svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ผ่าเลือกตั้ง66 เปิดเบื้องหลัง"ภูมิใจไทย" มั่นใจมาก ไม่หลุดขบวน"รัฐบาล"

12 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คำประกาศกร้าวของ"อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะกวาดเก้าอี้ส.ส.ไม่ต่ำกว่า100 ที่นั่งผงาดนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ดูสอดคล้องกับความพยายามเดินเกม"ร่วมรัฐบาล"ได้ทุกครั้งหลังศึก"เลือกตั้ง" ติดตามเจาะประเด็นร้อน

"พรรคภูมิใจไทย เราตรงไปตรงมา มติพรรคชัดเจน หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนเดียว ไม่มีเบอร์ 2 เบอร์ 3 มีคนเดียวชื่อ "อนุทิน" และถ้าพรรคได้ ส.ส.ถึง 120 คน เราสู้ตาย เป็นนายกฯแน่นอน เพราะประชาชนไว้วางใจแล้ว เราต้องสู้ และอีกอย่างผมได้รับเลือกแล้วให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคภูมิใจไทย" 

 

คำประกาศกร้าว "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขณะปราศรัยหาเสียงพื้นที่นครปฐม เมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

ไม่ได้มีแต่"พรรคพลังประชารัฐ" หรือ "พรรคพลังป้อมปราบศัตรูพ่าย" พรรคเดียวเท่านั้นที่มั่นใจว่าหลังเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ แต่มีอีกพรรคหนึ่งที่บอกกับลูกพรรค และขุนพล ส.ส.เกรดเอ ที่ "ดูด-ดึง" เข้าพรรคทุกคนว่า ขอให้มั่นใจ ได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ พรรคที่ว่านี้คือ "ภูมิใจไทย" 

 

การเลือกตั้งของประเทศไทย อาจเรียกได้ว่าแปลกประหลาดมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เพราะการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง อาจไม่ได้การันตีการเป็นรัฐบาล หรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

เนื่องจากกติกา "เฉพาะตัว" ที่อาจเรียกได้ว่าหนึ่งเดียวในโลก เปิดให้ ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (แต่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารที่ยึดอำนาจและต้องการสืบทอดอำนาจ) เป็นผู้มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯด้วย ซึ่งนายกฯที่ตัวเองโหวตเลือกนั้น ก็เป็นบุคคลที่พรรคการเมือง "ซึ่งผ่านการเลือกตั้ง" เป็นผู้เสนอ 

 

ความหมายคือ แคนดิเดตนายกฯที่ว่านี้ ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก็จริง แต่กลับไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะกลุ่มคนที่จะอนุญาตให้เป็นนายกฯได้ คือ "ส.ว.250 เสียง"

 

ส.ว.ซึ่งมีถึง 250 เสียง ถ้าเทียบกับพรรคการเมือง ก็ถือว่าเป็นพรรคใหญ่ที่สุด คิดง่ายๆ เพื่อไทนกระแสดี ต้องการชนะแบบแลนด์สไลด์ เกิน 250 เสียง ยังทำได้ยาก กูรูการเมืองหลายคนก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้ แต่ ส.ว.ของเรา มี 250 เสียงเต็มๆ ใครลาออก ใครตาย ใครพ้นตำแหน่งไป ก็มีคนใหม่จาก "บัญชีสำรอง" มาเติม 

 

นี่คือกติกาการเลือกผู้นำที่ต้องบอกว่า "ไม่เหมือนที่ใดในโลก" อย่างแท้จริง (ควรภูมิใจหรือเปล่า) 

 

จากสถานการณ์ที่ว่านี้ ทำให้พรรคการเมืองน้อยใหญ่ แทบไม่มีพรรคไหนกล้าการันตีว่าจะได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ เช่น 

"อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

 

พรรคเพื่อไทย - ยังหนาวๆ ว่าแม้จะชนะ อาจเป็นผู้นำฝ่ายค้านต่ออีกสมัย เหมือนการเลือกตั้งปี 62 ฉะนั้นจึงต้องการสุดๆ ที่จะ "แลนด์สไลด์" เพื่อสร้างความชอบธรรม และลดเงื่อนไขการใช้เสียง ส.ว.พลิกเกม ทำให้ไม่ได้ตั้งรัฐบาล 

 

"พรรครวมไทยสร้างชาติ" - แม้ “บิ๊กตู่” จะประกาศขอสานงานต่ออีก 2 ปี แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าจะได้ ส.ส.เกิน 25 เสียง เพื่อเปิดประตู-ได้สิทธิการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯในสภาหรือไม่เพราะหากไม่ได้เสียงเกิน25ก็จบกันแม้"บิ๊กตู่" จะลงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์1ได้เป็น ส.ส.ก็ตาม

  ผ่าเลือกตั้ง66 เปิดเบื้องหลัง\"ภูมิใจไทย\" มั่นใจมาก ไม่หลุดขบวน\"รัฐบาล\"

 

พรรคน้อยใหญ่อื่นๆ - ต้องลุ้นผลการเลือกตั้ง และรอดูว่าฟากฝั่งตัวเองที่จับมือไหวหลวมๆ ได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เช่น พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย ก็ต้องรอดูพรรคเพื่อไทย , ส่วนฟากอนุรักษ์นิยม หรือพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ก็ต้องรอดูเสียงรวมของฟากนี้ว่ารวมกันแล้วได้เฉียดๆ หรือเกิน 250 หรือเปล่า 

 

แต่ในหน้าข่าวการเมืองที่ผ่านมา คงทราบดีว่า มีอยู่พรรคหนึ่งที่มั่นใจเหลือเกินว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ ถึงขั้นที่แกนนำพรรคเก็บอาการไม่อยู่ นั่นก็คือ "พรรคพลังประชารัฐ" 

 

-มีข่าว "บิ๊กป้อม” หัวหน้าพรรค บอกกับลูกพรรค โดยเฉพาะ "บ้านใหญ่" ว่า ให้อยู่กับพรรคต่อไป เพราะได้เป็นรัฐบาลชัวร์ๆ 

 

-"สันติ พรัอมพัฒน์" เลขาธิการพรรค ก็เคยพูด หลังเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแน่ 

 

-"วิรัช รัตนเศรษฐ" รองหัวหน้าพรรคอีกท่านหนึ่ง "มือขวาบิ๊กป้อม" ก็แสดงความมั่นใจแบบเดียวกัน 

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

สาเหตุของความมั่นใจ มันมีที่มาที่ไปชัดเจน 

 

1. "ดีลลับดูไบ" ลือกระฉ่อน และรู้กันดีว่ามีการส่ง "ป.ที่ 4" ไปเจรจาต้าอวยกับใครบางคนแถบตะวันออกกลางเรียบร้อยแล้ว ข่าวไปไกลถึงขั้นหลังเลือกตั้งจับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลแน่นอน และมีการแบ่งกระทรวงกันหลวมๆ แล้ว 

 

2. ฝั่งเพื่อไทยต้องการ "บิ๊กป้อม" เพราะการันตีเสียง ส.ว.อย่างน้อยๆ 70-80 เสียง เพื่อร่วมโหวตเลือกนายกฯ และวางตัว "บิ๊กป้อม" คุมงานความมั่นคง เพื่อให้กองทัพสบายใจ สกัดแผนปฏิวัติในอนาคต 

 

3.หากฝั่งเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ ฝ่าย "ลุงตู่” และรวมไทยสร้างชาติเกิดได้ ส.ส.มาแบบเหนือความคาดหมาย พลังประชารัฐก็พร้อมพลิกขั้ว พลิกกาย หันมาจับมือกับ "บิ๊กตู่ - น้องเล็ก" จัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน เนื่องจากถ้าไม่รวมเสียงพลังประชารัฐ ก็ยากที่จะเกิน 250 

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ "คนพลังประชารัฐ" กล้าพูดเต็มปากว่าหลังเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแน่นอน แถมไม่มีใครเถียง 

 

***สังเกตจากพรรคเพื่อไทย รวมถึงคนแดนไกล ไม่เคยออกมาปฏิเสธชัดๆ หรือประกาศจุดยืนเน้นๆ เลยว่าจะไม่ร่วมมือกับพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่ "ตู่ - จตุพร ท้าอยู่ทุกวัน ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ออมมือ ไว้หน้า “บิ๊กป้อม” มากผิดสังเกต ลงพื้นที่หาเสียงในวันปฏิบัติราชการ ก็ยังต่อว่าไม่แรง ไม่เหมือนถล่ม “บิ๊กตู่” 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับสู่อ้อมอกพลังประชารัฐ

4.ล่าสุด "ผู้กองธรรมนัส" พร้อมพลพรรค กลับเข้าพลังประชารัฐแบบเงียบๆ แล้วตั้งแต่ 6 ก.พ. เพื่อป้องกันปัญหาทางเทคนิค สังกัดพรรคไม่ครบ 90 วัน หาก "บิ๊กตู่" เล่นแง่ เล่นงาน ดัดหลังพวกแทงหวยผิด 

 

การกลับบ้านเดิมของผู้กองธรรมนัส มีผลทำให้พรรคพลังประชารัฐแข็งแกร่งขึ้นอีกในศึกเลือกตั้ง แถมยังมี "ดีลตรง" กับ "บ้านใหญ่ตะวันออกกลาง" ด้วย และผู้กองอาจถูกใช้งานข้ามพรรค ให้สกัด"พรรคภูมิใจไทย" คู่แค้นเพื่อไทยได้อีกทาง 

 

นี่คือหน้าฉากการเมืองที่เห็นๆ กันอยู่ พร้อมข้อมูลหลังฉาก ยืนยันคำประกาศ "อยู่กับเราเป็นรัฐบาลแน่" ของพลังประชารัฐ 

 

แต่อีกหนึ่งพรรคที่ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าประกาศแบบนั้น คือ "พรรคภูมิใจไทย"  

 

11 ก.พ.66 "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นำลูกพรรคลงพื้นที่นครปฐม

 

ข้อมูลที่ "เนชั่นทีวี" ได้มาจากแกนนำพรรค และ ส.ส.เกรดเอ เกรดบี จนถึงเกรดซี ที่ไหลเข้าภูมิใจไทย ก็คือ ทุกคนได้รับคำยืนยันว่า หลังเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแน่ๆ 

 

เหตุผลที่นำมาอธิบายก็คือ 

 

1.พรรคมั่นใจจะได้ ส.ส. "แตะร้อย" ค่อนข้างแน่   และจำนวน ส.ส.ระดับนี้ น่าจะเป็นพรรคอันดับ 2 ซึ่งก็จะทำให้มีความจำเป็นกับการจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 2 ขั้ว คือ ขั้ว เอาประยุทธ์ - ไม่เอาประยุทธ์  หรือขั้ว เอาทักษิณ - ไม่เอาทักษิณ (แล้วแต่จะมองมุมไหน) 

 

-ถ้า "บิ๊กตู่" หรือแม้แต่ "บิ๊กป้อม" สบช่องได้จัดตั้งรัฐบาลต้องพึ่งพา"พรรคภูมิใจไทย" 

 

-ถ้าเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาล 300 เสียง ต้องอาศัยพรรคภูมิใจไทย (เพราะหากภูมิใจไทยได้แตะร้อย เพื่อไทยน่าจะไม่แลนด์สไลด์) 

 

2.สูตรการเมืองที่แกนนำพรรคแง้มให้ฟัง คือ สูตรรัฐบาลผสม 3 พรรค ที่หลายคนเชื่อว่าจะเกิดขึ้น คือ เพื่อไทย + ภูมิใจไทย + พลังประชารัฐ 

 

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพลังประชารัฐ

 

ที่ผ่านมา "กุนซือสมองเพชร" ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา "บิ๊กป้อม" สมัยดำรงตำแหน่งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ก็เคยโพสต์ข้อความเปิดประเด็นเอาไว้ 

 

ขณะที่นักวิชาการหลายๆ คน เชื่อว่า สูตรนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดในทางการเมือง ทั้ง อ.ยุทธพร อิสรชัย จากค่าย มสธ. และ อ.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 

3.การบริหารจัดการภายในพรรคไม่มีปัญหา พรรคมีเอกภาพสูงมาก ลูกพรรคสามัคคี มีเป้าหมายเดียวกัน คือ "เป็นรัฐบาล" ส่วนจะไหลไปถึงขั้นเป็น "แกนนำจัดตั้งรัฐบาล" เองเลยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องลุ้น แต่ที่ไม่ต้องลุ้น ก็คือ "เป็นรัฐบาลแน่ๆ"

 

"เนชั่นทีวี" ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในพรรค ซึ่งเป็นการบริหารแบบมืออาชีพ มีระบบยิ่งกว่าบริษัท ที่สำคัญมีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับตั้งแต่ก่อนเข้าพรรค เป็นความชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องวิ่งเต้น และมีการันตีรับรอง คล้ายๆ "ผลตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องได้" ถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขของพรรคทุกประการ 

 

-ศึกเลือกตั้ง มีการจัด "แม่ทัพ" แยกรายภาคอย่างชัดเจน 

 

ภาคเหนือ -ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย 

 

ภาคอีสาน - ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรค

 

ภาคกลาง+กทม. - อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรค โดยมี "บี" พุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ เป็นหัวหน้าทีม กทม.ซ้อนอีกชั้น 

 

ภาคใต้ - "พิพัฒน์ รัชกิจประการ" รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา โดยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้ "สิรภพ ดวงสอดศรี" ผอ.พรรค และที่ปรึกษา รมว.การท่องเที่ยว กับ "นัจมุดดีน อูมา" อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย เป็นหัวหน้าทีมชายแดนใต้ ซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เพราะคุณพิพัฒน์ จะบุกตั้งแต่สงขลาขึ้นไป โดยเฉพาะซีกอันดามัน 

 

เมื่อแต่ละภาคมี “แม่ทัพ” ชัดเจน ลูกพรรคที่ลงสมัคร ส.ส. หรือดูแลระดับพื้นที่ ระดับเขต ระดับจังหวัด ก็จะมีหัวหน้าสายตรงของตัวเอง และประเมินผลงานตามจริง ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองนั่นเอง 

 

-กลุ่มแกนนำพรรค และระดับแม่ทัพ จะได้เป็นรัฐมนตรี 

 

-กลุ่มที่ได้เป็น ส.ส. และไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี ก็จะทำหน้าที่ในสภา ได้โควต้าประธานกรรมาธิการ, รองประธาน, กรรมาธิการสามัญ , และกรรมาธิการงบประมาณ 

 

-กลุ่มที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่คะแนนสูงเกิน 1 หมื่น ก็จะได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรี หรือตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่สำคัญ 

 

-กลุ่มที่แพ้เลือกตั้ง ไม่ได้เป็น ส.ส. และได้คะแนนน้อยแค่หลักพัน แต่สู้เต็มที่แล้ว ก็จะได้เป็นผู้ช่วย ส.ส. 

 

นี่คือระบบที่ทางพรรควางเอาไว้ และยึดหลักการ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนมีงานให้ทำ มีตำแหน่งรองรับ ขอเพียงปฏิบัติตามนโยบายพรรค และเป็นเด็กดี"

 

ทั้งหมดนี้ไม่รวมถึงเสียงลือเสียงเล่าอ้างก่อนหน้านี้ที่ "เนชั่นทีวี" เคยรายงานไปแล้ว ทั้งเรื่อง "แจกโบนัส ส.ส."  ทั้งเรื่องบริหารจัดการงบประมาณ และเรื่องอื่นๆ ทำให้ลูกพรรคแฮปปี้ถ้วนหน้า 

 

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความมั่นใจของภูมิใจไทย ซึ่งผลบวกก็เป็นไปอย่างที่เล่า ส่วนผลลบคือ หลายพรรคหมั่นไส้ และอาจโดนหักในท้ายที่สุดได้เหมือนกัน 

 

ผ่าเลือกตั้ง66 เปิดเบื้องหลัง\"ภูมิใจไทย\" มั่นใจมาก ไม่หลุดขบวน\"รัฐบาล\"

แต่การเมืองเป็นเรื่องตัวเลข ถ้าภูมิใจไทยทำได้จริงตามที่ประกาศ ก็มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลอีกสมัย ส่วนการบริหารจัดการพรรคในรูปแบบ "จัดสรรลงตัว" แบบนี้ จะเป็นผลดีต่อระบบการเมือง และพี่น้องประชาชนหรือไม่  สังคมคงต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ 

 

แน่นอนว่า บททดสอบสำคัญก่อนเลือกตั้ง ก็คือศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านลับดาบเตรียมเชือดขุนพลภูมิใจไทย ให้สาหัสไม่แพ้ "ลุงตู่" เลยทีเดียว 

 

ทั้งเรื่อง ที่ดินรถไฟ , รถไฟฟ้าสายสีส้ม ,หุ้นรัฐมนตรีในบริษัทก่อสร้างที่เป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม ซึ่งล่าสุดได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอนใน 2 ประเด็น , และที่ดิน ส.ป.ก.ที่มวกเหล็ก สระบุรี 

 

ต้องรอลุ้นกันว่า"ภูมิใจไทย"จะหักด่านไปสู่การเลือกตั้งแบบไม่บาดเจ็บได้หรือไม่...

logoline