svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

นโยบายรัฐ "แก้จนลดเหลื่อมล้ำ"  รายงานประชาชน โดย "ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป"

29 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากได้นำเสนอมุมมองจากสมาชิกวุฒิสภา ต่อการแก้ปัญหา"ความยากจน"  สัปดาห์นี้ "พลเดช ปิ่นประทีป" จะมาสังเคราะห์สารพัดโครงการในรัฐบาลในปัจจุบัน มีความพยายามในการแก้ปัญหาความยากจน

1.นิยามความยากจน 

• สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)   
“ความยากจน เป็นความขัดสนทางเศรษฐกิจ รวมถึงขาดศักยภาพในการดำรงชีวิต ขาดการศึกษา ขาดทรัพยากร ขาดที่ดินทำกิน ขาดการร่วมกลุ่มและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขาดข้อมูล ข่าวสารความรู้ในการประกอบอาชีพ ไม่สามารถเข้าถึงบริการ และความช่วยเหลือของภาครัฐได้ รวมทั้งการมีภาระพึ่งพิงสูง”

 

•    นิยามในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP - Thai People Map and Analytics Platform) 
“คนจน คือ ผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่าง ๆ ซึ่งพิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ”

 

•  สำหรับคนจนในภาคการเกษตร สังศิต พิริยะรังสรรค์ ให้นิยามความหมายและขอบเขตเพื่อการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1)เกษตรกรที่อาศัยทำกินอยู่นอกเขตชลประทาน ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนเพื่อการเกษตร ซึ่งทำให้สามารถทำการเกษตรได้ปีละหนึ่งครั้ง ส่วนเวลาที่เหลือในรอบปีอาจผันตัวเองไปเป็นแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตรหรือนอกภาคการเกษตร 2)เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินและดำรงชีพด้วยการรับจ้างตลอดทั้งปี  3) เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินหรือมีพื้นที่ดินทำกินขนาดเล็กมากจนไม่สามารถดำรงชีวิตได้ จึงบุกรุกเข้าไปทำกินในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ของทางราชการอย่างผิดกฎหมาย

2.นโยบายรัฐแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

•    มาตรการและโครงการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน ช่วยเหลือผู้ประสบปัญในด้านเศรษฐกิจ พอสรุปได้ ดังนี้  

(๑)    การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน การส่งเสริมเศรษฐกิจในอาชีพเกษตรกรรม การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในการจัดบริการพื้นฐานทางสังคมแก่คนจน และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

 

(๒) การเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน เช่น การเปิดเวทีประชาคมท้องถิ่น การขยายเครือข่ายและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน การถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน การปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเหมาะสม เป็นต้น 

(๓) การพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมและผู้ด้อยโอกาส เช่น การขยายขอบเขตการประกันสังคมและการมีสวัสดิการให้ครอบคลุมผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น  

 

(๔) สวัสดิการโดยชุมชน เช่น การเตรียมความพร้อมในการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่ประชากรแต่ละช่วงวัย โดยเน้นวัยชราเป็นสำคัญ 

 

(๕) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การจัดระบบของการเกษตร การประมง อย่างมีวิธีการเป็นระเบียบ 

 

(๖) การปรับปรุงระบบบริหารภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น 

-  การปรับกระบวนทัศน์และบทบาทหน่วยงานภาครัฐทั้งหน่วยงานส่วนกลางและระดับท้องถิ่น 

-  การจัดทำแผนงาน/โครงการที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ปรับปรุงระบบงบประมาณ 

-  การจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาความยากจน  โดยมีรูปแบบโครงการลดความยากจนในอดีต เช่น โครงการสร้างงานในชนบท โครงการพัฒนาตำบลกองทุนพัฒนาชนบท โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) โครงการพัฒนาคนจนในเมือง โครงการเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาคนจนในเมืองในภาวะวิกฤต โครงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อสำหรับคนจนในเมือง โครงการลงทุนเพื่อสังคม SIP (Social Investment Project) โครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม SIF (Social Investment Fund)  เป็นต้น   

 

•    เพื่อยุติความยากจนในทุกมิติอย่างบูรณาการ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐบาลในปัจจุบันได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาความยากจนผ่านโครงการฯ ต่าง ๆ ดังนี้  

-     โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  

-    โครงการการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี  

-    โครงการธนาคารประชาชน  

-    โครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP  

-    โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ  บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  

-    การช่วยเหลือค่าเลี้ยงดู 600 บาท/เดือน บุตรแรกเกิด - 6 ปี   

-    โครงการไทยนิยมยั่งยืน  โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวนวัตวิถีชุมชนท้องถิ่น  

-    โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤตมีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

•    อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการต่างๆ ข้างต้น ยังพบว่ามีข้อจำกัดที่จำเป็นต้องทบทวน แก้ไขเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ 

-    การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านมายังมีจุดบกพร่องที่รัฐบาล ต้องแก้ไขเพื่อให้ฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น คือ ยังคงมีคนไม่จนจริงผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้ามา และยังมีคนจนจริงไม่ได้มาลงทะเบียน จนเป็นที่มาของโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ซึ่งจะช่วยระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศได้ ทำให้สามารถออกแบบนโยบายโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ ตรงจุด และตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น 

 

- โครงการไทยนิยมยั่งยืน แม้ว่าทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล จะได้ลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน จัดทำประชาคม เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าร่วมสะท้อนประเด็นปัญหา ค้นหาความต้องการของประชาชน เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตัวให้กับพื้นที่ได้ในช่วงแรก หากแต่ระยะเวลาที่จำกัด และกระบวนการร่วมคิดร่วมทำที่ค่อนข้างไม่สมบูรณ์ จึงทำให้การทำกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้นตามโครงการแต่ไม่เกิดผลสำเร็จ และไม่ส่งผลต่อความยั่งยืน จึงเป็นบทเรียนในคราวต่อไป.

logoline