำให้พรรคการเมืองประสบความสำเร็จ ได้ ส.ส.เข้าสภาจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือใช้มือใหม่ทำได้) 

 

ที่สำคัญ เมื่อ 2ป. แยกทาง ทิศทางคะแนนนิยมยิ่งตก 

 

2.คะแนนนิยมของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ผลสำรวจออกมาไม่ดีนัก 

 

การย้ายพรรคของ ส.ส.ในกลุ่มนี้ คือย้ายข้ามไปข้ามมากันเอง เช่น จากพลังประชารัฐย้ายไปภูมิใจไทย ในบางพื้นที่ เช่น กทม. โอกาสชนะเลือกตั้งมีน้อยมาก เพราะคนกรุงเทพฯไม่ค่อยเลือกจากตัวบุคคลมากนัก แต่เลือกพรรค และดูผู้นำพรรคเป็นหลัก 

 

ส่วนกลุ่มที่ย้ายพรรคแบบข้ามขั้ว เช่น อดีต กปปส.เข้าเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดงเข้ารวมไทยสร้างชาติ มีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และทำให้คนหวาดระแวง ส่งผลต่อคะแนนนิยมที่จะได้รับกลับมาพอสมควร เนื่องจากสังคมไทยยังแบ่งเป็น 2 ขั้วอยู่ คือ "ขั้วอนุรักษ์นิยม" กับ"ขั้วเสรีนิยม" หรือประชาธิปไตย

 

3.คะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านมีแนวโน้มดี โดยเฉพาะเพื่อไทย กับก้าวไกล 

 

"อาจารย์ถวิลวดี" บอกว่า การวิเคราะห์คะแนนนิยม ไม่ได้ทำจากโพล อย่างเดียว แต่วิเคราะห์จากปัจจัยอื่นๆ ได้ด้วย เช่น พรรคที่ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนจำนวนมากจากเงินภาษี สะท้อนว่าได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มคนทำงาน เพราะคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เกือบทั้งหมดคือ "มนุษย์เงินเดือน"  ใครคือมนุษย์เงินเดือน ก็คือ คนชั้นกลาง คนเมือง คนวัยทำงาน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งมากที่สุด

 

 4.นักการเมือง “บ้านใหญ่” ยังเป็นแต้มต่อในการเลือกตั้ง แต่พลังไม่เท่าเดิม เพราะโครงสร้างของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงในระดับที่มีนัยสำคัญ 

 

กล่าวคือ "บ้านใหญ่" คนที่รู้จักตระกูลการเมืองเหล่านี้ต้องมีอายุมากระดับหนึ่ง ส่วนคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน ที่ไปเรียนและไปทำงานต่างถิ่น จะรู้จักหรือมีความรู้สึกจงรักภักดีต่อ "บ้านใหญ่" น้อยลง 

 

คนรุ่นใหม่เข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อ หรือไปทำงานในเมืองใหญ่ ได้ข้อมูลจากโซเชียลฯเยอะ ย่อมไม่ศรัทธาบ้านใหญ่เท่าไหร่ ไม่เหมือนรุ่นพ่อแม่

 

ฉะนั้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ First Voter (ครั้งนี้ประมาณเกือบๆ 3 ล้านคน) และคนวัยทำงานที่อายุไม่เกิน 40 ปี จะเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้มาก เนื่องจากรับข้อมูลหลากหลายจากโซเชียลฯ และได้เรียนรู้การกระทำของนักการเมือง 

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ค่อยเปลี่ยนใจ เป็นกลุ่มอายุ 60 ขึ้นไป

 

5.ภาค หรือพื้นที่ ที่มีโอกาสคะแนนสะวิงมากที่สุด คือ กทม. รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง 

 

กทม. กับภาคเหนือ ผลสำรวจออกมา ประชาชนมีแนวโน้มปรับเปลี่ยน ที่เคยยึดมั่นกับพรรคเดิม ก็มีทิศทางลดลง 

 

ส่วนภาคใต้ ในอดีตสะวิงน้อย แต่ระยะหลังเริ่มมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสะวิงมากขึ้น แต่ยังไม่มากเท่า กทม. ภาคเหนือ ภาคกลาง

 

ภาคอีสาน มีโอกาสสะวิงน้อยที่สุด เพราะผลสำรวจชี้ชัดว่ามีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อพรรคเดิมเยอะ (เพื่อไทย)  

 

6.ทิศทางของนโยบายหาเสียง จะมี 2-3 ประเภท 

 

-นโยบายขายฝัน ที่ทำไม่ได้แน่ๆ หรือทำให้เกิดขึ้นจริงยาก ก็จะยังมีอยู่ แต่ประชาชนฉลาดขึ้น น่าจะรู้ว่านโยบายบางอย่างปฏิบัติได้ยาก 

 

-นโยบายภาพใหญ่ สะท้อนจุดยืนของพรรค ใช้หาเสียงในภาพกว้าง แต่นโยบายแบบนี้ ถ้ากลุ่มหนึ่งได้ กลุ่มหนึ่งจะเสีย เช่น ค่าแรง 600 บาท ลูกจ้างได้ แต่ผู้ประกอบการเสีย แม้ผู้ประกอบการจะมีน้อยกว่า (ในแง่คะแนนเสียง) แต่ทุนเยอะกว่า จึงมีพลังอำนาจในทางการเมืองด้วยเหมือนกัน 

-นโยบายเฉพาะกลุ่ม เพื่อนำไปหาเสียงกับกลุ่มเฉพาะ หรือ เซคเตอร์ เป็นทิศทางนโยบายที่จะมีมากขึ้น 

**นโยบายที่ประชาชนต้องการ ผลสำรวจชี้ชัดว่า ต้องสมเหตุสมผล ภาษาที่ใช้ต้องเข้าใจง่าย ไม่ใช่ปีนกระไดฟัง และต้องทำได้จริง 

 

7. โอกาสของพรรคเพื่อไทยที่จะแลนด์สไลด์ วิเคราะห์จากผลสำรวจแล้ว "ไม่ง่าย" เพราะมีพรรคการเมืองอื่นตีตื้นมาพอสมควร และคู่แข่งเยอะกว่าในอดีต แต่การแลนด์สไลด์ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่มาก การหาเสียงแบบ "คานงัด" ของพรรคอันดับ 2 กับ 3 จะมีมากขึ้น คือหาเสียงแบบลดความนิยมของฝ่ายตรงข้าม และเพิ่มคะแนนนิยมให้ฝ่ายตัวเอง หรือหาเสียงแบบลดคะแนนนิยมฝ่ายตรงข้าม ส่วนฝ่ายตัวเองไม่ต้องเพิ่มขึ้นก็ได้ 

 

8.ต่อเนื่องจากข้อ 7 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จะมี "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร"  หรือ "ไอโอ" (Information Operation) เยอะมาก ฉะนั้นประชาชนที่เป็นผู้รับสาร หรือรับสื่อ ต้องระวังให้ดี เพราะข่าวหรือข้อมูลที่ได้มา จะมีทั้งจริงและไม่จริง

 

เลือกตั้งหนนี้ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียจะมากที่สุด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ไอโอยิ่งเยอะ ทั้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมฝ่ายตน และทำลายคะแนนนิยมฝ่ายตรงข้าม 

แฟ้มภาพ บรรยากาศหาเสียงเลือกตั้ง

***ผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า การทำลายความนิยมฝ่ายตรงข้าม มักประสบความสำเร็จมากกว่าการสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง ฉะนั้นจึงเกิดกลนยุทธ์ "ทำลายคู่แข่งให้พัง ส่วนตัวเองอยู่นิ่งๆ ก็ยังดี" เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทั้งภาพ โค้ดคำพูดของนักการเมือง เพื่อสื่อความในแง่ลบ หรือโจมตี จะถูกส่งต่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในไลน์กลุ่ม ในทวิตเตอร์ คนที่ไม่ได้กลั่นกรองก็จะเชื่อทันที และทฤษฎีของโซเชียลมีเดีย ชัดเจนว่า "ข่าวจริง" เดินทางช้ากว่า "ข่าวปลอม" 6 เท่า และการแก้ข่าวที่ทำให้เกิดความเสียหายไปแล้ว จะมีผลฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้น้อยมาก

logoline