svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

"อนุทิน" ยัน เหตุกราดยิงทำทุกอย่างเต็มที่ ระบุ ผู้บาดเจ็บทุกคนปลอดภัยแล้ว

10 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อนุทิน" ยืนยัน ตั้งแต่วันเกิดเหตุกราดยิงไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามทำทุกอย่างเต็มที่ ตอนนี้รักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 7 รายปลอดภัยทุกคน แจงปมดราม่าไม่ได้ส่งชันสูตรช้าเหตุต้องพร้อมทุกด้าน เร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจ

10 ตุลาคม 2565 ที่กรทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจ จากเหตุการณ์รุนแรงในจ.หนองบัวลำภู

 

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น ขณะที่ตนปฏิบัติราชการกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ สปป.ลาว ทางผู้ตรวจราชการเขตที่ 8 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่หนองบัวลำภู และอุดรธานี ร่วมอยู่ในคณะการทำงานด้วย  เนื่องจากอยู่ต่างประเทศยังไม่ทราบรายละเอียดสถานการณ์ ที่ได้ทำคือ รีบโทรศัพท์ขอให้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ แพทย์หญิงอัมพร เบญพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำร้ายประชาชนอย่างอุกอาจและรุนแรง  เบื้องต้นหน่วยที่สำคัญที่สุดที่ต้องไปอยู่ในสถานการณ์คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลเรื่องโรงพยาบาล และกรมสุขภาพจิตได้ขอรีบเดินทางไป

 

อนุทิน นำทีมตั้งโต๊ะแถลงเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ยันสาธารณสุขทำงานเต็มที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ

 

การช่วยเหลือเร่งด่วนในวันที่เกิดเหตุตอนนั้น คือ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กๆที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีแพทย์ผ่าตัดสมองประจำการอยู่ 2 คน ซึ่งแพทย์ได้ทำงานเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตน้องๆทั้ง 2 คน ที่ต้องได้รับการผ่าสมองโดยด่วน และก็ผู้ใหญ่อีก 2 คน  และล่าสุดตอนนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคนมีอาการปลอดภัยและพ้นขีดอันตรายแล้ว ที่ต้องทำหลังจากนี้คือ การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้กลับมาปกติมากที่สุด ส่วนเรื่องของสถานการณ์ ผู้เสียชีวิตทั้งหมด 37 ศพ ซึ่งมีทั้งเด็กเล็ก และผู้ใหญ่ ทุกคนได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม

แจงปมดราม่าไม่ได้ส่งชันสูตรช้าเหตุต้องพร้อมทุกด้าน

 

สำหรับกรณีที่ส่งไปร่างพิสูจน์ทางนิติเวชช้าจนเป็นดราม่า นายอนุทิน ระบุว่า การชันสูตรพลิกศพ จะต้องมีความพร้อมทั้งต้นทางและปลายทาง โดยการนำร่างไปชันสูตรล่าช้ามีสาเหตุหลักมาจาก ที่โรงพยาบาลอุดรธานี มีแพทย์ชันสูตรเพียง 2 ราย  จึงได้มีการขอให้แพทย์นิติเวชในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาร่วมในการชันสูตร ซึ่งการเคลื่อนย้ายได้รับความร่วมมือจากรถฉุกเฉินในพื้นที่ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการลำเลียงร่างของผู้เสียชีวิตไปตรวจชันสูตร ที่จังหวัดอุดรธานี

 

ส่วนการเร่งเยียวยาจิตใจ ตนได้มีคำสั่งให้ยกกรมสุขภาพจิต ไปอยู่ในที่เกิดเหตุ เพราะว่าขณะนั้น เมื่อผู้บาดเจ็บได้อยู่โรงพยาบาลเข้ารับการรักษาหมดแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ การเร่งเข้าไปเยียวยาสภาพจิตใจของญาติ  มีอยู่ 2 ประเภท คือ 1. ญาติที่อยู่ในเหตุการณ์รอดจากการถูกทำร้าย บาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอาการหวาดผวา วิตก มีอาการการถูกทำร้ายด้านจิตใจอย่างแน่นอน   2.ญาติผู้ป่วยที่สูญเสียคนในครอบครัว กลุ่มนี้ต้องอยู่ในสภาพที่ต้องการเยียวยาสภาพจิตใจอย่างเต็มที่

 

นายอนุทิน ยืนยัน ตั้งแต่วันเกิดเหตุกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามทำทุกอย่างเต็มที่ ตอนนี้รักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 7 รายปลอดภัยทุกคน

 

อนุทิน นำทีมตั้งโต๊ะแถลงเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ยันสาธารณสุขทำงานเต็มที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ

 

ตอนนี้เป็นห่วง เด็ก 3 คนที่มีอาการ รุนแรงเนื่องจากถูกทำร้ายที่ศีรษะ เบื้องต้นได้รับรายงานจากแพทย์ จากจ.อุดรธานีว่า เด็กยังมีอายุน้อยอยู่ โอกาสที่จะฟื้นฟูสภาพให้กลับมาเหมือนเดิมมากที่สุดยังมีโอกาสมาก ส่วนผู้ใหญ่ที่ได้รับบาดเจ็บ ก็จะต้องรักษาให้กลับมาปกติมากที่สุด อย่างน้อยเป้าหมายแรกได้รักษาชีวิตได้แล้ว ต่อไปคือการการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้เต็มที่

ปลัดสธ.ยันการทำงานต้องให้เกียรติผู้เสียชีวิต

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลผู้บาดเจ็บผู้ได้รับผลกระทบ และผู้เสียชีวิต  ซึ่งผู้เสียชีวิตให้ดูแลตามหลักกฎหมาย และตามหลักวิชาชีพด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ครอบครัวได้นำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนา และให้ความเคารพต่อผู้วายชนม์  ส่วนร่างของผู้เสียชีวิตที่นำไปชันสูตร ได้มีการระดมแพทย์ทางนิติเวชจากทั่วประเทศ ช่วยกันในการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตทั้ง 37 ราย  

 

สำหรับผู้บาดเจ็บ 10 ราย แบ่งเป็น 4 ราย อาการเล็กน้อย  3 รายกลับบ้านได้แล้ว  อีก 5  รายอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดหนองบัวลำภู  รายแรก เป็นเด็กผู้ชายอายุ 3 ปี ได้ทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกและเอาก้อนเลือดออก ขณะนี้เด็กรายดังกล่าวหายใจได้เอง ซึ่งแพทย์ยังคงติดตามอาการในห้อง ICU อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

รายที่ 2 เป็นเด็กอายุ 4 ปี ได้รับผลกระทบทางสมองค่อนข้างมาก ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดเปิดสมองและเอาก้อนเลือดออกรายนี้เกิดภาวะแทรกซ้อน สมองบวม ทำให้แพทย์ตัดสินใจผ่าตัดอีกรอบเมื่อวานนี้ ซึ่งสามารถลดอาการสมองบวมได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามอาการ 

 

รายที่ 3 เป็นหญิงอายุ 56 ปี ได้การบาดเจ็บทางศีรษะได้ทำการผ่าตัดเปิดสมองและเอาก้อนเลือดออก ขณนี้อาการดีขึ้นและเริ่มฝึกหายใจได้เอง

 

รายที่ 4 เป็นผู้หญิงอายุ 42 ปีรายดังกล่าวได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้อง โดยมีลำไส้เล็กทะลุ และแพทย์ได้ทำการผ่าตัดซ่อมแซมและขาหัก ขณะนี้หายใจได้เอง

 

รายที่ 5 เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี เป็นบุตรของรายที่ 4 ขณะนี้ได้ให้ย้ายมาอยู่ด้วยกัน สภาพจิตใจดีขึ้น  

 

ส่วนรายที่ 6 และรายที่ 7 อยู่ที่โรงพยาบาลอุดรธานี

 

โดยรายที่ 6 เป็นเด็ก 1 ราย ผ่าตัดสมองเอาเลือดออกทางศีรษะ ขณะนี้พูดคุยรู้เรื่อง มีกำลังใจที่ดี

 

รายที่ 7 สุดท้ายเป็น ผู้ชายอายุ 21 ปีถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและต้นคอ ขณะนี้ได้ผ่าตัดเอากระสุนออกแล้วยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกายภาพบำบัดฟื้นฟู แพทย์ยังคงต้องดูแลในห้องไอซียู

 

ดูแลสภาพจิตใจใน 3 ระยะ พร้อมส่งต่อหากจำเป็น

 

ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า  กรมสุขภาพจิต ได้ขอความร่วมมือในเรื่องของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการให้การปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น โดยมีการดำเนินการใน 3 ระยะ คือ ระยะแรกดำเนินการ ทันที ในช่วง 3 วันแรก ดูแลสภาพจิตใจ ของครอบครัวผู้เสียชีวิต 37 ครอบครัว และจะมีการดูแลในระยะที่ 2 คือในช่วง 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะมีความโดดเดี่ยว ซึ่งจะมีการจัดสวนเยียวยาในชุมชนเพื่อให้การดูแล ได้มากที่สุดรวมถึง การจัดการทำงานเชิงรุก ในการดูแลถึงครอบครัว หลังจากนั้นจะมีการดูแลต่อเนื่อง 3 เดือน หรือนานกว่านั้น เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถปรับตัว ได้ ซึ่งหากรายใด จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง จะมีการจัดกลไกในการส่งต่อ

 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

  

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน กลุ่มแรกพบว่ามีประมาณ 60 คน ที่เป็นญาติสายตรง  กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นญาติสายตรง แต่มีความเชื่อมโยงจากการติดตามสถานการณ์ ประมาณ 6,500 คน และเด็กที่อยู่โรงเรียนใกล้สถานที่เกิดเหตุได้รับผลกระทบ 129 คน  สุดท้ายคือประชาชนในจังหวัด และประชาชนในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ ข้อมูลข่าว ซึ่งจะมีการ ดูแลให้ทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้

 

ส่วนประเด็นที่มีการกดดันให้แม่ของผู้ก่อเหตุออกจากพื้นที่ พญ.อัมพร ระบุว่า เรื่องนี้ได้มีการส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แรกเริ่ม และเฝ้าระวังปัญหาทางจิตใจตั้งแต่แรก รวมถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และการเยียวยาในจิตใจ พร้อมระบุว่าการแยกออกจากพื้นที่ซักระยะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะช่วยในการลดผลกระทบจากความรุนแรง 
       

สำหรับการดูแลที่ถูกต้องคือการประคับประคองจิตใจ การใส่ใจอารมณ์  ไม่ขุดคุ้ยขยี้ถาม และตำหนิกล่าวโทษ ซึ่งจะช่วยทำให้บริบทของชีวิตให้เดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงการร่วมกันปฎิบัติตามประเพณี จะช่วยลดความโศกเศร้าลงได้ ส่วนผู้ที่ได้รับความสูญเสีย และทำร้ายตัวเองขณะนี้ดีขึ้น ได้พบจิตแพทย์แล้ว

logoline