svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ดราม่าจุดพลุ ชาวบ้านตกใจ หวั่นเจดีย์โบราณล้านนาพัง (มีคลิป)

29 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวบ้านตกใจ หวั่น เจดีย์โบราณล้านนาพัง สำนักศิลปากร เชียงใหม่ เร่งตรวจสอบ หลังดราม่าหนักจุดพลุอลังการ ยิ่งใหญ่กว่าในหนัง

29 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์คลิปจากเฟซบุ๊กของ "พระสมพร ฐิตตฺโสภโณ (วิชามล) พระลูกวัดเจดีย์เหลี่ยม ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ในคลิปเป็นภาพจุดพลุอย่างอลังการคล้ายการแสดงภาพยนต์ โดยพลุถูกจุดตั้งแต่บริเวณชั้นล่างขององค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยม จนถึงยอดพระธาตุ

ซึ่งองค์พระธาตุแห่งนี้อยู่ในเขตโบราณสถานเวียงกุมกาม และมีอายุเก่าแก่ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความเหมาะสม จากการกระทำดังกล่าว เพราะองค์พระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่เคารพ กราบไหว้บูชาชาวเชียงใหม่ และเกรงว่าจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อองค์พระธาตุเจดีย์

ชาวบ้านตกใจ หวั่นเจดีย์โบราณเวียงกุมกามพัง

พระครูสังฆพิชัย (ดร.จำนง วรปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์เหลี่ยม เปิดเผยว่า คลิปดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 9 พ.ย. 65 ซึ่งเป็นวันจัดงานประเพณียี่เป็ง ทางวัดจึงได้จัดถวายพุทธบูชาด้วยการจุดถางประทีป จำนวน 9,999 ดวง เพื่อบูชาองค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยม ส่วนเรื่องที่มีการจุดพลุนั้น เป็นความคิดของคณะกรรมการวัด และคณะผู้ศรัทธาที่ไปจ้างช่างทำพลุมาจัดทำกันเอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กระทั่งมีคลิปปรากฏออกไป

หากดูจากคลิปจริงๆ บริเวณยอดที่เห็นพลุแตกออกเป็นวงกว้าง ไม่ได้จุดที่ตัวองค์พระธาตุ จุดด้านนอก เพียงแต่มุมกล้องของการถ่ายออกมาได้ประจวบเหมาะพอดี ตัวองค์พระธาตุไม่ได้เกิดความเสียหาย

ด้าน นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เดินทางมาตรวจสอบพบว่า เป็นพลุ หรือภาคเหนือเรียกว่า "บอกไฟดอก" เป็นที่ถูกนำมาห้อยโยงกัน เมื่อมีการจุดก็จะไปตามสายชนวนและจุดตามแต่ละชั้นที่วางไว้ แล้วการมองจากคลิปที่ปรากฏ ก็พบว่าใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ก็ดับหมดแล้ว ส่วนพลุที่มีขนาดใหญ่ด้านบน ก็พบว่าเป็นการจุดที่ด้านนอกองค์เจดีย์ เพียงแต่มุมกล้องที่ถ่ายทำให้เหมือนภาพซ้อนว่า จุดจากองค์เจดีย์

ชาวบ้านตกใจ หวั่นเจดีย์โบราณเวียงกุมกามพัง

ผลจากการตรวจไม่พบร่องรอยของความเสียหายของตัวองค์พระธาตุเจดีย์ และพลุที่ทำการจุดก็ไม่ได้ทำการติดตั้งแบบถาวร แต่เป็นการนำไปห้อยไว้ตามจุดต่างๆ ของตัวองค์พระธาตุเจดีย์ และเศษชิ้นส่วนที่พบเห็นเหมือนกว่าแตกจากองค์เจดีย์ออกมา ได้ตรวจสอบแล้ว เป็นเศษชิ้นส่วนเก่า ที่เคยมีการหลุดลอกออกมาก่อนหน้านี้ เพราะตัวองค์พระธาตุได้เคยมีการบูรณะมาก่อน คงยังมีเศษตกหล่นอยู่บริเวณโดยรอบอยู่บ้าง

นายเทอดศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะมีการจัดให้องค์ความรู้กับพระสังฆาธิการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการประกอบกิจกรรมภายในวัด โดยเฉพาะกับองค์พระธาตุเจดีย์ และโบราณสถานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งจะได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซม เพราะจากที่ผ่านมาพบว่า หลายวัดได้มีการบูรณะซ่อมแซม ด้วยกำลังทรัพย์ที่ได้มาจากคณะผู้ศรัทธา แต่เมื่อบูรณะไปแล้วกลับพบว่า ช่างไม่ได้มีความรู้ที่ชัดเจน ทำให้โบราณสถานหรือองค์พระเจดีย์บางแห่ง ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะได้เร่งจัดให้ความรู้กับพระสังฆาธิการในเร็วๆ นี้

สำหรับวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ เป็นวัดที่สร้างก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1831 โดยพญามังราย โปรดให้นำดินที่ขุดได้จากหนองต่าง ใกล้กับคุ้มของพระองค์ในเวียงกุมกามมาทำอิฐเพื่อก่อกู่คำ

สราวุธ แสนวิชา รายงานจากจ.เชียงใหม่

จุดพลุในเจดีย์

ชาวบ้านตกใจ หวั่นเจดีย์โบราณเวียงกุมกามพัง

นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เดินทางมาตรวจสอบ

อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งบนองค์พระธาตุเจดีย์

ประวัติวัดกู่คำหลวง

logoline